หนี้ท่วมและเงินเฟ้อ ทำ ‘ศรีลังกา’ อาจถึงล้มละลาย !

หนี้ท่วมและเงินเฟ้อ ทำ ‘ศรีลังกา’ อาจถึงล้มละลาย !
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิช

“ศรีลังกา” ประเทศเกาะในภูมิภาคเอเชียใต้ กำลังเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่จากการดำเนินนโยบายผิดพลาดต่อเนื่องกันมานานปี

ภาวะเศรษฐกิจของประเทศกำลังถูกกระหน่ำจากภาวะเงินเฟ้อ ข้าวของแพงและขาดแคลน พร้อม ๆ กับที่หนี้สาธารณะของประเทศก็พุ่งขึ้นถึงระดับชี้เป็นชี้ตายแล้ว

เดือนกันยายนปีที่แล้ว ประธานาธิบดี “โคฐาภยะ ราชปักษา” ประกาศภาวะฉุกเฉินทางเศรษฐกิจ เปิดทางให้รัฐบาลเข้าควบคุมสินค้าบริโภคพื้นฐานทุกอย่างเพื่อกำหนดราคาและปันส่วน หลังจากราคาสินค้าพุ่งตามภาวะเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง

ถึงเดือนมกราคมที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของศรีลังกา พุ่งขึ้นไปถึง 14.2% สินค้าจำเป็นอย่างข้าว น้ำตาล รวมถึงนมผงสำหรับเด็ก ถูกจำกัดปริมาณการซื้อเพื่อป้องกันการขาดแคลน

หลังจากศรีลังกาเกิดการ “ขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐ” ทำให้การนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบอาหารถูกจำกัดและราคาพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องตามมา

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเงินดอลลาร์ส่วนใหญ่ในประเทศถูกนำไปใช้เพื่อชำระหนี้เงินตราต่างประเทศ ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เตือนไว้ก่อนหน้าแล้วว่า กำลังพุ่งขึ้นถึงระดับวิกฤต

“ดุษณี วีระกูน” ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายศึกษาในศรีลังกา ระบุว่า รัฐบาลศรีลังกาทุกชุดตั้งแต่ปี 2007 เรื่อยมา ใช้วิธีการระดมทุนโดยออกพันธบัตรรัฐบาลในสกุลเงินต่างประเทศ

โดยไม่ได้คิดว่าจะชำระหนี้ที่เกิดจากการนี้อย่างไรมาตลอด ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของศรีลังกาจึงมาจากเงินกู้ ไม่ใช่เกิดจากรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการอย่างที่ควรจะเป็น

ส่วนหนึ่งต้องนำไปชำระหนี้ อีกส่วนหนึ่งต้องใช้ในการป้องกันค่าเงินรูปีศรีลังกา ไม่ให้ดิ่งลงหลังจากถูกกดดันอย่างต่อเนื่อง

รายได้หลักจากการท่องเที่ยวถูกการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำลายเหือดแห้งไปจนหมด นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า การท่องเที่ยวของศรีลังกา “ตายสนิท” มาตั้งแต่ปี 2020 แล้ว

ในเดือนธันวาคม 2021 ทุนสำรองของศรีลังกา อยู่ที่ 3,100 ล้านดอลลาร์ ถึงเดือนมกราคม 2022 หลงเหลืออยู่เพียงแค่ 2,360 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่กำหนดชำระหนี้ก้อนใหญ่ 1,000 ล้านดอลลาร์กำลังจะมาถึงในเดือนกรกฎาคมนี้

แต่ถ้ารวมทั้งปี ในปี 2022 นี้ศรีลังกาจำเป็นต้องหาเงินมาชำระหนี้ให้ได้รวมแล้วเกือบ 7,000 ล้านดอลลาร์ จากการประเมินของมูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส

นักวิชาการเคยประเมินไว้ว่า หนี้สาธารณะของศรีลังกาซึ่งเคยอยู่ที่ 94% ของจีดีพี ในปี 2019 ถึงปี 2021 จะพุ่งพรวดขึ้นเป็น 119%

อเล็กซ์ โฮล์มส์ นักเศรษฐศาสตร์ของแคปิตอล อีโคโนมิกส์ เชื่อว่า อาจถึงเวลาที่รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายของศรีลังกาต้องชั่งน้ำหนักว่า ต้นทุนอันไหนจะสูงกว่ากันระหว่างการพักชำระหนี้กับการเดินหน้าต่อไปแบบนี้

แต่เท่าที่รัฐบาลศรีลังกาพยายามทำอยู่ในเวลานี้ก็คือการซื้อเวลา

เมื่อเดือนมกราคม 2022 ศรีลังกาเจรจากับทางการจีน ขอให้ช่วยปรับโครงสร้างการชำระหนี้ให้ และตกลงทำสวอปกับธนาคารประชาชนจีนไว้เป็นมูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์ ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์อินเดีย ก็เสนอให้ความช่วยเหลือ ซึ่งรวมถึงการให้เครดิตไลน์มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์แก่ศรีลังกา

นักวิเคราะห์เชื่อว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมุ่งเป้าหาเงินทุนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาสินค้าแพงและขาดแคลนเฉพาะหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตที่เกิดขึ้นดิ่งลงลึกไปมากกว่าที่เป็นอยู่

แต่ถึงที่สุดแล้ว ทางเลือกที่เป็นไปได้ในเวลานี้ของศรีลังกา ก็คือ การหาหนทางปรับโครงสร้างหนี้ หรือไม่ก็เดินเข้าไปเจรจาเพื่อทำความตกลงรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

ในเดือนกุมภาพันธ์ที่่ผ่านมาแบงก์ชาติศรีลังกาออกมายืนยันว่า ศรีลังกายังคงมั่นใจและพร้อมที่จะชำระหนี้ตามพันธะผูกพันที่จะมาถึงในปีนี้ทั้งหมด พร้อมปฏิเสธรายงานข่าวในสื่อทั้งหลายว่า

ประเทศกำลังตกอยู่ในภาวะล้มละลายใกล้จะพักชำระหนี้แล้ว แต่นักวิเคราะห์ของซิตี้ แบงก์ ระบุไว้ในรายงานของธนาคารเมื่อไม่นานมานี้ว่า คิดว่าในที่สุด “รัฐบาลศรีลังกาก็คงต้องเปิดการเจรจากับไอเอ็มเอฟ”

แต่ก่อนที่ความตกลงกับไอเอ็มเอฟจะบรรลุ ความเสี่ยงที่จะเกิดการพักชำระหนี้ก่อนที่การเจรจากับไอเอ็มเอฟจะเป็นผลก็ยังคงมีอยู่เช่นกัน

ไม่ว่าจะเลือกทางไหนแน่นอนว่า ผู้ที่เจ็บปวดมากที่สุด ไม่ใช่รัฐบาลแต่เป็นประชาชนอยู่วันยังค่ำ