คนไทยหนี้ท่วม 14.6 ล้านล้าน NPL กระฉูด “หนี้นอกระบบ” เบ่งบาน

เงินกู้ฉุกเฉิน

ธปท.เปิดตัวเลข “หนี้ครัวเรือน” ปี 2564 ทะลุ 14.58 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.1% ต่อจีดีพี เผยภาคครัวเรือนอ่อนแอกระทบความสามารถชำระหนี้ แบงก์-น็อนแบงก์ผวา NPLเข้มปล่อยกู้ ดัน “หนี้นอกระบบ” เติบโตเป็นระเบิดเวลายุคค่าครองชีพแพง ผู้ประกอบการ “พิโกไฟแนนซ์” ภาคตะวันออก-อีสาน ชี้พิษเศรษฐกิจทำ NPL พุ่งถึง 20-25% คลังเผยผู้รับใบอนุญาต “พิโกไฟแนนซ์” หลายรายขอปิดตัว

หนี้ครัวเรือนทะลุ 90.1%

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยคงค้าง ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 14.58 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้นประมาณ 3.9% (YOY) ใกล้เคียงกับ 4.0% ในปี 2563 แต่เนื่องจากเศรษฐกิจที่ยังเติบโตช้าทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพียังคงขยับสูงขึ้นมาที่ระดับ 90.1% ในปี 2564 จากระดับ 89.7% ในปี 2563

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า ข้อมูลสถิติในระดับครัวเรือนพบว่าการระบาดโควิด-19 ที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้ฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนอ่อนแอลง และยังมีครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังอยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงิน ซึ่งสะท้อนว่าภาคครัวเรือนไทยยังมีประเด็นกดดันกำลังซื้อ และความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งอ่อนไหวต่อสภาวะที่ไม่แน่นอนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และจังหวะดอกเบี้ยขาขึ้นในระยะข้างหน้า

สำหรับในปี 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดว่ายอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยจะยังคงขยับขึ้นต่อเนื่อง แต่เมื่อเทียบกับมูลค่าเศรษฐกิจที่วัดจาก Nominal GDP ที่เติบโตสูงตามภาวะเงินเฟ้อ จึงประเมินว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนอาจชะลอลงมาอยู่ที่กรอบ 86.5-88.5% ต่อจีดีพี อย่างไรก็ดีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนดังกล่าวยังคงสูงกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤตโควิด และเป็นหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้าง
ที่กดดันเศรษฐกิจ

แบงก์เข้มหนุน “หนี้นอกระบบ”

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตัวเลขสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยยังสูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยอีไอซี (Economic Intelligence Center) ของธนาคารไทยพาณิชย์คาดว่าในปี 2565 หนี้ครัวเรือนยังมีแนวโน้มขยายตัว 3-5% จากความต้องการสภาพคล่องของภาคครัวเรือน ขณะที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัว และยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการระบาดของโอมิครอน

ทั้งนี้ จากข้อมูล Google Trends พบว่าปริมาณการค้นหาคำว่า “เงินกู้-เงินด่วน” ในไตรมาส 1/65 ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อนโควิด-19 อยู่ราว 30% ขณะที่สถาบันการเงินต่าง ๆ มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น ส่งผลให้ครัวเรือนบางส่วนหันไปพึ่งพาเงินนอกระบบมากขึ้น และมีแนวโน้มหนี้นอกระบบอาจเพิ่มขึ้นได้อีกเมื่อรายได้ปรับขึ้นไม่ทันกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น

ดร.ยรรยงกล่าวว่า จากการคำนวณข้อมูลภาวะเศรษฐกิจและครัวเรือนในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 พบว่าตัวเลขหนี้นอกระบบอยู่ที่ 8.5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 1.8% ของหนี้ทั้งหมด เป็นการเพิ่มขึ้น 78% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีปริมาณหนี้นอกระบบอยู่ที่ 4.78 หมื่นล้านบาท หรือ 1.3% ของหนี้ทั้งหมด ถือเป็นการกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งของหนี้นอกระบบหลังจากที่มีแนวโน้มลดลงในปี 2562 และมองว่าความต้องการหนี้นอกระบบอาจเพิ่มขึ้นได้อีกเมื่อรายได้ปรับขึ้นไม่ทันค่าครองชีพที่เพิ่มสูง

