
ประชาชน 1 ใน 3 ของประเทศ ได้รับการเยียวยาผลกระทบจากสงคราม ใน 10 มาตรการล่าสุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือประชาชน เร่งด่วนจากสถานการณ์วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน
- สินมั่นคงฯ : คปภ.เกาะติดกระบวนการฟื้นฟูกิจการ-ส่งสัญญาณเตือน ปชช.
- ครม.เคาะแล้ว ซื้อสินค้าลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 หมื่นบาท เริ่ม 1 ม.ค. 67
- ครึ่งทาง “MOTOR EXPO” BYD มาแรง แซง โตโยต้า ขึ้นยอดขายสูงสุด
เพิ่มเติมจากที่รัฐได้ออกมาตรการไปแล้ว และยังใช้อยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด-19 ดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงกรกฎาคม ระยะเวลา 3 เดือน รวม 10 มาตรการ
เช็ก 10 มาตรการรัฐเยียวยา
- การเพิ่มเงินช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน โดยเพิ่มเงินจากเดิม 45 บาท เป็น 100 บาท/เดือน
- ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนประมาณ 5,500 คน
- ช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก จำนวน 157,000 คน โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 250 บาทต่อเดือน และขอให้กรมการขนส่งทางบกกำกับราคาการให้บริการเพื่อให้พี่น้องประชาชนที่ต้องใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่าเดิม
- คงราคาขายปลีกผู้ที่ใช้ก๊าซ NGV ไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม
- ผู้ขับขี่แท็กซี่มิเตอร์ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน สามารถซื้อก๊าซได้ในราคา 13.62 บาท/กิโลกรัม
- ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยลดค่า FT ลง 22 สตางค์ต่อหน่วยในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม จำนวน 20 ล้านหลังคาเรือน
- ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2565 หลังจากนั้น รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือส่วนที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นครึ่งนึง
- กำกับดูแลการปรับราคาก๊าซหุงต้มในช่วงตั้งแต่เดือนเมษายน – มิถุนายน โดยใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปช่วยลดผลกระทบจากการปรับราคาให้ไม่ขึ้นสูงเกินไป
- ลดอัตราเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จาก 5% เหลือ 1% เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างสามารถมีกำลังในการใช้จ่ายและผู้ประกอบการสามารถมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจในช่วงถัดไป
- ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 จาก 9% เหลือ 1.9% และลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ลงเหลือ 42 – 180 บาทต่อเดือน
27.9 ล้านคน มีใครบ้าง
สำหรับมาตรการเยียวยาประชาชนดังกล่าว จะมีผู้ได้รับสิทธิทั้งหมด 27,928,012 ราย หรือเกือบ 28 ล้านราย คิดเป็น 1 ใน 3 จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ 70 ล้านคน ประกอบด้วย
- ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3,600,000 คน
- ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 5,500 คน
- จักรยานยนต์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมขนส่งทางบก จำนวน 157,000 คน
- ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จำนวน 10,569,831 คน
- ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวน 11,190,109 คน
- ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จำนวน 1,925,572 คน
- ผู้ประกอบการนายจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม 480,000 คน
ทั้งนี้ ยังจะมีประชาชนอีกจำนวน 20 ล้านหลังคาเรือน ที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย ได้รับส่วนลดค่า FT
เป็นเวลา 4 เดือน
ระยะเวลาเยียวยา
- เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2565
- รวม 3 เดือน
ใช้งบประมาณ 7 หมื่นล้าน
การเยียวยาครั้งนี้ กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ใช้เงินมาอุดหนุน ทั้งสิ้น 7 หมื่นล้านบาท จาก 3 รายการ
- งบกลางปี 2565 รายการฉุกเฉินเร่งด่วน
- วงเงินจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19
- เงินกู้จากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 4 หมื่นล้านบาท เป็นไม่กำหนดเพดานการกู้เงินสำหรับกองทุนน้ำมันฯ โดยความสามารถของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถที่จะกู้เงินได้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท
เปิดทำเนียบแถลงใหญ่ พรุ่งนี้
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบความลำบากของประชาชนที่เกิดขึ้น จากสถานการณ์ความผันผวนของราคาพลังงาน จากความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซียที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้าและบริการต่าง ๆ ทำให้ค่าครองชีพมีการปรับตัวสูงขึ้น
จึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเร่งด่วนบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมัน เพิ่มเติมจากนโยบายต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้ออกไปแล้วและยังใช้อยู่ โดยมีประชาชนที่ได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 40 ล้านคน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการชุดนี้จะสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบจากครัวเรือนได้จริง โดยเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะยังสามารถขยายตัวอย่างน้อยได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3 และพรุ่งนี้ ( 24 มี.ค.) เวลา 13.30 น. นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หัวหน้าหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ร่วมแถลงรายละเอียดมาตรการที่ทำเนียบรัฐบาล
“ท่านนายกฯ ย้ำให้ทุกกระทรวงและทุกหน่วยงานทำงานอย่างหนัก ในการช่วยเหลือแบ่งเบา ภาระค่าครองชีพ แก้ปัญหาหนี้สินภาคประชาชนให้ได้มากที่สุด ด้วยมาตรการและแผนฟื้นฟูประเทศที่ได้วางไว้ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรียืนยันมาตลอดว่า ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ และยังจะเร่งเดินหน้า ‘พลิกโฉมประเทศไทย’ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ใหม่ ๆ ให้คนไทยต่อไป” นายธนกร กล่าว