รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวีในประเทศไทย เติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยแรงหนุนจากมาตรการรัฐ อย่างไรก็ดี ในส่วนของภาคธุรกิจประกันภัย ยังค่อนข้างระมัดระวังกับการเข้าไปรับประกันรถประเภทนี้
“ทิพยฯ” ลดพอร์ตประกันอีวี
ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ TIP ในฐานะนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ในปี 2567 นี้ ทิพยประกันภัยตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยรับรวมใกล้ระดับ 4 หมื่นล้านบาท เติบโต 6.5% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) แต่พอร์ตประกันรถยนต์ตั้งเป้าเติบโตแค่ 3% หรือเบี้ยประมาณ 7,500 ล้านบาท
เนื่องจากปีนี้ได้มอบนโยบายให้กับผู้บริหารว่าต้อง “ลดพอร์ต” งานรับประกันรถอีวีลง รวมถึงลดงานรับประกันรถซ่อมห้างด้วย โดยให้หันไปขยายงานส่วนอื่นแทน เช่น งานรับประกันรถซ่อมอู่ทั่วไป และงานรับประกันรถประเภท 2+, 3+
“สาเหตุที่ลดพอร์ตรถอีวี เพราะสถานการณ์การแข่งขันในตลาดขณะนี้ค่อนข้างรุนแรงมาก โดยตอนนี้มีบริษัทประกันวินาศภัยหลายแห่งที่กลัวตกขบวน อยากมีส่วนร่วม เข้ามารับประกัน มีการแข่งดัมพ์ราคาเบี้ยลงมามาก เพราะรถอีวีส่วนใหญ่เป็นรถใหม่ เหมือนกับรถซ่อมห้าง แต่ละค่ายก็ไปแข่งเสนอราคาให้กับซัพพลายเออร์ หรือว่าดีลเลอร์ เนื่องจากเป็นงานเหมาทีละเยอะ ๆ จึงกล้าที่จะแข่ง เพราะพวกนี้เวลาเข้าไปรับประกันใหม่ ๆ จะยังไม่เห็นอัตราการเคลมสินไหม จึงเข้าใจว่ายังพอมีกำไร”
เคลมพุ่งใกล้ระดับขาดทุน
อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีสัญญาณที่ชัดเจนว่าอัตราความเสียหายเคลมสินไหม (Loss Ratio) ของรถอีวีในตลาดเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อยู่ที่ 90-100% ถึงระดับที่ใกล้ขาดทุนแล้ว แม้ว่าช่วงที่ผ่านมา สมาคมประกันวินาศภัยไทยได้พยายามออกคำเตือนไปยังบริษัทประกันวินาศภัยทุกรายให้ระมัดระวังเรื่องการรับประกันรถอีวีแล้วก็ตาม
ดร.สมพรกล่าวว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา ทิพยประกันภัยรับประกันรถอีวีอยู่หลายแบรนด์ แต่พอร์ตใหญ่ คือ BYD เพราะเป็น 1 ใน 5 ผู้รับประกันที่เข้าร่วมโครงการแถมฟรีประกัน แต่อย่างไรก็ตาม หลังจาก BYD โยนแนวความคิดสอบถามผู้รับประกันในกลุ่ม เกี่ยวกับการคุ้มครองจากแบบปีต่อปี เป็นเบี้ยคงที่ 2-3 ปีต่อเนื่อง ทำให้บริษัทอาจจะต้องหยุดรับประกัน
“เรื่องนี้ เราก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกับกรุงเทพประกันภัย ที่อาจจะต้องหยุด โดยตอนนี้กำลังให้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยไปคำนวณก่อนว่าจะเอาอย่างไร เพราะถ้าสมมุติลอสเรโชสูงขึ้น บริษัทไม่สามารถปรับเบี้ยเพิ่มได้ นั่นคือปัญหาที่แก้ไม่ได้”
