กอบศักดิ์ เตือนศรีลังกาแค่หนังตัวอย่าง ตลาดเกิดใหม่สะสมความเปราะบาง

REUTERS/Dinuka Liyanawatte

“กอบศักดิ์” มองวิกฤต “ศรีลังกา” เป็นหนังตัวอย่างที่เจอปัญหาหนี้รัฐบาล-ครัวเรือนทะลุเพดาน ชี้ ประเทศตลาดเกิดใหม่ต้องเจอในไม่ช้า หลังผลกระทบโควิด 

วันที่ 15 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ โพสต์เฟซบุ๊กบัญชีชื่อ “Kobsak Pootrakool” ระบุว่า

จากวิกฤตสู่วิกฤต

ศรีลังกาเป็นเพียงประเทศแรก ๆ ใน Emerging markets ที่เข้าสู่วิกฤตในรอบนี้

เป็นเพียงหนังตัวอย่าง ที่ยังมีอีกหลายประเทศ ที่จะประสบปัญหาเศรษฐกิจ (แต่คงใช้เวลาอีกระยะ)

ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะว่า ระหว่างสองปีที่ผ่านมา ทุกประเทศทั่วโลกต้องต่อสู้กับการแก้ไขปัญหาโควิด

รัฐบาลใช้เงินไปมากในการเยียวยา ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในการจัดซื้อวัคซีน และการให้บริการสาธารณสุขกับประชาชนของตนเอง

ระดับหนี้ของรัฐบาลจึงเพิ่ม ทะลุเพดานหนี้ที่เหมาะสม

ด้านเอกชน SME ก็ลำบากกันทั่ว จากยอดขายที่ลดลง จากหนี้ที่ต้องก่อ เพื่อหาสภาพคล่องมาประคองธุรกิจ

ส่วนประชาชนที่หาเช้ากินค่ำ ก็มีหนี้เพิ่มพูน จนระดับหนี้ครัวเรือนของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก ทำให้ Emerging Markets หลาย ๆ ประเทศ สะสมความเปราะบางเพิ่มขึ้น เข้าสู่จุดคับขัน

ที่น่าหนักใจที่สุด ก็คือ ปกติแล้วหลังวิกฤต เราจะมีช่วงดี ๆ อย่างน้อย 2-3 ปี ให้เคลียร์ปัญหาต่าง ๆ ที่สะสมขึ้น เศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ทำให้พี่น้องประชาชนมีรายได้ ร้านค้าค้าขายดี รัฐบาลเก็บภาษีได้

ทั้งหมดช่วยให้ระดับหนี้ของภาครัฐ เอกชน ประชาชน ลดลง ทำให้ทุกคนฐานะการเงินเข้มแข็งขึ้น สามารถสะสมเงินออมอีกรอบ พร้อมรับกับวิกฤตรอบถัดไป

อย่างไรก็ตาม ที่บอกว่าน่าหนักใจมากรอบนี้ ก็เพราะเรากำลังจะออกจากวิกฤตหนึ่ง แต่จะเข้าสู่อีกวิกฤตทันที

ช่วงเวลาดีดี ไม่ได้มาอย่างเคย!!!

ไม่มีเวลาหายใจ

ทำให้ทุกประเทศเข้าสู่อีกช่วงของความท้าทาย โดยที่ทุกคนมีความเปราะบางทางการเงินอย่างยิ่ง

ยิ่งเงินเฟ้อสูงเป็นพิเศษจากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยิ่งเฟดต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย ผลกระทบต่อ Emerging Markets ก็จะยิ่งแรงกว่าปกติ

หลายคนที่ปริ่มน้ำอยู่แล้ว อาจจมน้ำได้

ศรีลังกาจึงเป็นกรณีศึกษา ที่เป็นบทเรียนให้กับทุกคน

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก กอบศักดิ์ ภูตระกูล

ก่อนโควิดระบาด ศรีลังกาได้ลงทุนในโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ ที่ชอบเรียกกันว่า “โครงการช้างเผือก” ได้สร้างหนี้ให้กับรัฐบาล ทำให้ฐานะของรัฐบาลอ่อนแอลง ทั้งในเรื่องของท่าเรือ สนามบิน โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศ

อย่างไรก็ตาม หลังเกิดโควิด โครงการเหล่านี้ ไม่ได้ส่งผลตามหวัง นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องมีภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก จากการดูแลเศรษฐกิจในช่วงโควิด

รัฐบาลขาดดุลการคลังประมาณร้อยละ 10% ของ GDP ระหว่างปี 2019-21

ทำให้หนี้ของรัฐบาลกลางเพิ่มขึ้นจาก 78% ของ GDP เป็นประมาณ 107% ของ GDP ในสามปีสุดท้าย

นอกจากนี้ ในช่วงปลายปี 2021 ก็เริ่มขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ประมาณไตรมาสละ 1 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลกระทบต่อเงินสำรองระหว่างประเทศ

เราจะเห็นในภาพด้านล่างว่า เงินสำรองระหว่างประเทศของศรีลังกา ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจากที่มีอยู่ 8 พันล้านดอลลาร์ สรอ ในปี 2020 ล่าสุดเหลือแค่ประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

ส่วนหนึ่ง เงินสำรองคงถูกใช้ในการดูแลค่าเงินให้อยู่ที่ประมาณ 200 รูปี/ดอลลาร์ (เพราะค่าเงินรูปีนิ่งมากในช่วงที่ผ่านมา)

แต่ท้ายสุด ชัดเจนว่าคงเอาไม่อยู่ ธนาคารกลางศรีลังกาจึงเริ่มปล่อยให้ค่าเงินอ่อนลงตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคมเป็นต้นมา ทำให้ค่าเงินอ่อนยวบลงไปที่ 323 รูปี/ดอลลาร์ หรือ ลดลงประมาณ 40%

ธนาคารกลางจึงต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งเดียว 7% (Standing lending rate) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จาก 7.5% เป็น 14.5%

เพื่อสู้กับเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงจาก 5% เมื่อปีที่แล้ว เป็น 18.7% และดูแลการอ่อนลงของค่าเงิน

ล่าสุด กำลังติดต่อกับ IMF เพื่อให้เข้ามาช่วยดูแลปัญหา สร้างเสถียรภาพให้กับค่าเงิน และเพิ่มเงินสำรอง

เพราะถ้าไม่เร่งแก้ไข ต่อไป ศรีลังกาจะมีปัญหาอย่างยิ่งในการนำเข้าอาหาร พลังงาน ยารักษาโรค และนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองและสังคมต่อไป

ขอเป็นกำลังใจให้ศรีลังกาครับ

ภาพประกอบจากเพจเฟซบุ๊ก กอบศักดิ์ ภูตระกูล