ศรีลังกาเข้าสู่ภาวะ ‘กลียุค’ เสี่ยงล้มละลาย ‘เบี้ยวหนี้’ นานาชาติ

คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

สถานการณ์โดยรวมในศรีลังกา ที่เผชิญภาวะ “หนี้ท่วมหัว” อยู่ในเวลานี้ ทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว จนบรรดานักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์พากันกังวลว่า อาจนำไปสู่ภาวะ “disorderly default” ที่หมายถึงการพักชำระหนี้ชนิดโกลาหล ซึ่งสามารถสร้างความปั่นป่วนขึ้นกับระบบการเงินระหว่างประเทศได้ไม่ยาก

ศรีลังกาสะสมหนี้มหาศาลเอาไว้ก่อนหน้านี้ เมื่อเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ที่ยาวนานต่อเนื่อง และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แหล่งรายได้เงินตราต่างประเทศสำคัญ อย่างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหดหายไปแทบไม่เหลือหลอ

รัฐบาลต้องควักกระเป๋า นำเงินทุนสำรองออกไปใช้เพื่อการชำระหนี้และดอกเบี้ย จนเหลือไม่เพียงพอต่อการนำเข้าสินค้าอาหาร สินค้าทุน และพลังงานเข้ามาใช้ในประเทศ

ผลก็คืออาหารและพลังงานในประเทศไม่เพียงราคาพุ่งพรวด ยังเกิดขาดแคลน เช่นเดียวกันกับการผลิตที่ชะงักงันเพราะขาดวัตถุดิบ

ทั้งหมดนั่นเกิดขึ้นท่ามกลางภาวะ “เงินเฟ้อสูง” ทำสถิติ ส่งผลให้ชาวศรีลังกาเรือนหมื่นเรือนแสนออกมาเดินขบวนประท้วง ขับไล่รัฐบาล เพราะเศรษฐกิจดิ่งลงหนักที่สุดนับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948 เป็นต้นมา

ข้อมูลจากธนาคารกลางศรีลังกาแสดงให้เห็นว่า ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในเดือนมีนาคม 2022 ลดลงอย่างฮวบฮาบถึง 16% หลงเหลือติดกระเป๋าอยู่เพียง 1,930 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

บรรดาบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทั้งหลาย ไม่เพียงหั่นอันดับความน่าเชื่อถือของศรีลังกาลง ยังเตือนด้วยว่า “มีความเป็นไปได้สูงมากที่ศรีลังกาจะผิดนัดชำระหนี้มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์” ในขณะที่รัฐบาลจะหันไปหาเงินกู้เพิ่มเติมจากตลาดเงินระหว่างประเทศก็ลำบาก เพราะถูกหั่นความน่าเชื่อถือลงจนเป็นไปไม่ได้ที่จะกู้เพิ่ม

ตามข้อมูลของธนาคารกลางศรีลังกาที่ปรากฏในรายงานของรอยเตอร์สเมื่อไม่นานมานี้ดงให้เห็นว่า รัฐบาลศรีลังกามีทุนสำรองอยู่ในเวลานี้ไม่เกิน 2,000 ล้านดอลลาร์

ขณะที่เฉพาะในปีนี้มีหนี้สินที่มีกำหนดครบวาระต้องใช้คืนอยู่มากถึง 7,000 ล้านดอลลาร์ เฉพาะที่ครบกำหนดในเดือนกรกฎาคมนี้ก็มากถึง 1,000 ล้านดอลลาร์แล้ว

“ศันตะ เทวราชัน” อดีตนักเศรษฐศาสตร์ ประจำธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้ชาวศรีลังกา ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่รัฐบาลเชิญเข้ามารับหน้าที่คณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อแก้วิกฤตชาติหนนี้ ยอมรับว่า สถานการณ์ของศรีลังกากำลังอยู่ในภาวะอันตรายอย่างยิ่ง

เสี่ยงต่อการเกิดการพักชำระหนี้แบบปั่นป่วนสับสน ซึ่งจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายหนักมากขึ้นไปอีก

ศรีลังกาควรทำอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ แน่นอนว่าคำตอบที่ได้ก็คือการประกาศใช้มาตรการ “ยาขม” ทั้งหลายที่บรรดาประเทศซึ่งเกิดวิกฤตด้านการเงินการคลังต้องพานพบมา

ศรีลังกาต้องยกเลิกการใช้เงินอุดหนุนราคาอาหาร, ไฟฟ้า และพลังงาน ควบคู่ไปกับการขึ้นภาษี ตัดทอนงบประมาณรายจ่าย และปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจ

ศันตะ เทวราชัน ยอมรับว่า การประกาศมาตรการที่ว่านั้น ในท่ามกลางสถานการณ์ “กราดเกรี้ยว” ของประชาชนและพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยกคณะลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการบริหารเศรษฐกิจผิดพลาดเช่นนี้ ยากลำบากสาหัสนัก

หากคิดจะทำนอกจากต้องบริหารจัดการอย่างระมัดระวังสุดขีดแล้ว ยังจำเป็นต้องทำให้แน่ใจว่า คนยากจนที่อยู่ในระดับล่างสุดของสังคมซึ่งมีราว 40% ของประชากรทั้งหมด ต้องได้รับความคุ้มครองจากผลกระทบของมาตรการเหล่านี้

รวมทั้งต้องหลีกเลี่ยงมาตรการใด ๆ ที่ในท้ายที่สุดแล้วจะเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อชนชั้นสูงของประเทศมากกว่า ตัวอย่างเช่น การใช้เงินอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น

สิ่งที่ “ศันตะ เทวราชัน” เสนอไว้ก็คือ โครงการในรูปแบบของการแจกเงินให้กับคนยากจน เพื่อให้แน่ใจว่า จะได้รับการคุ้มครองโดยตรงจากผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่มากก็น้อย

ในเวลาเดียวกันรัฐบาลต้องมีการรณรงค์นำเสนอข้อมูลข่าวสารต่อประชาชน เพื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นให้ได้ว่า มาตรการเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตใหญ่โตกว่าที่เป็นอยู่เกิดขึ้นตามมา

แนวความคิดทำนองนี้ แสดงความคิดเห็นได้ไม่ยาก แต่ที่ลำบากสาหัสก็คือจะปฏิบัติให้เป็นจริงได้อย่างไรมากกว่า

เพราะภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ จะหาใครรับฟังใครอย่างใคร่ครวญจริงจังยากเย็นอย่างยิ่ง

ยิ่งใช้มาตรการรัดเข็มขัดเข้มงวดมากเท่าใด ยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดการต่อต้านจากคนในสังคมมากเท่านั้น จนเป็นความเสี่ยงที่อาจชักนำสถานการณ์ในศรีลังกาเข้าสู่ภาวะกลียุคได้ไม่ยาก