3 อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ ติงรัฐบาลทำนโยบายการคลังขาดดุลยาวนาน-หนี้พุ่ง

อดีตผู้ว่าการ ธปท.สะท้อนการดำเนินนโยบายการเงิน-การคลังในงานครบรอบ 80 ปี แบงก์ชาติ 

วันที่ 4 เมษายน 2565 นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และอดีต รมช.คลัง กล่าวในงาน “เหลียวหลัง แลหน้า กับผู้ว่าการ ธปท.” ในโอกาสครบรอบ 80 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย ว่า

การเงินการคลังภาครัฐขณะนี้น่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะมีการขาดดุลงบประมาณติดต่อกันมายาวนาน และภาระหนี้ก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในอดีตจะพูดกันถึงการคลังที่ยั่งยืน เมื่อมีการขาดดุลมากก็ต้องเร่งแก้ไข แต่ตอนนี้ไม่มีภาวะขาดดุลแฝด เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล

“แต่ภาครัฐตอนนี้ ผมมองว่าได้ทำอะไรต่อเนื่องกันมา จนทำให้คนเชื่อว่า ประชานิยมเป็นเรื่องธรรมดา มีอะไรก็ใช้จ่ายไปเยอะแยะ เอาเข้าจริง ๆ ฐานะการคลังตอนนี้ก็ยังซ่อนสิ่งที่เป็นปัญหาระยะยาวไว้เยอะแยะมาก เมื่อไหร่การคลังไม่สามารถดูแลตัวเองให้ดีกว่านี้ ภาระก็จะตกมาที่นโยบายการเงิน”

“แล้วหลายเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้น ต้นเหตุอยู่ที่เรียลเซ็กเตอร์ หรือคนอื่นเป็นคนทำ เสร็จแล้วก็มาโผล่ที่การเงิน ว่าการเงินไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งเราอยู่ปลายเหตุ แต่ก็ต้องรับภาระ”

“ดังนั้นเราก็ต้องพยายามออกแรง ผู้ว่าการ ธปท.ก็ต้องพยายามพูดคุยกับรัฐบาล พยายามทำหน้าที่ของเราให้มากที่สุด แล้วถ้าเมื่อไหร่มีความจำเป็น ชัดเจนว่าเราจะต้องทำนโยบายเข้มงวด แบบที่คนอื่นไม่ชอบ ก็ต้องใจแข็งที่จะทำ เพราะถ้าไม่มีเรา (ธปท.) เป็นด่านสุดท้าย ก็ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะตกเหวไปอยู่ที่ไหน” นายชัยวัฒน์กล่าว

ส่วนสิ่งที่อยากฝากผู้บริหาร ธปท. ยุคปัจจุบัน นายชัยวัฒน์กล่าวว่า ต้องมีความเชื่อมั่นในหลักการที่ถูกต้อง มีจุดยืน และกล้าทำนโยบายที่ยาก ไม่เป็นที่นิยม แต่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

นอกจากนี้ นโยบายการเงินต้องมีหลายองค์ประกอบ ทั้งแง่ความพอดี ความสมดุล รวมถึงต้องมีความคล่องตัว

“สุดท้าย ผมคิดว่า เป็นหน้าที่คน ธปท.ที่ต้องสร้างองค์กรให้เป็นที่น่าเชื่อถือ ต้องพยายามให้มีบุคลากรที่เข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง และมีการสื่อสารที่ดีกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่เสมอ” นายชัยวัฒน์กล่าว

คุณชายอุ๋ยสะท้อน ต้องมีนโยบายการคลังเหมาะสม แล้วนโยบายการเงินสนับสนุน

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท. และอดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต รมว.คลัง กล่าวเสริมว่า นโยบายการคลังขณะนี้ เหมือนไม่มีนโยบาย มีแต่ใช้เงินไปเรื่อย ๆ ไม่ได้คิดว่าจะขาดดุลไปสักเท่าไหร่ แล้วจะขาดดุลในน้ำหนักแค่ไหนถึงจะเพียงพอ

