พลังงานแพง-เงินเฟ้อพุ่ง เศรษฐกิจยุโรปจะไปทางไหน ?

เปิดมุมมองเศรษฐกิจ-การลงทุนยุโรป ท่ามกลางพลังงานแพงและเงินเฟ้อพุ่ง กับ “ประกิต สิริวัฒนเกตุ” กรรมการผู้จัดการ บลจ.เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ จำกัด

วันที่ 18 เมษายน 2565  ท่ามกลางเงินเฟ้อยุโรปที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในประวัติศาสตร์ จากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน   อาจกดดันให้อีซีบีหรือธนาคารกลางยุโรป ต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ  จากความกังวลเหล่านี้ ทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นยุโรปจนดิ่งลงต่ำสุดในรอบ 1 ปี แต่ความตึงเครียดในสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่รู้จุดจบ  ทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปจะเป็นอย่างไรต่อไป

วันนี้เราจะคุยกันในประเด็นการลงทุนทองคำท่ามกลางสงครามและเงินเฟ้อ กับ ” ประกิต สิริวัฒนเกตุ”  กรรมการผู้จัดการ บลจ.เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ จำกัด มานำเสนอ

  • ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องของเงินเฟ้อ เรื่องของผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันให้อีซีบีต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีมุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจยุโรปอย่างไร?

ปี 2022 ก็มีการคาดการณ์ Real GDP (มูลค่าตามราคาคงที่) ของยุโรปอยู่ที่  3.1% จะเห็นได้ว่าจะเริ่มลดลงจากปี 2021 ที่เติบโต 5.3%  ปีหน้า 2023  ก็จะเหลือเพียงแค่ 2.5% ปี 2024 ก็พูดง่าย  ๆ ว่าเติบโตในอัตราที่ช้าลง  ที่นี้ถ้ามีเรื่องของรัสเซีย-ยูเครนเข้ามา GDP ของยุโรปก็มีโอกาสที่จะดรอปลง อย่างน้อย ๆ ถึง -0.5% จากกรณีฐาน (baseline)  จากกรณีฐานก็คือจากที่คาดการณ์ไว้ 3.1%  อาจจะเหลือเพียงแค่ 2-2.5%  ในการเติบโตในปีนี้เท่านั้นอกจากนั้นปัญหาปัจจุบันที่มันเกิดเรื่องของสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนนำไปสู่เรื่องของการแซงก์ชั่น  มาตรการในการคว่ำบาตรต่าง ๆ  มันทำให้การนำเข้าพลังงานไม่ง่ายเหมือนเดิม

ปัญหาตรงนี้ได้ทำให้ราคาแก๊สในยุโรปพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงมาก ซึ่งตอนนี้ทางยุโรปเขายังเป็นช่วงฤดูหนาว ความต้องการใช้แก๊สธรรมชาติ ความต้องการใช้น้ำมันมันสูงมาก และยังมามีปัญหาเรื่องรัสเซีย-ยูเครนเพราะฉะนั้นเงินเฟ้อเลยพุ่งรุนแรง ตัวเลขนี้ก็เป็นยูโรโซนมีการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อออกมาแล้วล่าสุด ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)  ปีต่อปี (YOY) ก็คือเงินเฟ้อตัว Consumer Price Index มันพุ่งขึ้นมาถึง 7.5% เหนือกว่าที่คาดการณ์อยู่ที่ 6.7% และก็มากกว่าเดือนที่แล้วอยู่ที่ 5.8% อันนี้เป็นตัวเลข CPI ของเดือน มี.ค.

ถามว่าน่ากลัวขนาดไหน น่ากลัวขนาดที่ว่ากรรมการในบอร์ดของอีซีบีถึงขนาดออกมาสั่น ถึงขนาดออกมาบอกว่ามีโอกาสสูงมากที่อีซีบีอาจจะต้องขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายไตรมาส 3  นี้ เช่นเดียวกับกรรมการอีกท่านหนึ่ง คุณ Vasle ส่วนเมื่อสักครู่เป็นคุณ  Klaas Knot ซึ่งคุณ  Vasle  บอกว่าได้เวลาแล้วที่เราจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย  ถ้าเราไปดูกันที่ตัวแม่ตัวประธานอีซีบี เราจะพบว่าเขาก็บอกเองว่าตอนนี้อีซีบีต้องการออปชั่นต่าง ๆ มากมาย  คำว่าต้องการออปชั่นหมายความว่าต้องการทางเลือก เพราะว่าตอนนี้เกิดความไม่แน่นอนของสถานการณ์หลายอย่างมาก เพราะฉะนั้นอีซีบีต้องเปิดกว้างให้กับตัวเองว่าพร้อมที่จะขึ้นดอกเบี้ย  พร้อมที่จะใช้นโยบายการเงินตึงตัวเพื่อคุมเงินเฟ้อเพราะสถานการณ์มันไม่แน่นอน

