มุมคิด 6 อดีตผู้ว่าการ ธปท. ตีโจทย์แก้ปม ศก.ไทย-เบรก “ประชานิยม”

ผู้ว่า ธปท.

ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ท้าทายการดำเนินนโยบายในแต่ละยุคแตกต่างกันไป นับเป็นโอกาสดีที่ในวาระครบรอบ 80 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดงาน “เหลียวหลัง แลหน้า กับผู้ว่าการ ธปท.” โดยเชิญอดีตผู้ว่าการ ธปท.แต่ละยุคสมัยรวม 6 ท่าน มาร่วมถอดบทเรียน พร้อมเสนอแนะหลักคิดการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อรับมือวิกฤตไว้อย่างน่าสนใจ

โจทย์ใหญ่เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว

โดย “ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์” กล่าวว่า ปัจจุบันมีความท้าทายที่มาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะดิจิทัลเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดเครื่องมือหรือแนวทางใหม่ ๆ อยู่เสมอ ซึ่งข้อดีคือช่วยตอบสนองความต้องการของคนในยุคปัจจุบัน และหลายเรื่องก็เป็นทางเลือกที่ใช้การได้ แต่ในฐานะ ธปท.สิ่งสำคัญคือต้องมองไปข้างหน้า

“การทำงานของ ธปท.ในอนาคตอาจจะยากลำบากขึ้น เพราะจะมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น อย่างปัจจุบัน ธปท.กับวงการตลาดทุนและประกันภัย ก็มีความร่วมมือกันหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่หน่วยงานเหล่านี้เปิดใจทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น”

“ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล” กล่าวว่า ทีมงาน ธปท.ในปัจจุบันถือว่ามีความรู้ที่ทันสมัย และดูแลในเรื่องเทคโนโลยีได้ดี ซึ่งตนรู้สึกชอบทัศนคติของทีมงาน ธปท.ในเรื่องคริปโตเคอร์เรนซีเป็นอย่างยิ่ง ที่มีการห้ามไม่ให้ใช้ชำระสินค้าและบริการรวมถึงอีกหลาย ๆ อย่าง และพยายามจะพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลขึ้นมา ซึ่งอยากฝากให้ทำให้เร็วกว่าแผนที่วางไว้ เพราะจะเป็นตัวป้องกันไม่ให้เกิดคริปโตเคอร์เรนซีขยายเข้าไปในวงการค้าได้

ขณะที่ “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” กล่าวว่า หากมองอดีตที่ผ่านมาก็มีความก้าวหน้าในเทคโนโลยีในประวัติศาสตร์ของมนุษย์อยู่ไม่รู้จบ ดังนั้น สิ่งที่เห็นทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีดิจิทัลที่ประยุกต์มาเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซีก็แค่เป็นฉากหนึ่ง ซึ่งในวันข้างหน้าก็จะมาอีกแบบหนึ่ง เป็นความท้าทายไม่รู้จบ แต่หลักก็คือ leadership (ภาวะผู้นำ) ขององค์กรก็คือ 1.อย่าไปจมอยู่แต่กับความสำเร็จในอดีต 2.การรู้ก่อนดีกว่าที่จะรอให้คนอื่นมาปรับเปลี่ยน และ 3.การใช้ประโยชน์จากเรื่องความหลากหลาย

“พวกนี้ล้วนเป็นคุณสมบัติที่พึงอยากเห็น ไม่ว่าจะระดับรายบุคคลหรือระดับกลุ่ม เพราะไม่ว่าจะคริปโตเคอร์เรนซี สินทรัพย์ดิจิทัล บิตคอยน์ อะไรพวกนี้เป็นแค่จุดเล็ก ๆ ในประวัติศาสตร์ ซึ่งจะมีจุดใหม่ ๆ มาเรื่อย ๆ แต่ถ้าเราจับหลักให้ได้ก็จะมีหลักคิดที่จะเผชิญกับความท้าทายเหล่านี้ได้”

ต้องกล้าเบรกประชานิยมก่อน “ตกเหว”

นอกจากนี้ “ดร.ชัยวัฒน์” ยังฝากถึง ธปท.ยุคปัจจุบันว่า การเงินการคลังภาครัฐขณะนี้น่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะมีการขาดดุลงบประมาณติดต่อกันมายาวนาน และภาระหนี้ก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในอดีตจะพูดกันถึงการคลังที่ยั่งยืน เมื่อมีการขาดดุลมากก็ต้องเร่งแก้ไข แต่ภาครัฐตอนนี้ได้ทำอะไรต่อเนื่องกันมาจนทำให้คนเชื่อว่าประชานิยมเป็นเรื่องธรรมดา

“เอาเข้าจริง ๆ ฐานะการคลังตอนนี้ก็ยังซ่อนสิ่งที่เป็นปัญหาระยะยาวไว้เยอะแยะมาก เมื่อไหร่การคลังไม่สามารถดูแลตัวเองให้ดีกว่านี้ ภาระก็จะตกมาที่นโยบายการเงิน แล้วหลายเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้น ต้นเหตุอยู่ที่เรียลเซ็กเตอร์ หรือคนอื่นเป็นคนทำ เสร็จแล้วก็มาโผล่ที่การเงิน ว่าการเงินไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งเราอยู่ปลายเหตุ แต่ก็ต้องรับภาระ ดังนั้น ธปท.ก็ต้องพยายามออกแรงโดยผู้ว่าการ ธปท.ก็ต้องพยายามพูดคุยกับรัฐบาล และหากเมื่อใดมีความชัดเจนว่าจะต้องทำนโยบายเข้มงวดแบบที่คนอื่นไม่ชอบ ก็ต้องใจแข็งที่จะทำ เพราะหาก ธปท.ไม่เป็นด่านสุดท้ายเศรษฐกิจก็อาจจะตกเหวได้”