ต้นทุนซ่อมแพงกว่าสันดาป
ดร.สมพรกล่าวอีกว่า รถยนต์ไฟฟ้าเปรียบเสมือนรถที่ค่อนข้างใหม่ในอุตสาหกรรม อะไหล่ ต้องมาจากซัพพลายเออร์อย่างเดียว และทุกวันนี้อะไหล่ของรถอีวีเทียบกับอะไหล่รถสันดาป ถือว่าแพงกว่ากันมาก และมักจะมาเป็นชุด ไม่ได้มาเป็นชิ้น ทำให้ต้นทุนเรื่องของการซ่อมสูงกว่ารถสันดาปอย่างมีนัยสำคัญ
“นโยบายการรับประกันรถอีวีของบริษัททิพยประกันภัยต่อจากนี้จะรับประกันอย่างระมัดระวัง โดยอยู่ที่ค่าเบี้ยเป็นหลัก พยายามไม่แข่งราคา ถ้าสมมุติเห็นว่าราคาแข่งไม่ได้จริง ๆ ก็จะยอมถอย ไม่ไปฝืนแข่ง และต่อไปอาจปรับนโยบายไม่เข้าไปรับงานที่ดีลเลอร์ แต่จะหันไปรับประกันรถอีวีปีที่ 2 ที่ลูกค้าเลือกซื้อเอง”
ดร.สมพรกล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายภายในสิ้นปีนี้ จะต้องลดสัดส่วนลอสเรโชของพอร์ตรถยนต์ให้อยู่ที่ระดับ 65% จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 68%
BKI ชี้ปีนี้มาร์เก็ตแชร์ส่อลดลง
ก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI กล่าวว่า ปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายเบี้ยรับรวม 32,500 ล้านบาท เติบโต 8% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) มาจากเบี้ยประกันที่ไม่ใช่รถยนต์ (Nonmotor) 18,900 ล้านบาท
และที่เหลืออีก 13,600 ล้านบาท มาจากเบี้ยประกันรถยนต์ ซึ่งส่วนนี้มาจากเบี้ยรถอีวีประมาณ 350 ล้านบาท จำนวนรถประมาณ 14,000 คัน
โดยนโยบายการรับประกันรถอีวีของบริษัท พยายามใช้ข้อมูลตลาดสากลเป็นพื้นฐานในการอ้างอิงกำหนดเบี้ย และจัดสรรประกันภัยต่อในรูปแบบของโควตาแชร์ เนื่องจากการรับประกันรถอีวีในประเทศไทยยังมีสถิติไม่มากพอ ซึ่ง ณ สิ้นปี 2566 พอร์ตรับประกันรถอีวีของบริษัทมีมาร์เก็ตแชร์ 10% ของตัวเลขรถอีวีที่จดทะเบียน
โดยมีหลายค่ายรถอีวี ประกอบด้วย BYD, MG, ORA GOOD CAT, BMW, Tesla, Audi, Porsche ซึ่งปีนี้คาดว่ามาร์เก็ตแชร์จะลดลงเหลือ 7% เนื่องจากบริษัทจะไม่เข้าร่วมแคมเปญเบี้ยประกัน BYD เพราะกังวลว่าจะไม่เป็นประโยชน์ในระยะยาว และไม่สอดคล้องกับนโยบายของบริษัทด้วย
“นโยบายของเราคือการรับประกันภัยอย่างระมัดระวัง ซึ่งแคมเปญดังกล่าวไม่เป็นไปตามการบริหารความเสี่ยงภายในของบริษัท อย่างไรก็ดี เชื่อว่าจะไม่กระทบเป้าหมายการเติบโตของพอร์ตเบี้ยประกันรถยนต์ในปีนี้ที่จะโตระดับ 10% เนื่องจากปีแรกขายโดยดีลเลอร์ แต่ปีที่ 2 มักขายโดยโบรกเกอร์หรือตัวแทน ฉะนั้นเขาจะเลือกบริษัทประกันภัยที่มั่นคงในการส่งงาน เพราะผ่านประสบการณ์จากบริษัทที่ล้มหายตายจากไปแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทจะได้งานจากตรงนี้มากขึ้น”
