ส่องเทรนด์ควบรวมธุรกิจ ท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจบีบกิจการทั่วโลก

ส่องเทรนด์ควบรวมธุรกิจ ท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจบีบกิจการทั่วโลก
ภาพจาก pixabay

ส่องแนวโน้มธุรกิจ ท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจบีบควบรวมกิจการทั่วโลก จับมือสร้างเทคโนโลยี-นวัตกรรม ปรับตัวปูทาง Transform สู่ “ธุรกิจใหม่”

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยในคลังความรู้ Worldwide Wealth by SCBAM ว่าการประกาศการควบรวมกิจการระหว่าง 2 ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือรายใหญ่

อย่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ “ทรู” และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ “ดีแทค” ถือเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางธุรกิจที่น่าจับตามองอย่างหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากตลาดโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยมีมูลค่าถึง 2.75 แสนล้านบาท มีผู้ให้บริการ 4 ราย โดยนับรวม บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ “NT” ซึ่งมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด

กรณีศึกษาการควบรวมกิจการในต่างประเทศ ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรกหรือประเทศเดียวที่มีการควบรวมกิจการภายในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมาการควบรวมกิจการภายในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต่างก็เป็นทิศทางที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ

ทั้งในทวีปอเมริกาที่มีการควบรวมกิจการระหว่าง Sprint กับ T-Mobile เมื่อปี 2563 ส่งผลให้เหลือผู้ให้บริการเพียง 3 รายใหญ่ ส่วนในทวีปเอเชียเองก็มีการควบรวมกิจการในมาเลเซียระหว่าง Celcom Axiata กับ Digi.Com เมื่อปี 2564 และระหว่าง Vodafone กับ Idea Cellular ในอินเดีย เมื่อปี 2560 ส่งผลให้เหลือผู้ให้บริการเพียง 4 รายใหญ่เช่นเดียวกัน

“ในฐานะนักลงทุนในตลาดทุนและผู้บริโภคคนไทย มองว่าดีลการควบรวมครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยให้ปรับตัวดีขึ้น และมี New S-Curve มาต่อยอดการเติบโตรอบใหม่ในอนาคตได้” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าว

ทั้งนี้ การควบรวมกิจการ หรือ Mergers and Acquisitions (M&A) เป็นหนึ่งในเทรนด์และบันไดขั้นแรก จัดเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกจนเป็นกระแสตลอดปี 2564 ซึ่งมีตั้งแต่การควบรวมกิจการแบบยุบรวมและมีการตั้งบริษัทใหม่เกิดขึ้น การควบรวมแบบการเข้าซื้อกิจการของอีกบริษัทเพื่อได้สิทธิเข้าไปประชุมผู้ถือหุ้นและมีสิทธิในการออกเสียง การควบรวมแบบซื้อสินทรัพย์หน่วยธุรกิจบางส่วนหรือทั้งหมดของกิจการ เป็นต้น

เหตุผลที่บริษัททั่วโลกมีการควบรวมกิจการมากขึ้น เป็นเพราะต้องการให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้อย่างต่อเนื่องในยุคที่ธุรกิจทั้งโลกถูกดิสรัปชั่นจากเทคโนโลยี ดังนั้นในหลายธุรกิจที่ทำการควบรวมกิจการ หรือ M&A จึงมุ่งเน้นเรื่องการต่อยอดด้านพัฒนานวัตกรรม เพื่อช่วยให้ธุรกิจเข้มแข็งขึ้นจากความสามารถในการเพิ่มมูลค่าของธุรกิจ

ทั้งยังทำให้การบริหารจัดการคุ้มทุนและใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในกรณีที่การควบรวมอยู่ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเดียวกันด้วยแล้วจะช่วยเกิดการประหยัดด้านขนาด หรือ Economy of Scale จากการสามารถเพิ่มกำลังการผลิต เพิ่มส่วนแบ่งตลาด ลดคู่แข่ง นอกจากนี้ยังดึงดูดนักลงทุนจากตลาดต่างประเทศ และในส่วนของผู้บริโภคจะได้สินค้าและบริการที่มาจากต้นทุนที่ถูกลงตาม

