ธนารักษ์แจงเหตุเลื่อนเซ็น “วงษ์สยามฯ” ยันไม่มีคำสั่งจากผู้ใหญ่ในรัฐบาล

ธนารักษ์แจงเลื่อนเซ็นสัญญา “วงษ์สยาม” บริหารท่อส่งน้ำภาคตะวันออก ผู้ใหญ่ในรัฐบาลไม่ได้สั่ง ชี้เหตุผลต้องสร้างความเข้าใจกับสังคมก่อน หลังส่วนใหญ่เข้าใจคลาดเคลื่อน ยืนยันคัดเลือกเอกชนคุ้มครองผลประโยชน์รัฐสูงสุด

วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 นายประภาศ คงเอียด อธิบกรมธนารักษ์ เปิดเผยถึงกรณีเลื่อนลงนามในสัญญาโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก กับบริษัท วงษ์สยาม ก่อสร้าง จำกัด ว่า เนื่องจากยังมีกระแสความไม่เข้าใจและเข้าใจคลาดเคลื่อน ในการดำเนินโครงการดังกล่าว จึงได้ตัดสินใจเลื่อนการลงนามออกไป และเร่งสร้างความเข้าใจแก่สังคมให้มากและเร็วที่สุด ก่อนจะกำหนดวันลงนามสัญญาอีกครั้ง

ยืนยันว่าไม่มีการสั่งการจากผู้ใหญ่ในรัฐบาล หรือรอคำสั่งศาลที่ยังมีประเด็นฟ้องร้องของ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) หรือ “อีสท์วอเตอร์” และไม่เกี่ยวข้องกับการอปภิปรายในสภา เพราะขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะมีการอภิปรายในประเด็นนี้หรือไม่

“ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีความไม่เข้าใจหรือเข้าใจคลาดเคลื่อนของสังคม ดังนั้นผู้บริหารกรมธนารักษ์จึงได้มีการหารือกันเป็นการเร่งด่วน และผมได้ตัดสินใจว่าควรเลื่อนออกไปก่อน ไม่มีคำสั่งจากผู้ใหญ่ในรัฐบาล เพราะอำนาจตัดสินใจอยู่ที่อธิบดีกรมธนารักษ์ และในกฎหมายไม่ได้มีการระบุว่า

นายกฯจะต้องเห็นชอบก่อนการเซ็นสัญญา แต่ที่ผ่านมาก็ต้องมีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ และไม่มีกระแสอะไรที่จะต้องยกเลิกผลการประมูล ซึ่งกระแสสังคมไม่ใช่เหตุผลทางกฎหมายที่จะต้องทบทวนมติบอร์ด” นายประภาศกล่าว

อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวยืนยันว่า การลงนามสัญญาดังกล่าว ไม่ได้รีบร้อน และเป็นการทำตามหน้าที่และขั้นตอน ทั้งนี้ในการประชุมบอร์ดที่ราชพัสดุ แม้มีคณะกรรมการบางท่านแสดงความเห็นต่างนั้น ถือเป็นสิทธิที่สามารถทำได้โดยปกติ ซึ่งกรมในฐานะฝ่านเลขาฯ มีหน้าที่ในการชี้แจงและให้ข้อมูลข้อเท็จจริง และเคารพในการแสดงความคิดเห็น รวมถึงการตรวจสอบหากมีหลักฐานที่เป็นข้อสงสัย ซึ่งกรมก็เคารพในการตรวจสอบ แต่ท้ายที่สุดก็ต้องเคารพในเสียงส่วนใหญ่

ขณะที่การตั้งข้อสังเกต การแก้ TOR ที่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประมูลบางรายหรือไม่นั้น อธิบดีกรมธนารักษ์ ระบุว่า การแก้ TOR นั้น ไม่มีผู้เข้าร่วมประมูลรายใดเสียสิทธิ ซึ่งการแก้ TOR เป็นการทำให้เกิดความชัดเจนในประเด็นข้อเสนอทางเทคนิค และยังทำให้เกิดผลประโยชน์ต่อรัฐสูงกว่าการประมูลในครั้งแรก ดังนั้นเมื่อไม่มีผู้เสียสิทธิ จึงไม่ใช่การแก้ไข TOR เพื่อเอื้อต่อใครผู้ใดผู้หนึ่งแน่นอน

“ขั้นตอนของการคัดเลือกผู้ที่จะเข้ามาบริหารโครงการนั้น เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายภายใต้ พ.ร.บ.ที่ราชฯ ที่กำหนดให้โครงการที่มีมูลค่าไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ไม่ต้องดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี’62 และได้มีการตั้งคณะกรรมการคัดเลือก เพื่อพิจารณาคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมคัดเลือก ซึ่ง “วงษ์สยามฯ” ก็มีแผนชัดเจนในการบริหารจัดการ”

ส่วนประเด็นที่ระบุว่า “วงษ์สยามฯ” จะมีความสามารถในการจ่ายเงินรัฐในอนาคตหรือไม่นั้น อธิบดีกรมธนารักษ์ ระบุว่า ไม่มีเงื่อนไขใด ที่กำหนดให้เอกชนผู้ชนะการประมูล ห้ามขยายการลงทุน หรือหาพาร์ตเนอร์เพิ่ม ดังนั้น ในเรื่องประเด็นการบริหารเป็นเรื่องของบริษัทเอง ซึ่งมีสิทธิที่จะเพิ่มทุน หรือขยายการลงทุนในอนาคตได้

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวยืนยันว่า กรมมีการดำเนินการคัดเลือกเอกชนภายใต้ 3 เงื่อนไข คือ ถูกต้องตามกฎหมาย คุ้มครองผลประโยชน์รัฐ และคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมาก็ดำเนินภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ ปี’62 และกฎกระทรวง ขณะที่ในแง่ของผลประโยชน์ต่อรัฐนั้น

หากวันนี้ (3 พ.ค. 65) มีการลงนามสัญญากับ “วงษ์สยามฯ” รัฐจะได้รับเงินก้อนแรกทันที 743 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญา 580 ล้านบาท ผลประโยชน์ตอบแทนรายปีล่วงหน้าปีที่ 1 วงเงิน 44,644,356 ล้านบาท และหลักประกันสัญญา 118,623,856 ล้านบาท ขณะที่ผลประโยชน์ต่อผู้บริโภค คือ ในสัญญา กำหนดชัดเจน ที่ผู้ชนะจะต้องคิดค่าน้ำต่อผู้บริโภคไม่เกิน 10.98 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ตลอดอายุสัญญา 30 ปี

“ในการเลื่อนการเซ็นสัญญานั้น ไม่มีระบุข้อห้ามในกฎหมาย แต่เพื่อให้เกิดความสบายและความเข้าใจของสังคม จึงควรเลื่อนออกไปก่อน แน่นอนว่าการเลื่อนเซ็นสัญญา ก่อให้เกิดความเสียหายต่อวงษ์สยามฯแน่นอน และมีความเสี่ยงที่วงษ์สยามฯจะฟ้องกรมได้ ดังนั้นคงต้องมีการพูดคุยชี้แจงกับวงษ์สยามฯ และขออย่าให้มีการฟ้องร้องเกิดขึ้น” นายประภาศ กล่าว