กูรูวิเคราะห์เอฟเฟ็กต์เฟด ‘กอบศักดิ์’ ห่วงทุนไหลออก

เจอโรม พาวเวลล์
REUTERS/Brendan McDermid

กูรูวิเคราะห์ทุนเคลื่อนย้าย เอฟเฟ็กต์เฟดขึ้นดอกเบี้ย “กอบศักดิ์” เตือนรับมือเงินไหลออก ขณะที่ กูรู 2 แบงก์ ประเมินฟันด์โฟลว์ไม่ไหลออกรุนแรง มองทั้งปีต่างชาติยังซื้อสุทธิทั้ง “หุ้น-บอนด์” ของไทย “นักเศรษฐศาสตร์ สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด” จับตา กนง. รอบต่อไปเริ่มส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% มากที่สุดในรอบ 20 ปี และจะขึ้นดอกเบี้ยไปอีก 2-3 ครั้ง โดยสิ้นปีนี้จะไปอยู่ที่ระดับ 2.5% ซึ่งจะกดดันภาพเศรษฐกิจประเทศอื่นพอสมควร

โดยภายใต้วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกันค่อนข้างมากระหว่างไทยกับสหรัฐ เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ เพื่อรอให้เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวชัดเจนก่อน จึงเป็นปกติที่มีแรงจูงใจในการลงทุนที่ให้ผลตอบแทน หรือดอกเบี้ยต่ำ ไปสู่ตลาดที่มีผลตอบแทนสูง

“เราเริ่มเห็นเงินทุนเคลื่อนย้ายในประเทศญี่ปุ่นแล้ว และคาดว่าจะเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้เช่นกัน โดยหลังจากเฟดถอนสภาพคล่อง เราจะเห็นภาพเงินไหลออกจากประเทศอื่นกลับไปตลาดสหรัฐ

เพราะการทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE เป็นไปนำสภาพคล่องไปสู่ตลาดอื่น ๆ ส่วนการทำ QT (ลดงบดุล) คือการดึงเงินกลับจากไปประเทศอื่น จึงไม่แปลกใจที่จะเห็นเงินทุนไหลออกในภูมิภาคนี้

รวมถึงไทยด้วย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเราว่าจะบริหารเศรษฐกิจดีแค่ไหน จึงจะไม่เป็นเป้าของเขา” ดร.กอบศักดิ์กล่าว

สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) -กรุงไทย ชี้ทั้งปี เงินไม่ไหลออกแรง

ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ส่วนต่างกับดอกเบี้ยนโยบายระหว่างสหรัฐกับไทยที่เริ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความกังวลเรื่องเงินทุนไหลออก อย่างไรก็ดี ธนาคารยังคงมองสอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่ายังไม่ได้น่ากังวลมากนัก

โดยแนวโน้มทั้งปี 2565 จะยังคงเป็นเงินทุนไหลเข้า ตลาดหุ้นและพันธบัตร (บอนด์) ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้ว่าจะมีฟันด์โฟลว์ไหลออก เพื่อซื้อน้ำมันที่มีราคาแพงขึ้น แต่เป็นฟันด์โฟลว์เพื่อนำเข้าเท่านั้น

“ฟันด์โฟลว์ไหลออกอาจจะเป็นความกังวล แต่เชื่อว่าทั้งปีคงไม่ได้ไหลออกรุนแรง แต่เป็นไหลเข้าสุทธิ แม้ว่าจะมีส่วนต่างดอกเบี้ย ซึ่งเป็นแนวคิดว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบวันที่ 8 มิ.ย.นี้ จะเห็นการเปลี่ยนมุมมองของ ธปท.ที่จะเริ่มพูดขึ้นดอกเบี้ย เพราะเศรษฐกิจเริ่มดูดีขึ้น และเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง” ดร.ทิมกล่าว

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า แม้ว่าเฟดจะปรับดอกเบี้ยต่อเนื่องไปสู่ระดับกว่า 3% แต่เชื่อว่าไม่มีผลกระทบทำให้ฟันด์โฟลว์ไหลออกรุนแรง เนื่องจากเป็นไปตามตลาดคาดการณ์ ซึ่งการจะเกิดภาวะเงินทุนไหลออกรุนแรง จะต้องมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เข้ามา

เช่น ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของตลาดเกิดใหม่ ซึ่งจะทำให้ตลาดกลับมาปิดความเสี่ยง (risk off) แต่ปัจจุบันไม่น่าจะเกิดภาพดังกล่าว เนื่องจากตลาดเกิดใหม่หรือเอเชียได้ลดภาระหนี้ต่างประเทศ และหันมากู้ในประเทศมากขึ้น รวมถึงหลายประเทศในเอเชียมีการขึ้นดอกเบี้ยไปก่อนหน้าสหรัฐพอสมควรแล้ว

ทั้งนี้ กรุงไทยประเมินฟันด์โฟลว์ทั้งปียังคงไหลเข้าสุทธิ แบ่งเป็นไหลเข้าตลาดหุ้นสุทธิราว 2 แสนล้านบาท และไหลเข้าตลาดบอนด์สุทธิ 1-1.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่กลับไปสู่ช่วงก่อนโควิด-19 ที่มีแรงเทขายออกเกือบ 4 แสนล้านบาท

และหากพิจารณาตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (ม.ค.-เม.ย.) จะเห็นว่ามีฟันด์ไฟลว์เข้าตลาดหุ้นแล้ว 1.2 แสนล้านบาท และไหลเข้าตลาดบอนด์ 9 หมื่นล้านบาท

“เรามองว่าความเสี่ยงเงินทุนไหลออกก็มี แต่ไม่มาก เพราะตลาดรับรู้เรื่องเฟดขึ้นดอกเบี้ย และบอนด์ยีลด์ก็ขึ้นไปรอแล้ว จึงมองว่าจะเห็นเงินทุนไหลออกรุนแรงคงไม่มี แต่ในทางกลับกันเราจะเห็นนักลงทุนกลับเข้ามาซื้อเพิ่มเติม

อย่างไรก็ดี ระหว่างทางอาจจะมีความไม่แน่นอน บอนด์ยีลด์ปรับขึ้นบ้าง และความเสี่ยงตลาดเกิดใหม่ และจีนมี hard landing อาจเห็นเงินไหลออกได้แต่ครึ่งปีหลังก็จะไหลกลับเข้ามาได้” นายพูนกล่าว