ซึ่งจากรายงานการประชุมก่อนหน้านี้เขาก็ชัดเจนเองว่า 1.จากเดิมที่เคยคิดว่าจะยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) ในเดือน มี.ค. และไปยุติการซื้อพันธบัตรภายใต้โครงการ Asset Purchase Programme (APP)  คือต้องเข้าใจก่อนนะว่าวิธีการปั๊มเงินของอีซีบี สมัยก่อนจะเป็นโปรแกรมเดิมเรียกว่า APP  หรือ Asset Purchase Programme  แต่พอว่าเจอเรื่องของโควิด-19 การเข้าซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ เพิ่มความพิเศษมากขึ้น เพิ่มไซซ์เงินมากขึ้นเลยเรียกว่า PEPP

ซึ่ง PEPP โปรแกรมของมันไซซ์จะใหญ่ถึง 1.22 ล้านล้านยูโร  มันยุติไปแล้วตอนเดือน มี.ค. พอยุติไปแล้วก็จะเหลือแต่ตัว APP ที่เข้าซื้อสินทรัพย์ต่อ  เขาก็เคยมีการคาดการณ์ว่าตัว PEPP จากเดิมที่ซื้ออยู่ที่เดือนละประมาณราว ๆ 4 หมื่นล้านยูโร  อาจจะซื้อไปอีกตลอดไตรมาส 2  ไปเหลือ 3 หมื่นล้านยูโรตอนไตรมาส 3 และก็ไปเหลือ 2 หมื่นล้านยูโรตอนไตรมาส 4  แต่ตอนนี้ไม่ใช่ อีซีบีบอกว่าให้ เม.ย.เหลือซื้อเพียงแค่ 3 หมื่นล้านยูโร  พ.ค.เหลือ 2 หมื่นล้านยูโร มิ.ย.ให้หมดไป  นั่นหมายความว่าร่นระยะเวลาให้มากขึ้นพร้อมทั้งเปิดโอกาสตัวเองในการที่จะขึ้นดอกเบี้ย

นี่คือภาพของอีซีบีที่ว่าเงินเฟ้อมันกำลังแรงมากและบีบทำให้การดำเนินนโยบายกำลังเปลี่ยนไปแบบฉับพลัน  ตอนนี้คนที่เปลี่ยนท่าทีแล้วแน่ ๆ ก็คือเฟด มันเลยจะยิ่งเป็นไปไม่ได้ที่อีซีบีจะไม่เปลี่ยน   เพราะถ้าอีซีบีเกิดไม่เปลี่ยนมันจะเป็นทิศทางการขัดแย้งกับทางด้านธนาคารกลางสหรัฐ มันจะเกิดเหตุการณ์กระแสเงินไหลออกอย่างรุนแรงอีก ค่าเงินยูโรจะยิ่งอ่อนค่า พอค่าเงินยูโรอ่อนค่าการนำเข้าพลังงานยิ่งแพงมากขึ้น เงินยิ่งเฟ้อขึ้นอีก

ซึ่งมันจะเห็นได้ชัดว่าตอนนี้ทิศทางของค่าเงินยูโรกำลังปรับแข็งค่ามากขึ้นจากรูปนี้นั้นหมายความว่าตลาดกำลังตอบรับและรับรู้แล้วว่าอีซีบีจะไม่ดำเนินนโยบายที่ฉีกห่างไปจากสหรัฐ ยังไงก็ต้องใช้นโยบายการเงินตึงตัวเกิดขึ้น  ฉะนั้นค่าเงินยูโรจึงกล้าแข็งค่า พร้อม ๆ กับที่ค่าเงินดอลลาร์เริ่มมีอ่อนค่าลงมาบ้าง ทรงที่มันเป็นแบบนี้ก็เป็นตัวยืนยันได้ว่าเราจะหนีไม่พ้นการใช้นโยบายการเงินตึงตัวของอีซีบีเกิดขึ้นแน่ ๆ