นอกจากนี้งานวิจัยในต่างประเทศได้ระบุชัดว่ายุคนี้หากบริษัทใดยังลงทุนด้านนวัตกรรมไม่มากเพียงพอ ก็น่าห่วงว่าอนาคตอาจจะต้องปิดตัวลง ดังนั้นวันนี้บริษัทไหนที่ไม่รีบทุ่มเทลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ไม่ขยับปรับเปลี่ยน ก็ย่อมน่าห่วงต่อชะตากรรม

ขณะที่บริษัทและธุรกิจที่ให้ความสำคัญต่อการลงทุนด้านนวัตกรรมจะมีอายุเฉลี่ยได้นานมากขึ้นกว่าบริษัทที่ยังคงทำธุรกิจรูปแบบเก่า ๆ อยู่ในธุรกิจดั้งเดิมที่ตัวเองเคยประสบความสำเร็จ โดยมีการประเมินกันว่าอายุขัยเฉลี่ยของบริษัทเหล่านี้จะเหลือเพียง 20 ปีเท่านั้น

สำหรับประเทศไทยในปี 2564 ที่ผ่านมามีบิ๊กดีลด้านการควบรวมกิจการสำคัญหลายกลุ่มธุรกิจ ที่เห็นแนวโน้มว่าเป็นการควบรวมกิจการที่มุ่งเน้นการพัฒนาสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา โดยกลุ่มธุรกิจหลายแห่งได้ประกาศจับมือตั้งบริษัทร่วมทุน ปูทางสู่โมเดลธุรกิจใหม่ หนึ่งในนั้นคือการฉายภาพให้เห็นหนทางที่จะมุ่งหน้าสู่ธุรกิจด้านเทคโนโลยี (Technology Company) เพื่อสร้างโอกาสเติบโต ซึ่งจะช่วยเสริมขีดความสามารถให้ประเทศไทย และมีผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไปในอนาคต

ประกอบด้วย 1.TOT รวม CAT จัดตั้งบริษัทใหม่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เพื่อให้บริการโดยเฉพาะเรื่อง 5G และดาวเทียม ต่อยอดสู่การนำดิจิทัลมาให้บริการภาคการสาธารณสุข การเกษตร และคมนาคม เพื่อปรับตัวจากการที่ธุรกิจโทรคมนาคมแบบดั้งเดิมถูกดิสรัปต์

2.TRUE รวม DTAC โดยคาดว่าปีหน้าจะมีการจัดตั้งบริษัทใหม่เกิดขึ้น บริษัทใหม่นี้จะปรับโครงสร้างสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี ที่สามารถอยู่รอดและแข่งขันในโลกธุรกิจได้ต่อไป และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ที่จะก้าวเป็นฮับของเทคโนโลยีระดับภูมิภาค

โดยโทรคมนาคมจะยังเป็นธุรกิจหนึ่งของโครงสร้าง แต่จะพัฒนาธุรกิจเพิ่มในด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ แห่งอนาคต ทั้งปัญญาประดิษฐ์ ระบบคลาวด์เทคโนโลยีไอโอที อุปกรณ์อัจฉริยะ เมืองอัจฉริยะ ธุรกิจด้านเทคโนโลยีอวกาศ และสนับสนุนการลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัพด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี เป็นต้น

3.ธนาคารธนชาต รวม ธนาคารทหารไทย เป็น TMBThanachart Bank Public Company Limited โดยใช้ชื่อย่อว่า ttb เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพของธนาคารใหม่ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น แข่งขันได้สูงขึ้นกับธนาคารอื่น ๆ ในระดับภูมิภาค การควบรวมสองธนาคารให้มีกิจการขนาดใหญ่ขึ้นส่วนหนึ่งเพื่อรองรับสินเชื่อบริษัทขนาดใหญ่ได้ ส่งผลดีต่อการช่วยส่งเสริมการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในประเทศ โดยหลังการควบรวมทำให้มีสินทรัพย์รวมกันเกือบ 2 ล้านล้านบาท และจะมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นแตะระดับ 10 ล้านคน

