ลูกค้า “อาคเนย์” ค้างท่อ 1.17 ล้านกรมธรรม์ เคลมค้างจ่ายเกือบ 8,000 ล้าน

คลังสั่งปิดกิจการ “อาคเนย์-ไทยประกันภัย” ลูกค้าประกันโควิดยังไม่เคลมเหลือค้างท่อกว่า 1.17 ล้านกรมธรรม์ ยอดเคลมค้างจ่ายเกือบ 8,000 ล้านบาท กองทุนประกันวินาศภัยรับช่วงต่อคืนเบื้ย

วันที่ 1 เมษายน 2565 นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2565 ตามคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 670/2565 และคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 671/2565 ตามมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย

เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยของทั้งสองบริษัทฯ ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้หากบริษัทไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนี้มีสิทธิเสนอคำฟ้องยื่นต่อศาลปกครองภายใน 90 วันนับตั้งแต่ได้รับคำสั่ง

ก่อนหน้านี้ คปภ.มีคำสั่งนายทะเบียนตามมาตรา 52 ให้บริษัทอาคเนย์ประกันภัยและบริษัทไทยประกันภัยหยุดรับประกันเป็นการชั่วคราว โดยคปภ.พยายามแก้ไขปัญหา โดยเข้าไปควบคุมและประชุมกับผู้บริหารและผู้ได้รับมอบอำนาจ และตัวแทนผู้ถือหุ้น เพื่อกลับไปทบทวนแนวทางการแก้ไขฐานะการเงิน

แต่ปรากฏว่าทั้งบริษัทอาคเนย์ประกันภัยและบริษัทไทยประกันภัย มีหนังสือลงวันที่ 22 มี.ค.65 แจ้งว่าผู้ถือหุ้นยืนยันตามมติเดิมที่จะไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินกับบริษัท

นอกจากนั้นตามมาด้วยการจ่ายค่าสินไหมทดแทนล่าช้า และประวิงการจ่ายเคลมประกันภัยโควิด ไม่บันทึกเคลมตามที่กฎหมายกำหนด ทางคณะกรรมการ คปภ.ได้ให้เงื่อนไขกับสำนักงาน คปภ.หากเกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนให้ดำเนินการตามกฎหมายมาตรา 59 (1), (2), (5) จึงได้นำเสนอ รมว.คลัง ใช้อำนาจพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาต

ทั้งนี้เนื่องจากพบว่าบริษัทอาคเนย์ประกันภัยและบริษัทไทยประกันภัย มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน จัดสรรเงินสำรองตามมาตรา 23 และจัดสรรสินทรัพย์หนุนหลังตามมาตรา 27/4 ไม่เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด และมีสินทรัพย์สภาพคล่องสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน และมีอัตราส่วนความเพียงพอขอเงินกองทุนไม่เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด สะท้อนว่าบริษัทมีฐานะการเงินไม่มั่นคง และไม่เพียงพอต่อภาระผูกพัน

“การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการในครั้งนี้เป็นปัญหาฐานะการเงินภายในของทั้งสองบริษัท ไม่ส่งผลต่อความมั่นคงหรือสภาพคล่องของระบบการประกันภัยทั้งระบบ โดยได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้เอาประกันเพื่อรองรับไม่ให้ได้รับผลกระทบ ซึ่งกองทุนประกันวินาศภัย(กปว.) จะเข้ามาเป็นผู้ชำระบัญชี” เลขาธิการ คปภ. กล่าว

เลขาธิการ คปภ. กล่าวต่อว่า สำหรับสำรองประกันภัยและค่าสินไหมค้างจ่ายรวมทั้งสองบริษัทเบื้องต้นมีจำนวน 18,172 ล้านบาท แยกเป็นของบริษัทอาคเนย์ประกันภัยจำนวน 13,559 ล้านบาท และบริษัทไทยประกันภัยอีก 4,613 ล้านบาท

ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมากลุ่มผู้ถือหุ้นได้ใส่เงินทุนเข้ามาแล้วรวมทั้งหมด 9,900 ล้านบาท และในช่วงที่ คปภ.ได้เข้าไปควบคุมภายในบริษัท สามารถอนุมัติจ่ายสินไหมประกันภัยโควิดให้กับผู้เอาประกันภัยได้อีกจำนวน 294 ล้านบาท จำนวน 3,028 ราย ทำให้ในเบื้องต้นมีค่าสินไหมค้างจ่ายรวมทั้งสองบริษัทอยู่ประมาณ 7,978 ล้านบาท

โดยปัจจุบันมีจำนวนกรมธรรม์โควิดของทั้งสองบริษัทที่ยังเหลือความคุ้มครอง(ยังไม่เคลม) อีก 1.17 ล้านกรมธรรม์ คิดเป็นเบี้ยประกันรวมเกือบ 600 ล้านบาท (ค่าเบี้ยเฉลี่ย 400-500 บาทต่อกรมธรรม์)

โดยในเบื้องต้นทางกองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชีจะดำเนินการคืนเบี้ยให้ลูกค้า และบริษัททิพยประกันภัยจะเข้ามารับโอนงานต่อ แต่ต้องเปลี่ยนแปลงความคุ้มครองเป็นภาวะโคม่า ด้วยมูลค่าเบี้ย 300 บาท ทุนประกันภัยที่ 3 แสนบาท

ขณะที่กรมธรรม์ Non-Covid ที่ผู้เอาประกันไม่ประสงค์โอนย้าย เบื้องต้นมีอยู่ 269 กรมธรรม์ทางกองทุนก็จะดำเนินการคืนเบี้ยให้ต่อไป

“สำหรับภาพรวมผู้ติดเชื้อโควิดที่มีปริมาณสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 65 ส่งผลให้ยอดเคลมโควิดทั้งระบบในสิ้นเดือน ม.ค.65 อยู่ที่ 4,200 ล้านบาท และสิ้นเดือน ก.พ.65 เพิ่มเป็น 5,200 ล้านบาท และสิ้นเดือน มี.ค.65 พุ่งแตะ 8,000 ล้านบาท” เลขาธิการ คปภ. กล่าว

สำหรับข้อมูลสินทรัพย์ของทั้งสองบริษัทฯ เบื้องต้นทางบริษัทอาคเนย์ประกันภัย มีทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท เบี้ยประกันรวมสิ้นปี 64 จำนวน 11,730 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 6 หรือราว 4.5% พอร์ตงานส่วนใหญ่เป็นประกันรถยนต์ และประกันภัยโควิดมีสัดส่วน 20% ที่เหลือเป็นพอร์ตน็อนมอเตอร์

ขณะที่บริษัทไทยประกันภัย มีทุนจดทะเบียน 235 ล้านบาท เบี้ยประกันรวมสิ้นปี 64 จำนวน 1,392 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 29 หรือราว 0.53% พอร์ตงานส่วนใหญ่เป็นประกันรถยนต์ และประกันภัยโควิดมีสัดส่วน 30% ที่เหลือเป็นพอร์ตน็อนมอเตอร์