เพียงแต่ว่าไม่น่าจะหนักเท่าของเฟด พอไม่น่าจะหนักเท่ากับของเฟดตลาดหุ้นในยุโรปก็ไม่น่าจะซบเซานาน อาจจะไม่ได้ขึ้นโดดเด่นอะไร แต่ด้วยความที่ลงไปก่อนหน้านี้ตามความกังวลเรื่องของสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนมันก็อาจจะไม่ได้ลงไปมากกว่านี้เท่าไหร่  ภายใต้สถานการณ์การเงินตึงตัวมันไม่เอื้ออำนวยต่อหุ้นอยู่แล้ว เพียงแต่อีซีบีไม่น่าเล่นหมัดหนักเท่าเฟด หุ้นยุโรปก็เลยไม่น่าจะน็อกเยอะมาก อาจจะเป็นไซด์เวย์ออกข้างไป

  • สามารถที่ทยอยจะลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปได้อยู่ใช่ไหม ?

ราคาปัจจุบันที่ว่าน่าสนใจในการเก็บสะสมไว้ระยะยาว มันถือว่าถูกเพราะมันลงตั้งแต่ต้นปีแล้วเกือบ 20%  หุ้นยุโรปดูดี ๆ นี่คือปรับลงไปต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโควิด-19 อีก ดังนั้นถ้าเทียบกันตามการประเมินมูลค่า ราคาของหุ้นยุโรปตอนนี้ถูกกว่าทางของสหรัฐเยอะมาก   ในขณะเดียวกันหุ้นยุโรปมันลงมาต่ำอยู่ที่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ส่วนสหรัฐก็ปรับลงมาเหมือนกันและยังไกลมาก เพราะเขาขึ้นไปเหนือกว่าก่อนเกิดโควิด-19 เยอะมาก มันมีการปั่นหุ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเยอะ  ดังนั้นถ้าให้พูดคือหุ้นยุโรปดูน่าสนใจกว่าหุ้นสหรัฐ

  • ถ้าจะลงทุนในยุโรป  เราควรเลือกเซ็กเตอร์ไหนหรือว่าเลือกการลงทุนอย่างไรดี

ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันโลกเรากำลังเจออยู่ 2 เรื่องใหญ่ ๆ ก็คือเงินเฟ้อพุ่งแรงกับเศรษฐกิจมีความเสี่ยงที่จะหดตัว ภายใต้สถานกาณ์นี้ก็คือยุคข้าวยากหมากแพง เราก็ควรต้องเน้นเซ็กเตอร์ที่จำเป็นที่อยู่กับสินค้าและก็บริการที่จำเป็น ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่พวก nondurable goods ก็คือพวกสินค้าไม่คงทนพวกอาหาร พวกของข้าวของอุปโภคบริโภค เราต้องเน้นไปทางด้านเซ็กเตอร์พวกนั้นก็จะปลอดภัย

ในอดีตมีผลการทดสอบออกมาค่อนข้างชัดว่าในช่วงเวลาที่เกิดเงินเฟ้อรุนแรง เศรษฐกิจมีภาวะซบเซา กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอุปโภคบริโภค ก็คือกลุ่มค้าปลีก หรือกลุ่มที่สามารถผลักภาระสามารถขึ้นค่าบริการกลุ่มพวกนี้จะเอาตัวรอดได้ เช่น กลุ่มเฮลท์ กลุ่มโรงพยาบาล หรือแม้กระทั้งกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในบางช่วงเวลาก็อาจจะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้นก็เป็นได้ แต่ก็จะถูกกดดันด้วยเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัว

ดังนั้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์มีไว้ สำหรับถ้าจะเข้าไปเก็บคือเก็บเพื่อระยะยาว แต่ถ้าจะเก็บเพื่อประคองพอร์ตต้องเน้นค้าปลีกกับโรงพยาบาล  ผมก็มองว่าถ้าในแง่ของคนไทยถ้าจะลงทุนในหุ้นยุโรปตอนนี้ ถ้ามองว่าจะเป็นโอกาสอาจจะเน้นไปที่กองทุนรวมหุ้นยุโรป ที่เน้นไปที่หุ้นใหญ่ที่น่าจะมีอัตราการเติบโตที่แข็งแกร่งในอนาคต จังหวะการลงทุนน่าจะเป็นโอกาสในปีนี้