ราคาทองคำเดือนพฤษภาคม ขึ้นอยู่กับการประชุมเฟด

ทอง
คอลัมน์ : สถานีลงทุน
ผู้เขียน : ธนรัชต์ พสวงศ์  ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส

ราคาทองคำ Spot ในเดือนเมษายนในช่วงต้นเดือนถึงกลางเดือนเคลื่อนไหวในกรอบแคบ โดยมีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบเข้ามากระทบต่อทิศทางราคาทองคำ โดยมีปัจจัยบวกจากการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงไม่มีความคืบหน้า

แต่มีปัจจัยลบจากการเปิดเผยรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันที่ 15-16 มีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่ากรรมการเฟดหลายคนสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% และปรับลดขนาดของงบดุลเดือนละ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในการประชุมครั้งต่อไป ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีที่ปรับขึ้นอย่างรวดเร็วทำจุดสูงสุดในรอบ 3 ปีใกล้แตะ 3%

แต่ในช่วงกลางเดือนราคาทองคำปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องและทำจุดสูงสุดในรอบ 5 สัปดาห์เข้าใกล้ 2,000 ดอลลาร์ หลังสหรัฐเปิดเผยเงินเฟ้อสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี ทำให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ รวมถึงสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งสัญญาณยืดเยื้อ

แต่หลังจากนั้นเริ่มมีแรงเทขายทำกำไรทองคำออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาทองคำปรับลงหลุด 1,900 ดอลลาร์และทำจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 1 เดือน เนื่องจากมีปัจจัยลบจากการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังจากเมื่อวันที่ 21 เมษายนประธานเฟดแถลงว่าเฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในเดือนพฤษภาคม

กราฟทอง

แนวโน้มราคาทองคำ Spot เดือนพฤษภาคมคาดจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,860-1,950 ดอลลาร์

ประเด็นที่ต้องติดตามในเดือนพฤษภาคมคือการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 3-4 พฤษภาคมอาจกดดันต่อราคาทองคำ โดยคาดเฟดจะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 0.75-1.00% และการประกาศปรับลดขนาดของงบดุลเดือนละ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่คาดว่าราคาทองคำน่าจะตอบรับในทางลบไปแล้วพอสมควร

รวมทั้งติดตามวิกฤตระหว่างรัสเซียและยูเครน การเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครน ประเมินว่าสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงส่งสัญญาณยืดเยื้อที่ยังคงเป็นปัจจัยหนุนต่อราคาทองคำได้ เนื่องจากจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้เริ่มเกิดภาวะ Inverted yield curve ในตลาดพันธบัตรสหรัฐในช่วงปลายเดือนมีนาคมคืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุสั้นสูงกว่าอายุยาว ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณล่วงหน้าว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจจะเกิดภาวะถดถอยได้ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า

สำหรับประเด็นอื่นที่ต้องติดตามในเดือนพฤษภาคม คือ ตัวเลขการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐในเดือนเมษายน การจ้างงานของสหรัฐในเดือนเมษายนยังเป็นข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญและจะทำให้ราคาทองคำผันผวนมาก ถ้าตัวเลขที่ออกมาจริงแตกต่างจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้มาก

โดยทองคำมีแนวรับสำคัญที่ 1,880-1,890 ดอลลาร์ ถ้าหลุดจะมีแนวรับถัดไปที่ 1,850-1,860 ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้านที่ 1,950 ดอลลาร์ และแนวต้านสำคัญอยู่ที่ 2,000 ดอลลาร์

ส่วนทิศทางเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องจนทะลุ 34 บาท/ดอลลาร์ทำจุดต่ำสุดในรอบกว่า 4 ปี เนื่องจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นและสถานการณ์โควิด-19 ระบาดในจีน ซึ่งจีนเริ่มล็อกดาวน์พื้นที่ในกรุงปักกิ่ง ทำให้อาจกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

สำหรับเงินบาทที่ยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเป็นปัจจัยหนุนราคาทองในประเทศ