ลงทุนหุ้นสหรัฐอย่างไร ท่ามกลางเศรษฐกิจเสี่ยงถดถอย

เปิดมุมมองกลยุทธ์การลงทุนหุ้นสหรัฐ ท่ามกลางเงินเฟ้อและเศรษฐกิจที่เสี่ยงถดถอยกับ ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน สายพัฒนาธุรกิจ บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย)

วันที่ 4 เมษายน 2565 เงินเฟ้อสหรัฐพุ่งแตะ 8% สูงสุดในรอบ 40 ปี ทำให้เฟดต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อให้อยู่หมัด ด้านบอนด์ยีลด์หรือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯเกิด Inverted Yield Curve และมีการปรับตัวต่ำลงเข้าสู่ภาวะที่ผิดปกติ หรือนี่จะเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังถดถอยลงกลายเป็นคำถามที่ตามมาว่า แล้วการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐยังน่าลงทุนอยู่หรือไม่ ?

วันนี้ Prachachat Wealth “เล่าเรื่องการลงทุน” จะพามาพูดคุยพรอมหาคำตอบไปกับ “ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน สายพัฒนาธุรกิจ บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย)” มานำเสนอ

  • ตลาดหุ้นสหรัฐมีหลายปัจจัยที่กดดันและน่ากังวล  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินเฟ้อ เรื่องของเฟด รวมทั้งเรื่องของบอนด์ยีลด์สหรัฐที่มีการเกิด Inverted Yield Curve จะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังถดถอยหรือไม่ และการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐปีนี้ยังน่าลงทุนอยู่ไหม  

จริง ๆ ทั้ง 3 เรื่องเป็นความเสี่ยงที่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้หมดเลย แล้วก็น่าจะทำให้มุมมองของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฯ มีการเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน อย่างแรกเลยก็คือในส่วนของเงินเฟ้อ พอในจังหวะที่เงินเฟ้อเกิดขึ้นมา สิ่งที่จะเปลี่ยนไปก็คือ มุมมองของนักลงทุนต่อความถูกแพงของตลาดจะเกิดขึ้น  เพราะฉะนั้น กลุ่มที่ราคาแพง อย่างเช่น กลุ่มที่เติบโตสูงในฝั่งของสหรัฐ ก็มีโอกาสที่จะโดนขาย แต่ว่าก็โชคดีที่ในฝั่งของสหรัฐก็จะมีกลุ่มที่เป็นกลุ่มพื้นฐานหรือกลุ่มคุณค่า (Value) ที่สามารถซื้อเข้ามาแทนที่ได้ ตรงนี้ก็ยังถือว่าค่อนข้างได้รับผลกระทบที่ไม่ได้สูงมาก อย่างที่ 2 ก็คือ ในภาพรวมของดอกเบี้ยนโยบายที่มีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้น ตอนนี้ต้องบอกว่าเป็นช่วงแรกของการปรับตัวขึ้นของดอกเบี้ย ตอนนี้ทุกคนกำลังมองอยู่ว่าจะขึ้นได้จริงหรือเปล่า แต่ว่าบอนด์ยีลด์รับข่าวไปแล้ว

สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตลาดแน่นอน คือ ถ้าเกิดยีลด์สามารถปรับตัวขึ้นไปสูงได้ขนาดนั้นจริง ๆ กลุ่มที่ได้ประโยชน์แล้วก็มีโอกาสที่จะได้รับอานิสงส์ก็คือ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ตรงนี้ก็จะสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ และก็กลุ่มที่มีการลงทุนหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าฟุ่มเฟือยก็อาจจะถูกขายหรือว่าอาจจะถูกลดทอนความสำคัญลง ส่วนอย่างที่ 3 เป็นผลของ 2 อย่างรวมกันก็คือ ถ้าเกิดเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นสูงแล้วก็ต้นทุนของการทำธุรกิจอย่างดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นสูงด้วยก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจเกิดภาวะถดถอยขึ้นได้

ถ้าเกิดเศรษฐกิจถดถอยขึ้นจริง ๆ ด้วยฝั่งสหรัฐที่บริษัทส่วนใหญ่ใน S&P 500 ก็มีรายได้จากประเทศในทวีปสหรัฐ ประมาณ 70% วิธีการที่ดีที่สุดก็คือ ต้องลงทุนในธุรกิจสหรัฐที่สามารถออกไปลงทุนต่างประเทศหรือว่าได้กำไรจากต่างประเทศเข้ามาสนับสนุนด้วย

  • ในส่วนของการลงทุนในกองทุนกันบ้าง มีกองทุนไหนบ้างที่มองแล้วว่าน่าสนใจ หรือเป็นกองทุนที่ลงทุนแล้วยังได้รับผลตอบแทนที่ดีอยู่ 

