“หม่อมอุ๋ย” เล่า 3 เรื่องท้าทาย สมัยนั่งเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ปี’44

หม่อมอุ๋ย
FILE PHOTO : ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

“หม่อมอุ๋ย” เล่า 3 เรื่องท้าทาย สมัยนั่งเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ปี’44 หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง โจทย์ใหญ่ดึงความเชื่อมั่น ธปท. กลับมา

วันที่ 6 เมษายน 2565 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานเสวนา “เหลียวหลัง แลหน้า ผู้ว่าการ ธปท.” เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย ว่า หากย้อนถึงอดีต ซึ่งได้เข้ามารับตำแหน่งในปี 2544 เป็นช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540

ขณะนั้นความเชื่อมั่นและความศรัทธาใน ธปท. ค่อนข้างตกต่ำ จากก่อนหน้าที่จะมีวิกฤตต้มยำกุ้งผู้คนมีความเชื่อมั่นใน ธปท. เป็นอย่างมาก โดยช่วงปลายปี 2544 ได้มีการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่น ธปท. มีเพียง 10% เท่านั้น ที่มีความเชื่อมั่น และอีก 90% ไม่มีความเชื่อมั่น ธปท. เลย ดังนั้น โจทย์หลักในการเข้ามาทำงาน จึงมีเป้าหมายเรียกความเชื่อมั่นและศรัทธาของ ธปท. กลับมา

โดยในเดือนมีนาคม 2545 ได้รับรายงานว่า ธนาคารศรีนคร มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สูงถึง 80% ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยรับต่ำกว่าดอกเบี้ยจ่ายมาก ขาดทุนอย่างมหาศาลทุกเดือน หากปล่อยไว้ไม่กี่เดือนธนาคารก็คงจะล้ม และหากแบงก์ล้มก็อาจจะมีการถอนเงินฝาก ลุกลามไปถึงสถาบันการเงินอื่นได้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการรวมแบงก์กับธนาคารอีกหนึ่งแห่ง

นั่นก็เป็นธนาคารนครหลวงไทย ที่รัฐถือหุ้น 100% เช่นเดียวกัน โดยโจทย์หลักในการรวมแบงก์ครั้งนั้น จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการถอนเงินจากธนาคารออกไป ซึ่งภายใน 1 วัน สามารถดำเนินการได้ และเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนกลับมาได้

ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2545 กองทุนฟื้นฟูได้สรุปยอดทางการเงินที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินที่ล้มลง พบว่าใช้ไปกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งในส่วนนั้นก็มีความเสียหายเกิดขึ้นแล้วส่วนหนึ่ง ขณะนั้นก็มีการออกพันธบัตรมาล้างหนี้แล้วกว่า 5-6 แสนล้านบาท แต่ยังเหลืออีก 7.8 แสนล้านบาท ที่ยังเป็นหนี้ที่ยังหมกอยู่ โดยมีโอกาสเป็นหนี้เสียพุ่งถึง 3 แสนล้านบาท หากต่างชาติรู้ข่าว เครดิตประเทศไทยเสียแน่นอน

จึงได้ออกพันธบัตรออมทรัพย์ 3 แสนล้านบาท มาล้างหนี้ ใช้ชื่อว่า “พันธบัตรช่วยชาติ” โดยขอความร่วมมือกับสถาบันการเงินในการขาย ผ่าน 4,000 สาขาทั่วประเทศ จากเดิมคาดว่าจะขายหมด 1 เดือนกว่า แต่เมื่อเปิดจำหน่ายแล้วเพียงวันเดียว สามารถขายได้กว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งทำได้เร็วกว่าคาด และเรื่องนี้ก็เป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศ และช่วงปลายปี 2545 จึงมีการสำรวจความเชื่อมั่น ธปท. อีกครั้ง พบว่า จาก 2 เหตุการณ์ดังกล่าว จากไม่เคยเชื่อมั่น ธปท. 90 % ลดเหลือ 30% จากเชื่อมั่นเพียง 10% เพิ่มเป็น 70%

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวอีกว่า และปี’46 พบว่าธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อไม่ชอบมาพากล ซึ่งเป็นการปล่อยสินเชื่อไปใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ จึงตัดสินใช้ฟ้องคณะกรรมการบริหาร ปรากฏว่า มีกระบวนการที่จะล้มผู้ว่าการ ธปท. ให้ได้ โดยมีการปล่อยข่าวในตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ผู้ว่าการ ธปท. สั่งให้กองทุนฟื้นฟูขายหุ้นของกรุงไทย จนหุ้นตก

ทั้งนี้ จึงได้มีการออกมาแถลงข่าวว่า การที่มีข่าวผู้ว่าการธปท. สั่งกองทุนฟื้นฟูขายหุ้นไม่เป็นความจริง โดยได้แจกแจงจำนวนหุ้น และกล่าวถึงฐานะธนาคารกรุงไทยว่ามีความแข็งแรงอย่างไร หลังจากนั้นการขายหุ้นของกรุงไทยกลับมาที่เดิมได้ทันที ทั้งนี้ ความเชื่อมั่น ธปท. ก็กลับมา โดยช่วงสิ้นปีมีการสำรวจความเชื่อมั่นอีกครั้ง พบว่า ความเชื่อมั่นเพิ่มจาก 70% เป็น 90%