ดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง หลังปธ.เฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย 0.5% พ.ค.นี้

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าต่อเนื่อง หลังประธานเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ในเดือนพฤษภาคม ขณะที่เงินบาทยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง จากทิศทางการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 34.25/27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 25-29 เมษายน 2565 ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์นี้ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในทิศทางแข็งค่า แม้จะมีบางจังหวะที่ย่อตัวลง โดยมีการเคลื่อนไหวระหว่างสัปดาห์อยู่ในกรอบ 101.00-103.40 ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

โดยนักลงทุนจับตาประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 3-4 พฤษภาคม ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมครั้งนี้ นอกจากนี้ ตลาดยังกังวลว่าเฟดมีโอกาสที่จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงกว่าเดิม หลังจากเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป โดยอาจจะปรับขึ้นอีก 0.75% ในรอบการประชุมเดือนมิถุนายน ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปียังคงปรับตัวสูงขึ้น โดยไปแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปีที่ระดับ 2.96%

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจนั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2565 หดตัว 1.4% สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยายตัว 1.1% และเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอยอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 5,000 ราย สู่ระดับ 180,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผย ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Ppending home sales) ลดลง 1.2% ในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบรายเดือน

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ในวันจันทร์ (25/4) ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.98/34.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (22/4) ที่ระดับ 33.93/95 บาท ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง จากทิศทางการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตลาดยังคงปิดรับความเสี่ยง อันเนื่องจากความกังวลในหลายด้าน

เช่น การประกาศล็อกดาวน์ของจีนจากการระบาดโควิด ความกังวลต่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ด้วยเหตุนี้ส่งผลให้นักลงทุนยังคงเข้าถือครองเงินดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ส่งผลให้ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าสู่ระดับ 34.45 ในช่วงปลายสัปดาห์

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค. 65 ชะลอลงเล็กน้อย ตามการใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนที่ปรับลดลงทั้งการบริโภคและการลงทุนสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม จากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเล็กน้อยจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง

อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกสินค้าปรับเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังมีการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานและราคาอาหารสำเร็จรูป ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นบ้าง แต่โดยรวมยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลตามดุลการค้าที่เกินดุลเพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 33.98-34.47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (29/4) ที่ระดับ 34.25/27 บาท/ดอลลารสหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดในวันจันทร์ (25/4) ที่ระดับ 1.0810/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในไทย เมื่อวันศุกร์ (22/4) ที่ระดับ 1.0794/96 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังมีรายงานว่า นายเอ็มมานูเอล มาครง ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธาธิบดีฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินยูโรยังคงถูกกดดันจากภาวะความแตกต่างของนโยบายทางการเงินระหว่างอีซีบีและเฟด ประกอบกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนระหว่างยูเครนกับรัสเซียที่ยังส่งสัญญาณยืดเยื้อ และส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในยูโรโซน โดยล่าสุดสหภาพยุโรป (EU) เตรียมใช้มาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ต่อรัสเซีย ด้วยการระงับการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย

นอกจากนี้ปัญหาสำคัญที่สุดในขณะนี้คือ การขนส่งสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตร เข้ามาซ้ำเติมปัญหาด้านโลจิสติกส์ทั่วโลก โดยเฉพาะกรณี สายการเดินเรือหลักและท่าเรือสำคัญในยุโรปงดให้บริการสินค้าเข้า-ออกรัสเซีย และตรวจค้นสินค้าอย่างเข้มข้น ทำให้เกิดสินค้าตกค้างที่ท่าเรือในยุโรปจำนวนมาก ส่งผลให้ค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าสู่ระดับ 1.0480 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ในช่วงปลายสัปดาห์

ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.0480-1.0810 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (29/4) ที่ระดับ 1.0578/80 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (25/4) ที่ระดับ 128.60/62 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในไทยเมื่อวันศุกร์ (22/4) ที่ระดับ 128.55/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐและปรับตัวอ่อนค่าต่อเนื่องระหว่างสัปดาห์ หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (Ultraloose Monetary Policy) ตามคาด ซึ่งรวมถึงการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ประมาณ 0%

โดยคณะกรรมการ BOJ ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2565 ลงเหลือ 2.9% จากระดับ 3.8% และได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐาน สู่ระดับ 1.9 %จากระดับ 1.1 %

นอกจากนี้ตลาดการเงินกำลังจับตาดูว่า BOJ มีมุมมองอย่างไรต่อการอ่อนค่าของเงินเยนหลังจากที่เงินเยนทรุดตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปีที่ระดับ 131 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงกลางสัปดาห์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นเวลานานของ BOJ และการเริ่มใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 127.07-131.00 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (29/4) ที่ระดับ 130.34/36 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