จริง ๆ  กองทุนที่ลงทุนในฝั่งของสหรัฐตรง ๆ ต้องบอกว่ามีโอกาสไม่ได้เยอะมาก ปีนี้ถ้าเกิดเหตุการณ์ทั้ง 3 อย่างเกิดขึ้นพร้อมกันก็คือ เงินเฟ้อสูงจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยและก็เศรษฐกิจถดถอย เพราะฉะนั้น อย่างแรกที่สุดพยายามที่จะจำกัดขอบเขตการลงทุนก่อนว่า ถ้าเกิดเป็นการลงทุนที่ต้องระวังก็คือ หุ้นเล็กในฝั่งสหรัฐ รวมถึงหุ้นเทคโนโลยีที่มีราคาแพง เชื่อว่าถ้าเกิด 3 เหตุการณ์นี้รวมกันยังมีโอกาสที่จะปรับฐานลงได้อีก  แล้วก็จะเน้นลงทุนในกลุ่มหุ้นที่เป็นหุ้นใหญ่ในฝั่งของสหรัฐ และก็สามารถถออกไปลงทุนได้ทั่วโลก  ถ้ามองในมุมของนักลงทุนจริง ๆ  ผมยังเชื่อว่าการที่เราไม่ได้จำกัดขอบเขตตัวเองให้ลงทุนเฉพาะในสหรัฐ อย่างเดียว  แต่ว่าเลือกบริษัททั่วโลก ให้สุดท้ายแล้วอาจจะบอกว่าเป็นบริษัทสหรัฐฯ ก็จริงแต่สามารทำรายได้ได้จากทั่วโลกได้ ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะทำผลงานได้ดีอยู่

อย่างกองทุนที่น่าสนใจที่ลงทุนในสหรัฐค่อนข้างเยอะแต่ก็มีการลงทุนทั่วโลกด้วย อย่างเช่น กองทุน  UESG ก็สามารถที่จะปรับตัวบวกได้ หรือว่าเราจะลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในฝั่งของสหรัฐและมีการ Leverage หรือว่าลงทุนผสมในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหุ้นคุณค่าหรือพลังงานในรูปแบบใหม่ อย่างกองทุน UEV กองทุนนี้ก็เป็นกองทุนที่เรียกว่าสามารถเอามาต้านทานเศรษฐกิจถดถอยแล้วก็ภาวะเงินเฟ้อสูงในฝั่งของสหรัฐได้เช่นเดียวกัน

  • คำแนะนำกลยุทธ์การลงทุนในระยะสั้นและระยะยาวควรลงทุนอย่างไร หรือมีความเสี่ยงอะไรที่ต้องติดตามอีกบ้าง  

ในส่วนของระยะสั้นก็คิดว่าควรจะระมัดระวังตัว แล้วก็โอกาสที่ทั้ง 3 อย่างนี้จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อสูง ไม่ว่าจะเป็นเฟดขึ้นดอกเบี้ย หรือว่าเศรษฐกิจที่มีโอกาสที่จะถดถอย คือ ถ้าเกิดขึ้นสิ่งที่จะเกิดตามมาก็คือ ฝั่งของสหรัฐโอกาสที่จะเห็นหุ้นนิวไฮหรือว่าปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องมันก็จะน้อยลง เพราะฉะนั้น กลยุทธ์ที่ดีที่สุดในการลงทุนระยะสั้นก็ยังเชื่อว่าเป็นกลยุทธ์ที่ซื้อขายในกรอบ เรายังไม่ซื้อตอนที่ขึ้นจะลงทุนตอนที่หุ้นมีการปรับฐานหรือปรับตัวลงมา แล้วพอขยับตัวขึ้นไปในช่วง 3–6 เดือน ก็อาจจะมีการ Take Profit แล้วก็ขายลงมาได้ ซึ่งกลุ่มที่ค่อนข้างเกี่ยวข้องก็จะเป็นพลังงานหรือว่ากลุ่มธนาคารตรงนี้ก็ถือว่าน่าสนใจ

แต่ถ้าเกิดเรามองใน long-term หรือว่าการลงทุนระยะยาวจริง ๆ ก็คิดว่าจุดเด่นของตลาดสหรัฐที่ที่อื่นไม่มีเลย แล้วก็มีสหรัฐมีอยู่ที่เดียวก็คือ เรื่องของการพัฒนาในด้านของเทคโนโลยี ระยะสั้นยังไงก็ต้องโดนกดดันด้วยภาพเงินเฟ้อ ด้วยภาพดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับตัวสูงแน่นอน ก็จะเป็นโอกาสของนักลงทุนระยะยาวที่จะสามารถเก็บหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีแห่งอนาคต ราคาถูก ๆ ได้ แต่ว่าไม่ต้องรีบร้อนรอให้ภาพรวมความเสี่ยงเห็นชัดว่าเงินเฟ้อ แล้วก็นโยบายการเงินจะไปหยุดตรงไหนก่อน ก็ค่อย ๆ ทยอยสะสมเพื่ออนาคตได้