“ปริมาณหนี้นอกระบบที่เพิ่มขึ้น 78% สะท้อนถึงความเดือดร้อนมากขึ้นของครัวเรือน และภาระค่าครองชีพที่แพงขึ้น อาจจะกระทบครัวเรือนที่มีรายได้น้อยซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางอาจจะกระทบมากขึ้น และเป็นกลุ่มที่จะหันพึ่งพานอกระบบ”

NPL “พ่อค้าแม่ค้า” พุ่ง

นายไชยวัฒน์ อึงสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรีมันนี่ จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์รายใหญ่ใน 6 จังหวัดภาคตะวันออก เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์พิโกไฟแนนซ์ภาพรวมยังทรงตัว โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่รับโฉนดที่ดินและรับเล่มรถ ลูกค้าอาจจะรีไฟแนนซ์เพื่อให้ได้รับวงเงินกู้เพิ่ม แต่ไม่ค่อยมีการปล่อยกู้รายใหม่ ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) โตต่อเนื่อง

ส่วนหนึ่งเพราะผู้ประกอบการไม่มีเงินปล่อยกู้ให้กับลูกค้ารายใหม่ ซึ่งก็ต้องมีการฟ้องร้องบังคับคดีกับผู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ตามกฎหมาย เนื่องจากมีหลักประกัน สุดท้ายเมื่อติดโนติส มีหนังสือทวงถามหนี้ และเกิดการฟ้องร้องขึ้น ผู้ประกอบการจึงจะได้ที่ดินหรือเล่มทะเบียนรถ และรอขายทอดตลาดเพื่อให้ได้เงินคืน

นายไชยวัฒน์กล่าวว่า กลุ่มอาชีพที่เป็น NPL มากที่สุดเป็นพ่อค้าแม่ค้า ซึ่งกู้เงินไปลงทุนขายของ แต่สถานการณ์ไม่ดี สินค้าที่ลงทุนไปขายไม่ได้ ก็ไม่มีเงินมาคืน โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยที่เงินกู้เฉลี่ยประมาณ 10,000-30,000 บาท/ราย เมื่อครบกำหนดคืน ก็หันไปกู้จากผู้ประกอบการรายอื่นมาโปะหนี้เก่า กู้ไปเรื่อย ๆ วนมาวนไปตามสถานการณ์

“ในแวดวงผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ ทั่วไปน่าจะปล่อยกู้ให้พ่อค้าแม่ค้าประมาณ 20% จากลูกค้าทั้งหมด และในจำนวนนี้เป็น NPL กว่า 80% คิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 15% เมื่อเทียบกับลูกค้ารวมกลุ่มใหญ่ แต่กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือลูกค้าที่ใช้หลักประกันเป็นโฉนดที่ดิน เพราะถ้ามีปัญหามาจะถูกยึดที่ดินจนไม่มีที่ดินทำกินหรือไม่มีที่อยู่อาศัย ดูแล้วสังคมค่อนข้างบอบช้ำ” นายไชยวัฒน์กล่าวและว่า

หน่วยงานรัฐที่ดูแลเรื่องนี้มีเพียงการโฆษณาประชาสัมพันธ์การแก้หนี้ที่ไม่จริงจัง หากยังปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป ปัจจุบัน NPL โดยรวมของพิโกไฟแนนซ์ปัจจุบันอยู่ที่ 25-35% คงจะโตขึ้นอีกถึง 40% จนกว่าผู้ประกอบการจะฟ้องร้องให้ได้เงินกลับคืนมา NPL ถึงจะลดลง

ระเบิดเวลา “หนี้นอกระบบ”

นายไชยวัฒน์กล่าวว่า สำหรับทรีมันนี่ช่วงนี้ผ่อนผันการชำระหนี้ให้ลูกค้าที่ตกงานหรือยังไม่มีเงินคืนอยู่ ยกเว้นจงใจเจตนาฉ้อโกงถึงจะส่งเรื่องฟ้อง ปัจจุบันปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 630 ล้านบาท และปี 2565 ตั้งเป้าปล่อยกู้รวม 1,000 ล้านบาท สำหรับกลุ่มลูกค้าของทรีมันนี่กลุ่มพนักงานโรงงานที่ใช้บัญชีเงินเดือนค้ำประกันกว่า 95% ในพื้นที่ 6 จังหวัด รวม 10 สาขา และในเดือน พ.ค. 2565 จะขยายสาขาเพิ่มสาขาที่ 11 ที่ อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง โดยกลุ่มลูกค้าใช้โฉนดที่ดินหรือเล่มรถค้ำประกันนั้นมีน้อยมาก เพราะกลุ่มนี้ต้องการวงเงินสูง แต่บริษัทเป็นพิโกไฟแนนซ์ปล่อยกู้ได้ไม่เกิน 50,000 บาท/ราย