กรุงไทยพานิชฯโฟกัสงานอะไหล่
นางสาวสุชาวดี แสงอนงค์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ KPI กล่าวว่า การรับประกันรถอีวีถือว่ายังมีความเสี่ยงที่สูงมาก ซึ่งทุกคนรู้ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สมาคมประกันวินาศภัยไทย และผู้ซื้อเองที่ยังไม่มีความมั่นใจ
วันนี้ลูกค้าแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ 1.ผู้ที่มีรถสันดาปและขอลอง 2.คนรุ่นใหม่ที่ซื้อรถสันดาปไม่ไหว ก็ซื้อรถอีวีเพราะราคาดี และในแง่ของผู้ซ่อม อะไหล่ยังเป็นการนำเข้า โรงงานผลิตส่วนใหญ่ยังอยู่ในต่างประเทศ นั่นคือที่จีน ซึ่งกว่าจะส่งมาได้ต้องใช้เวลานาน
“ดังนั้น ปีนี้บริษัทยังจะแค่ศึกษาก่อน พยายามจะออกแบบความคุ้มครองให้เหมาะสม แต่อย่างไรดี บริษัทยังคงให้บริการลูกค้ารถยนต์ของบริษัทในปัจจุบันที่สนใจทำประกันรถอีวี ซึ่งมีพอร์ตงานส่วนนี้อยู่เป็นหลักร้อยคัน”
สำหรับเป้าหมายปีนี้ กรุงไทยพานิชประกันภัยตั้งเป้าเบี้ยรับรวม 5,300 ล้านบาท ทรงตัวจากปีที่แล้ว เนื่องจากพันธมิตรหลัก (Exclusive Partner) อย่างรู้ใจโบรกเกอร์ ปัจจุบันมีบริษัทประกันวินาศภัยเป็นของตัวเองแล้ว นั่นคือ บริษัท รู้ใจประกันภัย จำกัด (มหาชน) ทำให้พอร์ตเบี้ยประกันรถยนต์ของบริษัทจะลดลงไปประมาณ 900-1,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี บริษัทได้วางแผนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไว้ระดับหนึ่งแล้ว โดยบริษัทจะมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์รายย่อย พยายามโฟกัสงานประกันอะไหล่รถยนต์ (Extended Warranty) ที่เป็นโปรแกรมขยายคุณภาพการรับประกันรถยนต์ ซึ่งจะคุ้มครองค่าใช้จ่ายหลังจากสิ้นสุดการรับประกันจากผู้ผลิตรถยนต์ มีความคุ้มครองให้เลือกตั้งแต่ 1-3 ปี
โดยทำมาตั้งแต่ช่วงก่อนโควิดแล้ว ปัจจุบันมีเบี้ยจากส่วนนี้เข้ามาแล้วประมาณ 500 ล้านบาท และช่วงเดือน พ.ค. 2567 จะเปิดตัวพันธมิตร ซึ่งเชื่อว่าผลิตภัณฑ์นี้จะเป็นเรือธง
ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนพอร์ตประกันที่ไม่ใช่รถยนต์ (Nonmotor) ประมาณ 60% และที่เหลือ 40% เป็นพอร์ตประกันรถยนต์ ซึ่งเป็นพอร์ตที่มีความบาลานซ์ที่ดี สำหรับรองรับการบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS17 ในต้นปี 2568
“ตอนนี้มีฐานลูกค้ารวมประมาณ 4-5 ล้านราย มาจากฐานลูกค้าของธนาคารกรุงไทย (KTB) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท สัดส่วน 25% ส่วนที่เหลือ 75% เป็นลูกค้าทั่วไป”