ธปท.กั้นรั้วแบงก์ลุย สินทรัพย์ดิจิทัล สกัดส่งผ่านความเสี่ยงถึง “ผู้ฝากเงิน”

ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส
ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส
รายงาน

จากกระแสการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และเกิดสินทรัพย์การลงทุนประเภทใหม่ ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset : DA) ที่อยู่ในความสนใจในวงกว้าง ทั้งในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ลงทุน รวมทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์และธุรกิจการเงินที่สนใจโดดเข้ามาลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น

แต่หากไม่มีการดูแลหรือกำกับความเสี่ยงที่ดี อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินได้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ได้แนวทางเกณฑ์กำกับการลงทุนเพื่อคุมความเสี่ยงที่อาจกระทบเป็นวงกว้าง

ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวในงานสัมมนา “สินทรัพย์ดิจิทัล Game Changer เดิมพันเปลี่ยนอนาคต” ของประชาชาติธุรกิจ ภายใต้หัวข้อ “ภูมิทัศน์การเงินไทยยุคอนาคต” ว่า สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ภาคการเงินไทย และเป็นสินทรัพย์ที่อยู่ในความสนใจของประชาชน สถาบันการเงิน ผู้ประกอบการ และภาครัฐอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

สะท้อนจากข้อมูลพบว่า คนไทยมีการเปิดบัญชีเพื่อซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2563-2564 มีการเปิดบัญชีจาก 7 แสนบัญชี เพิ่มเป็น 2.27 ล้านบัญชี เติบโตมากกว่า 200% และยังพบว่าคนไทยมีสัดส่วนถือครองคริปโตเคอร์เรนซีต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสูงถึง 20.1% สูงเป็นอันดับ 1 ของโลก เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 10.2% เท่านั้น

แบงก์แห่ร่วมสินทรัพย์ดิจิทัล

นอกจากนี้ พบว่ามีผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผู้ประกอบการได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจ DA exchange 8 ราย และ ICO portal 7 ราย รวมถึงมีธนาคารพาณิชย์ และโฮลดิ้งธุรกิจการเงิน ให้ความสนใจเข้ามาทำธุรกิจเกี่ยวกับ DA เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าดิจิทัลแอสเสตมีความเสี่ยง โดยเฉพาะ DA บางประเภทที่นำไปใช้ในการเก็งกำไร มากกว่าประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันพบว่ามีคริปโตเคอร์เรนซีมากกว่า 1,500 ชนิด และบางชนิดมาแล้วก็หายไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่เหรียญที่ได้รับความนิยมในตลาดก็มีอายุไม่ถึง 10 ปี ซึ่งยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเหรียญเหล่านี้จะอยู่ยงคงกระพันในระยะยาวหรือไม่

ขณะเดียวกัน คริปโตยังมีราคาที่ผันผวนสูง เช่น ราคาของ Bitcoin ลดลงถึง 50% ภายในระยะเวลา 8 เดือน หรือราคาของ Ethereum ลดลง 30% จากต้นปี

ธปท.กั้นรั้วแบงก์ลงทุน DA

ทั้งนี้ DA เป็นเรื่องใหม่ และมีพลวัตนำมาซึ่งโอกาสและความเสี่ยงพร้อมกัน แต่แนวคิดที่ว่า “ถ้าเสี่ยงและห้ามไปเสียหมด” อาจจะไม่ใช่แนวคิดในการกำกับดูแลของ ธปท.อีกต่อไป ดังนั้น ธปท.จึงต้องแยกความเสี่ยงออกจากจุดที่เป็นกังวลมากที่สุด คือ “ธนาคารพาณิชย์” เนื่องจากรับเงินฝากของประชาชนในวงกว้าง จึงต้องเป็นสถานที่ที่มีความมั่นคง ปลอดภัย และน่าเชื่อถือ โดยยังไม่ให้เข้าไปยุ่งกับสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตรง

อย่างไรก็ดี ธปท.ได้เปิดช่องในการกำกับดูแล โดยธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) หรือกลุ่มธุรกิจการเงิน (โฮลดิ้ง) ที่ต้องการเข้าไปสำรวจหรือทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ “DA” สามารถทำได้ ภายใต้ “รั้วกั้น” ที่กำหนดเพดานการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลไม่เกิน 3% ของเงินกองทุน เพื่อจำกัดขอบเขตการลงทุนแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ให้แห่ลงทุนตามกันเพราะกลัวว่าจะตกขบวน

“ธปท.จะไม่ปิดกั้น หรือเปิดมากเกินไป แต่อยากสร้างการเรียนรู้พร้อมกัน และการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยกำหนดรั้วกั้นในช่วงแรก และมีประตูเว้นไว้ให้เป็นทางออก และค่อย ๆ ขยับรั้วออกไป จนในที่สุดอาจจะไม่มีรั้ว เช่นเดียวกับเกณฑ์การกำกับเรื่องของ Fintech ที่เดิมกำหนดเพดานการลงทุน 3% ของเงินกองทุน แต่ภายหลังที่ ธปท.เห็นประโยชน์จาก Fintech ที่เข้ามาช่วยให้การบริการดีขึ้น ตอบโจทย์และลดต้นทุน และธนาคารสามารถดูแลความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม ล่าสุด ธปท.ได้ปลดราวกั้นออก หรือยกเลิกเกณฑ์ดังกล่าว”