ทั้งนี้ ปกติ NPL ของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 11-12% แต่ปัจจุบัน NPL พุ่งขึ้นอยู่ที่ระดับ 20% เรียกได้ว่าเป็น NPL ชั่วคราวด้วยสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งยังพอรับได้และมีกำไรอยู่ คาดว่าในช่วงเดือนเม.ย. 2565 เป็นช่วงโรงงานจ่ายโบนัส จะทำให้ NPL ลดลงมาเป็นปกติ

“ปัญหาหนี้ของประชาชนจากที่คิดว่าจะค่อย ๆ น้อยลงไม่เกิน 5 ปี กลับยืดไปอีกไม่ต่ำกว่า 10 ปี ใช้สินเชื่อกันระยะยาว ซึ่งเป็นแรงงานกว่าครึ่งของประเทศ ลูกค้ามีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ขณะที่เงินเดือนเท่าเดิม ทำงานหนักกว่าเดิม แต่ค่าครองชีพสูงขึ้น สินค้าขึ้นราคาไม่ต่ำกว่า 20% ทำให้หลายคนหันไปกู้เงินนอกระบบ กำลังเป็นระเบิดบูมอยู่ทุกหย่อมหญ้า เพราะกู้ง่าย ได้เงินเร็ว ดอกเบี้ยสูง ทวงโหด ผลประโยชน์มหาศาล แต่การกู้เงินในระบบทำได้ยาก เพราะผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์เองไม่มีแหล่งเงินทุน”

พิโกฯอีสานเจอหนี้เสียอ่วม

ด้านนายนพดล อุบลแก้ว กรรมการผู้จัดการ บริษัท กิจวัฒนา 99 จำกัด จังหวัดขอนแก่น ผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์รายใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พิษเศรษฐกิจ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ตลอดจนสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับราคาสูงขึ้น เป็นสาเหตุหลักทำให้ภาพรวมของสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ในจังหวัดขอนแก่นเป็น NPL เฉลี่ยอยู่ประมาณ 20% เนื่องจากเงินที่ลูกค้าหามาได้เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือน้อยมาก

เฉพาะในส่วนของบริษัท กิจวัฒนาฯมีNPL สัดส่วนกว่า 17% นับตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2564 จากที่ปล่อยกู้ไปประมาณ 12 ล้านบาท ถือว่ายังประคับประคองตัวอยู่ได้ โดยในปี 2565 ตั้งเป้าจะปล่อยกู้รวม 30 ล้านบาท

สำหรับลูกค้าของบริษัทที่เกิด NPL ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มลูกจ้างบริษัทเอกชนที่กู้เฉลี่ย 30,000 บาท/ราย เพราะหลายคนเริ่มตกงาน ถูกเลิกจ้างบ้าง เมื่อเข้ามาติดต่อทางบริษัทได้พูดคุยผ่อนผันกันทุกกรณี แต่ส่วนมากไม่กลับมาติดต่อเลย แม้จะยื่นฟ้องลูกหนี้ก็ไม่ไปศาลจนศาลต้องตัดสินฝ่ายเดียว คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15% จากที่เกิด NPL ทั้งหมด

“ภาพรวมปัจจุบันคาดว่า NPL ยังคงไม่ลดลง มีแต่ทรงตัวและเพิ่มขึ้นต่อเนื่องน่าจะถึง 30% เป็นเหมือนกันหมดทุกราย ซึ่งขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของแต่ละบริษัท ทำให้ผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ระมัดระวังในการปล่อยกู้มากขึ้น อยู่กับคุณสมบัติของลูกค้า ทำให้ตัวเลขยอดการปล่อยสินเชื่อชะลอลงพอสมควร แตกต่างจากหนี้นอกระบบที่เพิ่มขึ้นมาเยอะมาก”

