คลังชี้เสถียรภาพเศรษฐกิจยังดี แม้ราคาสินค้าเพิ่ม-เงินเฟ้อ 5.28%

คลังเผยเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.พ. 65 เสถียรภาพเศรษฐกิจยังดี แม้ราคาสินค้าเพิ่ม-เงินเฟ้อ 5.28% ชี้รับปัจจัยหนุนจากการบริโภคภาค-ส่งออกสินค้า-ท่องเที่ยว แต่ยังต้องจับตาโควิด ผลกระทบจากรัสเซีย-ยูเครน

วันที่ 30 มีนาคม 2565 นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ว่าเศรษฐกิจไทยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทน การส่งออกสินค้า และภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด และผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนอย่างใกล้ชิด

ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้มีปัจจัยกดดันจากระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 อยู่ที่ร้อยละ 5.28 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ร้อยละ 59.9 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 อยู่ในระดับสูงที่ 245.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ด้านเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 27.7 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 1.1 สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง

และปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 19.1 และ 14.4 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 0.2 และ 7.8 ตามลำดับ และรายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ขยายตัวเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 3.2

อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 43.3 จากระดับ 44.8 ในเดือนมกราคม 2565 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์โอมิครอน และผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น

ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 29.8 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 8.2

สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 0.6 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -0.7 ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 5.2 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 4.1

ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 อยู่ที่ 23,483 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันที่ร้อยละ 16.2 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกไปประเทศคู่ค้าหลักของไทยที่ขยายตัวต่อเนื่องในเกือบทุกตลาด อาทิ อาเซียน 5 ฮ่องกง เกาหลีใต้ สหรัฐ และอินเดีย ที่ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 31.5 29.8 28.9 27.2 และ 23.0 ตามลำดับ

ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคเกษตร สะท้อนจาก ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 8.5 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 3.4 จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ เช่น ข้าวเปลือก ยางพารา ไข่ไก่ และสินค้าในหมวดประมง เป็นต้น

สำหรับด้านบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน 152,954 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากรัสเซีย เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และสหรัฐ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จำนวน 15.28 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 72.4 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 17.6

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 86.7 จากระดับ 88.0 ในเดือนมกราคม 2565 เนื่องจากมีความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่พบผู้ติดเชื้อมากขึ้น และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาพลังงานเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการสูงขึ้น