ศรีลังกาวอนปักกิ่งปรับโครงสร้างหนี้ หลังส่อแววจ่ายหนี้จีนไม่ไหว

Photo by ISHARA S. KODIKARA / AFP

พิษเศรษฐกิจทำศรีลังกาส่อเค้าจ่ายหนี้จีนไม่ไหว ผู้นำวอนจีนพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้

วันที่ 10 มกราคม 2565 รอยเตอร์สรายงานว่า ประธานาธิบดีโคฐาภยะ ราชปักษะ ผู้นำศรีลังกา ได้กล่าวระหว่างการหารือกับนายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ซึ่งกำลังเดินทางเยือนศรีลังกาอย่างเป็นทางการ ถึงแนวทางให้รัฐบาลปักกิ่งพิจารณาปรับโครงสร้างชำระหนี้ของศรีลังกาใหม่ หลังจากที่ศรีลังกาประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ประกอบกับสถานการณ์ระบาดของโควิด ทำให้ศรีลังกาส่อเค้าไม่อาจชำระหนี้เงินกู้จีนได้ตามกำหนด

รายงานระบุว่า ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ศรีลังกา พึ่งพาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากจีนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศ โดยศรีลังกากู้เงินจากจีนไปมากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.7 แสนล้านบาท สำหรับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางด่วน ท่าเรือ สนามบิน จนถึงโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งจีนเป็นผู้ให้กู้รายใหญ่อันดับสี่ของศรีลังกา รองจากไอเอ็มเอฟ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) และรัฐบาลญี่ปุ่น

“ท่านประธานาธิบดีชี้ว่า จะเป็นการช่วยบรรเทาทุกข์อย่างมากสำหรับศรีลังกา หากจีนให้ความสนใจปรับโครงสร้างการชำระหนี้ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นท่ามกลางการระบาดของโควิดในประเทศ” แถลงการณ์ผู้นำศรีลังการะบุ

นายราชปักษะยังร้องขอให้จีนจัดหา “เงื่อนไขสัมปทาน” สำหรับการส่งออกไปยังศรีลังกา แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม ขณะเดียวกันรัฐบาลศรีลังกายังเสนอให้นักท่องเที่ยวจีนมีสิทธิพิเศษเดินทางมาท่องเที่ยวศรีลังกาได้ หากปฏิบัติตามข้อจำกัดด้านโควิด-19 ที่เข้มงวด ซึ่งรวมถึงการเข้าพักในโรงแรมที่ได้รับการอนุมัติล่วงหน้าและเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งเท่านั้น ช่วงก่อนเกิดโควิดระบาด นักท่องเที่ยวจีนเป็นแหล่งรายได้หลักของศรีลังกา ขณะศรีลังกาเองก็นำเข้าสินค้าจากจีนมากกว่าประเทศใดในแถบเอเชียใต้

นักวิเคราะห์มองว่า โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวของศรีลังกาที่สร้างด้วยเงินกู้จีนก้อนใหญ่ แต่กลับให้ผลตอบแทนในระดับต่ำ ขณะที่ปักกิ่งยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องกักดักหนี้ที่หวังครอบงำประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนา

ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 ที่ผ่านมา ศรีลังได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทางเศรษฐกิจ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 31 ส.ค. 2564 หลังมูลค่าเงินรูปีศรีลังการ่วงหนัก ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อทะยานกว่า 6% ในเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา เป็นเหตุให้ราคาอาหารพื้นฐานหลายชนิดพุ่งสูงขึ้น