คลังชี้พิโกฯปล่อยกู้หนี้เสีย18%

น.ส.สภัทร์พร ธรรมาภรณ์พิลาศ รองผู้อำนวยการ ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ขณะนี้การปล่อยสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ภาพรวมถือว่าทรงตัว ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะรายได้ของประชาชนที่ลดลงด้วยสภาพเศรษฐกิจจึงอาจทำให้การขอสินเชื่อมีแนวโน้มชะลอลงเล็กน้อย ซึ่งจากข้อมูลเดือน ม.ค.2565 สินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 4,766 ล้านบาท จากสิ้นเดือน ธ.ค. 2564 อยู่ที่ 5,377 ล้านบาท

ขณะที่สัญญาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก โดย ณ สิ้นเดือน ม.ค. 2565 เอ็นพีแอลอยู่ที่ 876.32 ล้านบาท หรือ 18.39% ของสินเชื่อคงค้าง จากเดือน ธ.ค. 2564 NPL อยู่ที่ 949.11 ล้านบาท คิดเป็น 17.65% ส่วนหนี้ค้างชำระ 1-3 เดือน (SM) เดือน ม.ค. 2565 อยู่ที่ 652.82 ล้านบาท หรือ 13.7% จากเดือน ธ.ค. 2564 อยู่ที่ 802,68 ล้านบาท หรือ 14.93%

ลวงกู้นอกระบบเพียบ

“อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังเริ่มเห็นสัญญาณการปล่อยสินเชื่อจากผู้ประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ต่อรายในวงเงินที่ลดลง โดยส่วนใหญ่จะเป็นการปล่อยกู้ระยะสั้น ไม่ได้ปล่อยสินเชื่อยาวเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากกลัวความเสี่ยงของบริษัทเองด้วย” น.ส.สภัทร์พรกล่าว

ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์แสดงความคิดเห็นว่า การปล่อยสินเชื่อแผ่วลง เนื่องจากคนหันไปกู้หนี้นอกระบบนั้น กระทรวงการคลังไม่มีข้อมูลว่าคนหันไปพึ่งหนี้นอกระบบมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีกลุ่มที่หลอกลวงให้คนเข้าสู่หนี้นอกระบบเป็นจำนวนมาก มีความเป็นไปได้ว่าผู้ที่ต้องการเงินด่วนอาจจำเป็นต้องหันไปกู้หนี้ยืมสินนอกระบบ

ถกลดดอกเบี้ย-หวั่นเอฟเฟ็กต์

ส่วนจะมีการพิจารณาช่วยลดภาระประชาชนด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ลงอีกหรือไม่นั้น น.ส.สภัทร์พร กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงการคลังก็ได้มีการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเรื่องดังกล่าวอยู่ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้มีการลดอัตราดอกเบี้ยพิโกไฟแนนซ์ส่วนที่มีหลักประกันลงมาแล้ว จาก 36% ต่อปี เหลือ 33% ต่อปี โดยภาพรวมหากปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอาจจะไม่ได้เป็นการช่วยเหลือประชาชน เพราะไม่มั่นใจว่าบริษัทพิโกไฟแนนซ์จะยังปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนอยู่หรือไม่ หรืออาจจะยิ่งเป็นการผลักภาระให้กับประชาชนมากขึ้น

“เราก็มีการหารือกับ ธปท.ว่า ถ้ามีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอีก จะเป็นการผลักให้คนไปก่อหนี้เพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะจากเดิมการคิดดอกเบี้ย 33% ต่อปี ก็ต่ำกว่าหนี้นอกระบบเป็นอย่างมาก จึงเป็นการพิจารณาสองด้าน เพราะเราก็ยังไม่มั่นใจว่าหากนโยบายออกไปว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอีก จะกลายเป็นโทษให้กับประชาชนด้วยหรือไม่”

ธุรกิจพิโกฯทยอยปิดกิจการ

รองโฆษก สศค.กล่าวว่า นอกจากนี้ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ ก็มีการปล่อยสินเชื่อในรูปแบบดิจิทัลเลนดิ้งจำนวนมาก ทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธนาคาร (น็อนแบงก์) ซึ่งก็จะทำให้เกิดการแข่งขันในระบบ รวมถึงในแง่ของการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้สามารถแข่งขันในธุรกิจได้