“ดร.ชัยวัฒน์” กล่าวด้วยว่า ธปท.ต้องมีความเชื่อมั่นในหลักการที่ถูกต้อง มีจุดยืนและกล้าทำนโยบายที่ยากแม้ไม่เป็นประชานิยมแต่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม นอกจากนี้ นโยบายการเงินต้องมีหลายองค์ประกอบ ทั้งแง่ความพอดี ความสมดุล รวมถึงต้องมีความคล่องตัว

ขณะที่ “ม.ร.ว.ปรีดิยาธร” กล่าวเสริมว่า นโยบายการคลังขณะนี้เหมือนไม่มีนโยบาย มีแต่ใช้เงินไปเรื่อย ๆ ไม่ได้คำนึงว่าขาดดุลในน้ำหนักแค่ไหนถึงจะเพียงพอ ดังนั้น ประเทศชาติตอนนี้ต้องเน้นที่การมีนโยบายการคลังที่จริงจัง ส่วนนโยบายการเงินก็เดินตามเป้าหมายเงินเฟ้อต่อไป แต่ก็ต้องสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะถ้าไม่มีการเติบโตก็จะเก็บภาษีไม่ได้

“ปัญหาคือ ตอนนี้คนดำเนินนโยบายการคลัง เขาไม่ดำเนินนโยบายอย่างที่สมควร ถ้าดำเนินนโยบายการคลังอย่างที่ควร แล้วนโยบายการเงินสนับสนุนก็จะหมดปัญหาไป อยู่ที่ผู้นำรัฐบาลมากกว่าที่จะคิดเรื่องนี้หรือไม่คิด”

ประสานนโยบายการเงิน-การคลัง

“ม.ร.ว.ปรีดิยาธร” กล่าวอีกว่า อยากเน้นให้ ธปท.ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องคำนึงว่าจะไม่เป็นที่พอใจของผู้มีอำนาจและนักการเมือง แต่ไม่ได้หมายความว่า ทำตัวเป็นอิสระโดยไม่ฟังใคร แต่ต้องฟังความเห็นจากผู้ที่ทำงานเสริมสร้างเศรษฐกิจของหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย แล้วนำความเห็นมาคิดประกอบการทำนโยบาย โดยนโยบายการเงินจะต้องประสานกับนโยบายการคลัง เพื่อให้เกิดผลที่ดีที่สุดต่อเศรษฐกิจ ซึ่งผู้ว่าการ ธปท.ต้องประสานกับ รมว.คลังให้เข้าใจกันเป็นอย่างดี ไม่ควรทำตัวเหนือกระทรวงการคลัง แต่ก็ไม่ใช่ทำตามทั้งหมด

“ฝากด้วยว่า ธปท.ต้องถือว่าธนาคารพาณิชย์เป็นเหมือนลูก ๆ ไม่ใช่ศัตรู ถ้าผิดก็ลงโทษเพื่อให้ปรับปรุงให้ดี แต่ไม่ใช่ลงโทษเพื่อทำลาย ธนาคารพาณิชย์เป็นกำลังสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ธปท.ช่วยเศรษฐกิจไม่ได้ถ้าไม่มีธนาคารพาณิชย์ฝากไว้ด้วย”

ผนึกกำลังแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

“ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล” กล่าวว่า ในงานสัมมนาประจำปี ธปท.ควรมีเวทีรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลภายนอก เพราะจะทำให้ได้แนวคิดใหม่ ๆ จากทุกภาคส่วนเพื่อเปิดหูเปิดตา ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประเทศ

ดร.ธาริษา วัฒนเกส กล่าวว่า พันธกิจหลักของ ธปท. คือ การพัฒนาความอยู่ดีกินดีของประชาชนอย่างยั่งยืน ซึ่งหากมองย้อนหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก หลายประเทศใช้นโยบายการเงินในการปั๊มเงินออกมา ทำให้เกิดผลพวงมาสู่ปัจจุบัน ซึ่งเหมือนเป็น “ขว้างงูไม่พ้นคอ”

ดังนั้น หน้าที่ ธปท.ในช่วงที่เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทำงานไม่ได้ทุกตัว ต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าได้ ซึ่งต้องร่วมมือกับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งปัญหาเดิมที่มีอยู่แล้ว และปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้น เช่น ภาวะหนี้ครัวเรือน หรือปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และความเป็นอยู่ และ โจทย์การเปลี่ยนแปลงใหม่ เช่น เทคโนโลยีดิสรัปชั่น หรือการเปลี่ยนแปลงทางด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (ESG) ตลอดจนปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์

“ดร.วิรไท สันติประภพ” กล่าวว่า คุณค่าหลักของ ธปท. คือ “ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน” โดยต้องปรับบริบทตามสภาพแวดล้อม

ทั้งหมดนี้เป็นมุมคิดที่สะท้อนมาจากอดีตผู้ว่าการ ธปท. ที่เตือนให้เตรียมความพร้อมไว้ตลอดเวลา เพื่อรับมือวิกฤตระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา