ก.ล.ต.ปรับเกณฑ์ “ควบรวมกิจการ” ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์

สำนักงาน-ก.ล.ต.

สำนักงาน ก.ล.ต. ปรับปรุงเกณฑ์ “ควบรวมกิจการ” ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์-สัญญาซื้อขายล่วงหน้า หวังเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน-ต้นทุนการดำเนินการลดลง ประสงค์ยื่นคำขอได้ตั้งแต่ 17 มี.ค.65

วันที่ 18 มีนาคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปรับเกณฑ์เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ทุกประเภทที่ประสงค์จะควบรวมกิจการในรูปแบบที่จัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ (amalgamation) สามารถยื่นคำขอรับใบอนุญาต หรือคำขอจดทะเบียนไว้ล่วงหน้า เพื่อให้บริษัทที่เกิดจากการควบรวมสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทมีผลสมบูรณ์ โดยสามารถยื่นคำขอได้ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป

“ในสภาวะที่สภาพเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและภาคธุรกิจมีการแข่งขันสูง ผู้ประกอบธุรกิจต่างต้องปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน การควบรวมบริษัทเข้าด้วยกันเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความมั่นคงและแข็งแกร่งมากขึ้น รวมทั้งมีต้นทุนการดำเนินการที่ลดลง ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับประโยชน์จากการควบรวมกิจการด้วย”

ก.ล.ต. จึงได้เสนอปรับปรุงกฎกระทรวงเกี่ยวกับการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งเกิดจากการควบเข้ากัน โดยรัฐมนตรีได้ลงนามและประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 รวมทั้งได้ปรับปรุงประกาศที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงดังกล่าว

ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมการควบรวมของธุรกิจทุกประเภท จากเดิมที่รองรับเฉพาะธุรกิจบางประเภท ทั้งนี้ผู้ประกอบธุรกิจที่ประสงค์จะควบบริษัทเข้ากันในรูปแบบการจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ สามารถยื่นคำขอรับใบอนุญาต หรือคำขอจดทะเบียนไว้ล่วงหน้า เพื่อให้บริษัทที่เกิดจากการควบรวมสามารถประกอบธุรกิจ และรับโอนลูกค้าจากบริษัทเดิมได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนสามารถใช้บริการและทำธุรกรรมได้อย่างต่อเนื่องด้วย ประกาศดังกล่าวข้างต้นจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป

อนึ่ง การควบรวมกิจการในรูปแบบที่จัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ (amalgamation) หมายถึง การรวมกิจการโดยที่บริษัทตั้งแต่ 2 บริษัทขึ้นไปรวมเข้าด้วยกันและเกิดเป็นบริษัทใหม่ (A+B = C) โดยเมื่อควบเข้ากันแล้วจะมีผลทำให้บริษัทเดิมสิ้นสภาพไปพร้อมกัน และบริษัทใหม่จะได้ไปทั้งสิทธิและความรับผิดชอบที่บริษัทเดิมมีอยู่