“สิ่งเหล่านี้กลไกตลาดจะทำให้แข่งกันเอง ลูกค้าก็จะได้รับประโยชน์มากขึ้น โดยบริษัทพิโกไฟแนนซ์ก็จะต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงมา เพื่อแข่งขันกับตลาดในภาพรวม มิฉะนั้นธุรกิจก็อาจจะอยู่ไม่ได้ โดยกระทรวงการคลังก็เห็นสัญญาณผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์หลายบริษัทที่มายื่นขออนุญาตปิดกิจการ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเหตุผลมาจากสถานการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นด้วย โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการทยอยยื่นขอปิดกิจการเข้ามาเรื่อย ๆ เดือนละ 3-4 ราย รวมถึงหลายรายได้ใบอนุญาตแล้วก็ไม่ได้ประกอบธุรกิจ”

น.ส.สภัทร์พรกล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจพิโกไฟแนนซ์มีอยู่เป็นหลักพันรายแล้ว โดยข้อมูล ณ 31 ม.ค. 2565 มีผู้ได้รับใบอนุญาต 1,067 ราย ซึ่งเปิดดำเนินการแล้ว 1,036 ราย ใน 75 จังหวัด ส่วนหนึ่งเพราะประชาชนมีทางเลือกในการเข้าถึงสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยต่ำหลากหลายช่องทาง อาจไม่จำเป็นต้องขอสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่มองว่าอัตราดอกเบี้ยยังค่อนข้างสูง

และช่วงโควิดรัฐบาลก็ออกมาตรการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ทั้งจากธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ประชาชนก็จะไปเข้าร่วมขอสินเชื่อจากส่วนนั้นมากกว่า สิ่งเหล่านี้ก็เป็นความท้าทายที่ผู้ประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์จะต้องปรับตัว

“กู้ในระบบ” ยากขึ้น

ด้านนายสุธัช เรืองสุทธิภาพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เงินเทอร์โบ จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มความต้องการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ยังคงขยายตัวในระดับสูง เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน และวงเงินปล่อยกู้เฉลี่ยไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 33%

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าปัจจุบันธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบการน็อนแบงก์มีความเข้มงวดและคัดกรองลูกค้าในการปล่อยสินเชื่อกลุ่มนี้มากขึ้น เนื่องจากไม่มีหลักประกัน ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดเอ็นพีแอลค่อนข้างสูง และเนื่องจากวงเงินเล็ก หากเป็นหนี้เสีย ต้นทุนการเรียกเก็บหนี้สูง จะไม่คุ้มกับวงเงินสินเชื่อและดอกเบี้ยที่ได้รับ ทำให้ในตลาดเพิ่มความเข็มงวดปล่อยกู้มากขึ้น

“ความต้องการสินเชื่อมีสูงอยู่แล้ว แต่แบงก์และน็อนแบงก์เลือกลูกค้าในการปล่อย เพราะนาโนไฟแนนซ์วงเงินน้อย เฉลี่ยหลักหมื่นบาท ดอกเบี้ยถูกคุมเพดานจาก 36% เหลือ 33% คิดดอกเบี้ยเฉลี่ยต่อเดือนไม่ถึงร้อยบาท แต่มาเจอค่าทวงถามหนี้ก็ไม่คุ้มกัน ทำให้คนกู้ในระบบยากขึ้น จึงเป็นสาเหตุให้ลูกค้าบางส่วนหันไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ และเราจะเห็นเงินกู้นอกระบบยังคงเพิ่มขึ้นอีก”

ขณะที่นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความต้องการสินเชื่อกลุ่มนาโนไฟแนนซ์ยังคงมีต่อเนื่องเป็นปกติ โดยบริษัทจะเน้นปล่อยสินเชื่อฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่กว่า 3 ล้านราย เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน เพื่อลดความเสี่ยงซึ่งโดยเฉลี่ยวงเงินปล่อยอยู่ที่ 1.5-2 หมื่นบาทต่อราย โดยปัจจุบันเอ็นพีแอลอยู่ที่ 1-1.2% ส่วนหนึ่งมาจากความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ


ทั้งนี้ สำหรับผู้ได้รับอนุญาตสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ วงเงินกู้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย ดอกเบี้ยไม่เกิน 33% ต่อปี วงเงินกู้ไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อราย ดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ต่อปี ขณะที่สินเชื่อพิโกพลัส วงเงินกู้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย โดย 5 หมื่นบาทแรก ดอกเบี้ย 36% ต่อปี และ 5 หมื่นบาทที่เหลือคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 28% ต่อปี