ขณะเดียวกันก็ยังมีการควบรวมแบบการเข้าซื้อกิจการและได้รับหุ้นเป็นส่วนแบ่งบางส่วนหรือทั้งหมด ทำให้บริษัทนั้น ๆสามารถเข้าไปร่วมการประชุมผู้ถือหุ้นและมีสิทธิในการออกเสียง หรือมีสิทธิควบคุมการตัดสินใจของกิจการที่ถูกซื้อ เช่น การเข้าซื้อหุ้น INTUCH ของ GULF ถือเป็นการลงทุนข้ามธุรกิจ โดย GULF เข้าซื้อหุ้น INTUCH 42.25% คิดเป็นมูลค่าลงทุน 4.86 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักคือการรับผลตอบแทนจากการลงทุน

นอกจากนี้ยังมีบิ๊กดีล SCBX ซื้อหุ้นบริษัท บิทคับออนไลน์ จำกัด ในสัดส่วน 51% คิดเป็นมูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงการที่ภาคการเงินดั้งเดิมขยับเข้าสู่ตลาดสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) อย่างเต็มตัว

บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ซื้อบริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF ซึ่งดำเนินธุรกิจพัฒนาและบริหารศูนย์การค้าเมกาบางนา และศูนย์การค้าในเครืออีก 19 โครงการ โดยใช้เงินประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ซื้อหุ้น SF ทั้งหมด 96.24% และจะดำเนินการนำ SF ออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

รวมทั้งกลุ่มเซ็นทรัล ยังเข้าซื้อกิจการของกลุ่มเซลฟริดเจส (Selfridges) ทำให้ได้สิทธิครอบครองห้างสรรพสินค้าหรูถึง 18 แห่ง ที่กระจายอยู่ในประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และไอร์แลนด์ รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ 7 แห่ง และดิจิทัลแพลตฟอร์มทั้งหมด

ขณะที่เทรนด์การควบรวมกิจการที่เกิดขึ้นทั่วโลก มีดีลควบรวมกิจการมากมายจนเป็นกระแสของการที่ธุรกิจใช้กลยุทธ์นี้เข้ามาเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจเติบโตขึ้น โดย S&P Global Market Intelligence มองว่าธุรกิจต่าง ๆ จะมีการควบรวมกิจการเพิ่มสูงขึ้น และมีแนวโน้มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับตัวให้ทันกระแส Tech-Disruption รักษาให้ธุรกิจเติบโตและทันต่อการแข่งขันในตลาดโลก

โดยเฉพาะจากกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจการเงิน อุตสาหกรรมอาหารและเกษตร ธุรกิจเทคโนโลยีและการสื่อสาร และธุรกิจพลังงาน อาทิ บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของเยอรมนีได้ เข้าซื้อบริษัท Deutsche Wohnen ในราคา 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ธุรกิจด้านแพลตฟอร์มการเงินจากออสเตรเลีย อย่าง Square แพลตฟอร์มรับจ่ายเงิน เข้าซื้อกิจการ Afterpay แพลตฟอร์มทางการเงินจากออสเตรเลีย มูลค่าดีล 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ล่าสุดดีลใหญ่ในอุตสาหกรรมเกม คือการเข้าซื้อกิจการ Activision Blizzard ของบริษัท Microsoft ซึ่งยังอยู่ระหว่างกระบวนการ แต่ก็จะเห็นว่าในแง่เศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลสหรัฐเองสนับสนุนให้เอกชนสหรัฐเร่งสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อให้บริษัทเพิ่มขีดความสามารถที่จะแข่งขันด้านเทคโนโลยีกับคู่แข่งยักษ์ใหญ่อย่างจีน

การควบรวมธุรกิจและเข้าซื้อกิจการที่เกิดขึ้นทั่วโลกเหล่านี้จะมีมากขึ้นในหลายกลุ่มธุรกิจทั้งการควบรวมกิจการที่ทำธุรกิจเหมือนกัน อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน และการควบรวมแบบข้ามกลุ่มธุรกิจเพื่อให้ธุรกิจต่าง ๆ เติบโตไปต่อได้ท่ามกลางยุคที่ธุรกิจทั่วโลกกำลังเผชิญหน้าอยู่บนความท้าทายครั้งใหญ่หลังวิกฤตโควิด-19