ยกระดับคุมความเสี่ยงลูกค้า

ดร.รุ่งกล่าวอีกว่า สำหรับเกณฑ์การกำกับจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1) ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับการอนุญาตและมีหน่วยงานการกำกับดูแล เช่น ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล, ไอซีโอ พอร์ทัล, โบรกเกอร์ หรือดีลเลอร์ และ 2) ธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นที่ยังไม่มีผู้กำกับ ซึ่งยังประเมินประโยชน์และความเสี่ยงได้ไม่ชัดเจนใน เช่น Metaverse และ Defi ธปท.ไม่ได้ห้าม แต่กำหนดให้ทำอยู่ในขอบเขต (sandbox)

สำหรับธุรกิจ DA ที่มีหน่วยงานกำกับ ธปท.ออกแบบรั้วกั้นโดยกำหนดเพดานให้บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินได้ไม่เกิน 3% ของเงินกองทุน แต่ก็มีกลไกสร้างแรงจูงใจให้ออกจากรั้วกั้นได้ คือจะไม่นับอยู่ในเพดานการลงทุน 3% หากยกระดับมาตรฐานของธุรกิจ DA นั้น ๆ ใน 6 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1) ด้านธรรมาภิบาล 2) การดูแลความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีและไซเบอร์

3) การดูแลความเสี่ยงด้านชื่อเสียง 4) การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (AML/CFT) 5) ประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงของลูกค้า และ 6) การให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม เปรียบได้กับมีรั้วกั้น แต่ก็มีประตูให้เดินออกไปอย่างสง่างาม

กลไกนี้มุ่งหวังจะให้กลุ่มธุรกิจทางการเงินที่คุ้นชินกับมาตรฐานการให้บริการและรักษาความปลอดภัยของธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว ช่วยยกระดับให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลได้มาตรฐานเดียวกันนั้นด้วย

“เรามองว่าเพดาน 3% ไม่ได้น้อยเกินไป และเพียงพอต่อการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลในระยะแรก เพราะหากดูสถาบันการเงินชั้นนำของโลก เช่น ซิตี้แบงก์ สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด พบว่ามีการลงทุนใน DA ประมาณ 7,000 ล้านบาท หรือคิดเฉลี่ยประมาณ 0.43% ของเงินกองทุน ดังนั้น เราคิดว่ากรอบ 3% จึงไม่น้อยเกินไป และเป็นระดับที่ยอมรับความเสี่ยงได้ หากเกิดความเสียหายทั้งหมด”

แยกบอร์ดแบงก์-ธุรกิจ DA

นอกจากนี้ การที่กลุ่มธุรกิจทางการเงินลงทุนในบริษัทสินทรัพย์ดิจิทัลมีนัยว่า ความเสี่ยงบางส่วนสามารถถูกส่งผ่านกลับมาถึงธนาคารพาณิชย์ ซึ่งอาจกระทบถึงความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน ดังนั้น ธปท.จึงกำหนดให้มีแนวทางบริหารความเสี่ยงเพิ่มเติม เพื่อลดความเสี่ยงใน 2 เรื่องหลัก

เรื่องแรก ต้องแยกชุดคณะกรรมการ (บอร์ด) ระหว่าง “ธนาคาพาณิชย์” และกลุ่มธุรกิจการเงินที่ทำเรื่องของธุรกิจ DA เพื่อให้มั่นใจว่า คณะกรรมการจะดูแลผลประโยชน์ของธนาคารพาณิชย์เต็มที่ และไม่ให้เกิด conflict of interest ในการตัดสินใจทางธุรกิจ อีกทั้งยังต้องมีเงินกองทุนที่เพียงพอรองรับความเสี่ยงที่อาจจะมีมากขึ้นจากการทำธุรกิจใหม่นี้ด้วย

รวมถึงต้องเพิ่มกลไกป้องกันการส่งผ่านความเสี่ยงอื่น ๆ โดยเฉพาะความเสี่ยงที่อาจมาสู่ธนาคารพาณิชย์ เช่น ต้องแยกระบบ IT ไม่ให้มาเกี่ยวข้องกับระบบ core banking โดยเด็ดขาด

รวมทั้งห้ามสื่อสารให้เกิดความเข้าใจว่า หากเกิดความเสียหายกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว ธนาคารพาณิชย์ในกลุ่มธุรกิจเดียวกันจะมีบทบาทเข้าไปช่วยเหลือ

ห้ามใช้ช่องทางแบงก์นำเสนอ DA

ดร.รุ่งกล่าวว่า เรื่องที่สอง ลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ต้องได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม โดยไม่ถูกกระตุ้นความสนใจในสินทรัพย์ดิจิทัลจากช่องทางต่าง ๆ ของธนาคารพาณิชย์ เพราะเรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ได้เหมาะกับลูกค้าทุกคน ดังนั้น ธปท.จึงไม่อนุญาตให้ใช้ช่องทางสาขา เว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่นของธนาคารพาณิชย์ ในการนำเสนอสินทรัพย์ดิจิทัลต่อลูกค้า

“แน่นอนว่าไม่มีใครรู้ทั้ง 100% หรือรู้รอบด้าน ณ วันแรก จึงต้องมีการเรียนรู้ไปด้วยกัน ทั้งผู้ให้บริการ ผู้กำกับดูแล รวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการ โดย ธปท.พร้อมสนับสนุนภาคการเงินให้สามารถปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และเน้นหลักคุณภาพและความยั่งยืนมากกว่าความเร็ว โดยผลักดันให้เกิดประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลในเชิงบวก รวมถึงยกระดับการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลให้สูงขึ้น”