กสิกรไทย คาดยอดขายรถยนต์ปีนี้ 8.25 แสนคัน จับตารถอีวีทะลุ 1 หมื่นคัน

งานมอเตอร์โชว์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินยอดขายรถยนต์ปีนี้ 8.25 แสนคัน เพิ่มขึ้น 8.7% จากปีก่อน คาดรถอีวีส่อขายได้กว่า 1 หมื่นคัน หรือ ขยายตัวกว่า 400% จากปีก่อนจดทะเบียนทั้งสิ้น 1,984 คัน ชี้ได้มาตรการรัฐหนุน ระบุรถอีวีจีนมาร์เก็ตแชร์ส่อพุ่งเป็นกว่า 80% เหตุมีความพร้อมในแง่เทคโนโลยี-สต๊อกสินค้าเพียงพอพร้อมจำหน่าย

วันที่ 2 เมษายน 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ยอดขายรถยนต์ในประเทศของไทยปี 2565 นี้ อาจทำได้ราว 825,000 คัน หรือขยายตัวราว 8.7% ต่อปี (YoY) จากฐานที่ต่ำมากในปี 2564 ที่ขายได้เพียง 759,119 คัน ต่ำสุดในรอบ 13 ปี อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ความตึงเครียดของสงครามรัสเซีย-ยูเครนทวีความรุนแรงขึ้นมากจนกระทบต่อการผลิตชิ้นส่วนและราคาน้ำมันมากขึ้น ยอดขายรถยนต์ในประเทศอาจปรับลดลงไปได้ถึงระดับ 800,000 คัน เหลือขยายตัวเพียง 5.4%

แต่หากสถานการณ์การขาดแคลนชิ้นส่วนคลี่คลายได้เร็วก็อาจจะทำให้ยอดขายสูงเกินกว่า 825,000 คัน เปรียบเทียบในกรณีไม่มีสงครามที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยมองไว้ว่าน่าจะทำได้ 860,000 คัน ขยายตัว 13.3%
โดยรถปิกอัพเป็นกลุ่มที่มีโอกาสขยายตัวได้ดีกว่ารถยนต์นั่งในปี 2565 นี้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากระดับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นน้อยกว่าเพราะภาครัฐมีนโยบายช่วยเหลือด้านราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศ เพื่อลดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม นอกจากนี้ การลงทุนภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่งและโลจิสติกส์ที่ยังคงเดินหน้าก็เป็นอีกปัจจัยสนับสนุน

ซึ่งรถยนต์ BEV สัญชาติจีน จะมีโอกาสสร้างส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจาก 58% ของยอดขายรถยนต์ BEV รวมในปีที่แล้วขึ้นเป็นกว่า 80% ในปีนี้ จากยอดขายรถยนต์ BEV รวมที่คาดว่าจะมีมากกว่า 10,000 คัน ขยายตัวมากกว่า 412.0% หลังปีที่แล้วจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกที่ 1,954 คัน โดยกลุ่มผู้ซื้อหลักนอกจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อและได้รับผลกระทบน้อยจากภาวะเศรษฐกิจแล้ว อีกกลุ่มที่ช่วยดันยอดให้ขึ้นสู่ตัวเลขดังกล่าว น่าจะเป็นกลุ่มลูกค้า Fleet องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนซึ่งมีศักยภาพในช่วงที่ตลาดผู้บริโภคส่วนใหญ่กำลังเผชิญกับภาวะกำลังซื้อชะลอลง

ส่วนรถยนต์ BEV สัญชาติตะวันตกที่กลุ่มผู้ซื้อมีศักยภาพสูง แม้บางค่ายรถจะไม่ได้เข้าร่วมโครงการของภาครัฐแต่ก็จะได้แรงกระตุ้นจากอานิสงส์ของการเร่งขยายสถานีชาร์จเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้สูงขึ้น ขณะที่ค่ายญี่ปุ่นที่อาจเข้ามาทำตลาดได้ช้ากว่าค่ายอื่นจึงทำให้มีช่วงเวลาในการสร้างส่วนแบ่งในตลาดในปี 2565 นี้สั้นกว่า แต่หากทำราคาได้ดีและเหมาะสมเชื่อว่าในปี 2566 อาจมีโอกาสกลับมาทวงส่วนแบ่งการตลาดคืนได้

โดยหลังรัฐบาลออกมาตรการใหม่เพื่อส่งเสริมการสร้างตลาดรถยนต์ BEV ขึ้นในประเทศอย่างรวดเร็ว โดยให้การสนับสนุนทั้งในส่วนของผู้ซื้อรถยนต์ ผู้ผลิตรถยนต์ และธุรกิจให้บริการชาร์จรถไฟฟ้า ทำให้ตลาดรถยนต์ BEV ในประเทศปรับเข้าสู่โหมดการแข่งขันอย่างคึกคักขึ้นทันที ดังเห็นได้จากความสนใจในการจองรถยนต์ในงานมอเตอร์โชว์ 2565 นำโดยค่ายรถจีนที่แม้ในแง่ภาพแบรนด์จะยังใหม่และมีฐานตลาดน้อยกว่าเจ้าตลาดเก่า แต่เพราะมีความพร้อมในแง่ของเทคโนโลยีและมีสต๊อกสินค้ามากพอสำหรับนำเข้ามาจำหน่ายได้ทันที จึงอาศัยช่องว่างทางการตลาดในปัจจุบันสร้างฐานลูกค้าได้ก่อนค่ายรถกระแสหลักที่คาดว่าจะเริ่มทำตลาดได้ในช่วงปลายปี

ทั้งนี้ จุดแข็งสำคัญในการทำตลาดของค่ายรถจีนที่ดูเหมือนจะได้ผลดีมากในปัจจุบัน คือ การเลือกผลิตภัณฑ์บุกตลาดและการตั้งราคาที่ดึงดูดใจผู้ซื้อในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งได้แรงหนุนของมาตรการทางด้านภาษีและเงินสนับสนุนของภาครัฐ 70,000 – 100,000 บาทมาช่วยกระตุ้น ทำให้รถยนต์ BEV สัญชาติจีนขยับราคาลงไปสูสีกับรถยนต์ใช้น้ำมันที่ไม่ได้รับการสนับสนุนของภาครัฐ ท่ามกลางสถานการณ์ราคาน้ำมันแพงที่ยังไม่มีทีท่าจะจบลง จึงยิ่งส่งให้รถยนต์ BEV สัญชาติจีนมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ทำให้ได้เปรียบในการสร้างความรับรู้และชิงส่วนแบ่งการตลาดได้ก่อนเลยในทันที

ซึ่งนับจากนี้คาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการบุกตลาดและเข้ามาลงทุนของค่ายรถสัญชาติจีนรายใหม่ ๆที่ชัดเจนขึ้น ทั้งที่เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตเองและที่ร่วมมือกับผู้ประกอบการไทยให้เป็นผู้ประกอบรถให้ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผู้ซื้อรถยนต์ BEV อาจได้เห็นรถยนต์หลายรุ่นที่ลงมาแข่งขันกันในตลาดกลุ่ม Mass ยิ่งขึ้นกว่าปัจจุบัน

ส่วนแบ่งตลาดรถยนต์อีวี

ตารางยอดขายรถยนต์