นโยบายการเงิน VS การคลัง เสียงเตือนที่ต้องรับฟัง

ธนาคารแห่งประเทศไทย
FILE PHOTO : REUTERS/Chaiwat Subprasom/File Photo
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : อำนาจ ประชาชาติ

เสียงออกมาท้วงติงของอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงความเสี่ยงจากการจัดทำนโยบายงบประมาณขาดดุลของรัฐบาล

โดย “ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์” อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ ช่วงปี 2540-2541 บอกว่า ผู้ว่าการแบงก์ชาติในปัจจุบันคงต้องออกแรง “เตือน” รัฐบาลในเรื่องนี้มากขึ้น ต้องพยายามทำหน้าที่ให้มากที่สุด

และต้องพิจารณาว่าหากเมื่อไหร่มีความจำเป็นชัดเจนว่า ธปท.จะต้องทำนโยบายเข้มงวด แบบที่คนอื่นไม่ชอบ ก็ต้องใจแข็งที่จะทำ เพราะ ธปท.เป็นด่านสุดท้าย หากไม่เตือน ก็ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะตกเหวไปอยู่ที่ไหน

“ภาครัฐตอนนี้ ผมมองว่าได้ทำอะไรต่อเนื่องกันมา จนทำให้คนเชื่อว่า ประชานิยมเป็นเรื่องธรรมดา มีอะไรก็ใช้จ่ายไปเยอะแยะ เอาเข้าจริง ๆ ฐานะการคลังตอนนี้ก็ยังซ่อนสิ่งที่เป็นปัญหาระยะยาวไว้เยอะแยะมาก เมื่อไหร่การคลังไม่สามารถดูแลตัวเองให้ดีกว่านี้ ภาระก็จะตกมาที่นโยบายการเงิน” ดร.ชัยวัฒน์กล่าว

ขณะที่ “ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล” อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ ดำรงตำแหน่งช่วงปี 2544-2549 ก็เสริมว่า นโยบายการคลังขณะนี้ เหมือนไม่มีนโยบาย มีแต่ใช้เงินไปเรื่อย ๆ ไม่ได้คิดว่าจะขาดดุลไปสักเท่าไหร่ แล้วจะขาดดุลในน้ำหนักแค่ไหนถึงจะเพียงพอ

“เรื่องนี้อยู่ที่ผู้นำรัฐบาลมากกว่าที่จะคิดเรื่องนี้หรือไม่” คุณชายอุ๋ยกล่าว

อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างกระทรวงการคลังก็พากันออกมาอธิบายเรื่องนี้หลังจากนั้น

โดย “คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ขุนคลัง บอกว่า ทุกวิกฤตต่างก็ต้องมีการใช้เงิน ทำให้จำเป็นต้องทำงบประมาณขาดดุล ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับประเทศอื่น ๆ เช่นเดียวกับหนี้สาธารณะที่ต้องปรับเพดานขึ้นเหมือนในอดีต แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ก็ปรับเพดานลงมา

“เรื่องที่จำเป็นต้องทำ และในอดีตก็ไม่มีการทำ คือ การปรับโครงสร้างประเทศในด้านการจัดเก็บรายได้จากภาษี ซึ่งที่ผ่านมาไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง มีแต่การทำนโยบายลดอัตราภาษี เช่น ภาษีนิติบุคคล ที่จำเป็นต้องปรับลดลงมา เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้” นายอาคมระบุ

ส่วน “คุณกฤษฎา จีนะวิจารณะ” ปลัดกระทรวงการคลัง ตอบกลับว่า ในช่วงวิกฤตนโยบายการเงิน ก็ควรมาช่วยนโยบายการคลังในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนนโยบายการเงินจะต้องทำอะไรเพิ่มอีกหรือไม่นั้น ไม่ขอพูด แต่ก็ถือเป็นการส่งสัญญาณเล็ก ๆ ไปถึง ธปท.

เห็นด้วยว่า นโยบายการเงินก็ต้องมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และอาจจะมีอะไรทำได้อีก นอกเหนือไปจากการชะลอขึ้นดอกเบี้ย

อย่างไรก็ดี ก็ต้องยอมรับด้วยว่า ประเทศไทยมีการขาดดุลงบประมาณมาอย่างต่อเนื่องยาวนานจริง และเป็นปัญหาที่ต้องเร่งหาทางแก้ไข

คุยกับ “ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ก็บอกว่า สิ่งที่ต้องทำก็คือ การปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ โดยเก็บภาษีให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยเฉพาะจากคนที่ยังอยู่นอกระบบ หรือคนที่เสียภาษีไม่ถูกต้อง ซึ่งประเทศไทยยังมีแบบนี้อยู่อีกเยอะ

ขณะเดียวกันก็ต้องหาทางลดรายจ่ายต่าง ๆ ลงด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ยาก เพราะโครงสร้างงบประมาณของไทยมีงบฯประจำอยู่ถึง 80% ในจำนวนนี้ งบฯด้านสวัสดิการต่าง ๆ ก็โตขึ้นเรื่อย ๆ เพราะไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย


ฟังดูแล้วเป็นเรื่องยาก จะทำได้ต้องอาศัยความกล้าหาญของรัฐบาล ซึ่งยังไม่รู้ว่าชุดไหนเหมือนกัน