“ประเทศชาติตอนนี้ ต้องเน้นที่การมีนโยบายการคลังที่จริงจัง นโยบายการเงินเองก็เดินตามเป้าหมายเงินเฟ้อต่อไป แต่ก็ต้องซัพพอร์ตการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจพอสมควร เพราะถ้าไม่มีการเติบโต ภาษีก็จะเก็บไม่ได้

ปัญหาคือ ตอนนี้คนดำเนินนโยบายการคลัง เขาไม่ดำเนินนโยบายอย่างที่สมควร ถ้าดำเนินนโยบายการคลังอย่างที่ควร แล้วนโยบายการเงินสนับสนุน ก็จะหมดปัญหาไป อยู่ที่ผู้นำรัฐบาลมากกว่าที่จะคิดเรื่องนี้หรือไม่คิด” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

นอกจากนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวด้วยว่า สิ่งที่อยากฝาก คือ อยากเน้นให้ ธปท. ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ไม่ต้องคำนึงว่าจะไม่เป็นที่พอใจของผู้มีอำนาจและนักการเมือง แต่ไม่ได้หมายความว่า ทำตัวเป็นอิสระโดยไม่ฟังใคร แต่ต้องฟังความเห็นจากผู้ที่ทำงานเสริมสร้างเศรษฐกิจของหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย แล้วนำความเห็นมาคิดประกอบการทำนโยบาย

“นโยบายการเงินจะต้องประสานกับนโยบายการคลัง เพื่อให้เกิดผลที่ดีที่สุดต่อเศรษฐกิจ ผู้ว่าการ ธปท.ต้องประสานกับ รมว.คลังให้เข้าใจกันเป็นอย่างดี ไม่ควรทำตัวเหนือกระทรวงการคลัง แต่ก็ไม่ใช่ทำตามเขาหมด ต้องฟังเขาให้เข้าใจ

แล้วหาทางที่ดีที่สุดให้แก่ประเทศชาติ และฝากว่าต้องถือว่าธนาคารพาณิชย์เป็นเหมือนลูก ๆไม่ใช่ศัตรู ถ้าผิดก็ลงโทษเพื่อให้ปรับปรุงให้ดี แต่ไม่ใช่ลงโทษเพื่อทำลาย ธนาคารพาณิชย์เป็นกำลังสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ธปท. ช่วยเศรษฐกิจไม่ได้ ถ้าไม่มีธนาคารพาณิชย์ ฝากไว้ด้วย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ประสารย้ำแบงก์ชาติต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับบริบทและสถานการณ์

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า สมัยก่อนที่ตนเป็นผู้ว่าการ ธปท. มีการพูดกันมากถึงบทบาทนโยบายการเงินการคลัง จากนั้นเมื่อตอนตนเป็นผู้ว่าการ ธปท. โดยเฉพาะช่วงปลาย ก็มีการพูดกันถึงเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ปฏิรูปเศรษฐกิจ

แต่พอมาถึงจุดนี้ ตนคิดว่าตัวปัญหาใหญ่อาจจะไม่ใช่แค่นั้น แต่เป็นเรื่องการเมืองการปกครองของประเทศ เป็นเรื่องระบบ ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่า การปกครองของประเทศไม่ดี ซึ่งต้องมาคิดกันใหม่ ต้องปฏิรูปกันใหม่

“ส่วนที่จะฝาก ธปท. ก็คือ ธปท.เป็นสถาบัน ซึ่งประกอบด้วย กรอบนโยบายที่มีความยืดหยุ่น มีธรรมาภิบาล เรามีเครื่องมือในการทำนโยบายที่เพียงพอหรือไม่ ก็ต้องเข้าใจว่าข้อจำกัดอยู่ที่ไหน นอกจากนี้ ที่สำคัญมากคือ

เรื่องบุคลากร เรื่องระบบทำงานในองค์กร และประวัติศาสตร์ความดีงาม หรือค่านิยมต่าง ๆ ที่ต้องสามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับบริบท ในแต่ละช่วงเวลาได้ คนที่เข้ามาบริหารจัดการก็ต้องสามารถบริหารปัจจัยเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์” นายประสารกล่าว