‘ยาแรง’ เฟดขึ้นดอกเบี้ย สะเทือน ‘บาท-ทอง-หุ้น’

หุ้น ทอง

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) รอบนี้ ตลาดคาดการณ์กันไว้ว่า เฟดคงใช้ “ยาแรง” ด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.50% เพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อที่ยังคงเร่งตัวในระดับสูง

นอกจากนี้ เฟดต้องเริ่มลดขนาดงบดุลมูลค่ารวมเกือบ 9 ล้านล้านดอลลาร์อีกด้วยซึ่งแน่นอนว่า จะส่งผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก รวมถึงไทย

เริ่มที่มุมเงินบาท “พูน พานิชพิบูลย์” นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย วิเคราะห์ว่า เฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ตามคาด แต่สิ่งที่ตลาดจับตา คือการประชุมรอบถัดไปเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่า 0.50% หรือไม่

ซึ่งหากเฟดส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ยไปที่ระดับ 0.75% จะทำให้ดอกเบี้ยไปอยู่ที่ 3.75% ในต้นปี 2566 รวมถึงการลดงบดุลตามแผนที่ระดับ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน รวมถึงปัจจัยสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กดค่าเงินยูโรและปอนด์สเตอร์ลิ่งอ่อนค่า ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง กรณีนี้จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าไปแตะ 34.75 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรณีเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณจะเร่งขึ้นดอกเบี้ย แต่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยตามความเหมาะสมของสถานการณ์ ดอกเบี้ยก็น่าจะไปแตะจุดสูงสุดที่ 3.00% แต่จากประเด็นสงครามที่มีอยู่ ทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าได้ยาก จึงน่าจะเห็นเงินบาทอ่อนค่าที่ระดับ 34.25 บาท

อย่างไรก็ดี การดึงสภาพคล่องกลับ ไม่ได้มีเพียงเฟดเท่านั้น แต่ธนาคารกลางอื่น ๆ เช่น ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เป็นต้น ก็ดึงสภาพคล่องกลับเช่นกัน

รวมกันแล้วตกเดือนละราว 7 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการตลาดการเงิน ทั้งนี้ ต้องจับตาในเดือน มิ.ย.-ก.ค. จะชัดเจน หากดัชนีหุ้นสหรัฐปรับฐานลดลงมากกว่า 30% อาจจะทำให้เฟดชะลอการขึ้นดอกเบี้ยได้

“ยังมองว่าเงินบาทจุดอ่อนค่าสุด จะเป็นไตรมาส 2 แถว ๆ 34.75-35 บาท แล้วไตรมาส 3 จะย่อลงมาทีี่ 33.50-33.75 บาท เพราะมีจุดให้ลุ้น ญี่ปุ่นเปิดประเทศ ไทยเปิดประเทศ จีนน่าจะคลายล็อกดาวน์ ตลาดเอเชียฟื้น เห็นฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามาได้ ส่วนปลายปีคาดเงินบาทจะอยู่ที่ 32.50-32.75 บาท”

ทองคำ แนวรับใหญ่ที่ 1,850 เหรียญ

ด้านผลต่อทองคำนั้น “พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) กล่าวว่าตลาดรับรู้ข่าวเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.5% และลดขนาดงบดุลไปมากแล้ว

โดยราคาทองคำปรับตัวลงมาแล้ว 70 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ ถือว่าค่อนข้างมาก ซึ่งระยะนี้ประเมินราคาทองคำ มีแนวรับใหญ่ที่ 1,850 เหรียญ แต่หากหลุด แนวรับถัดไปจะอยู่ที่ 1,830 และ 1,810 เหรียญ

ซึ่งหากเฟดลดดอกเบี้ย 0.5% ทองไม่น่าหลุด 1,850 เหรียญ และจะดีดตัวกลับขึ้นไป เนื่องจากวิกฤตสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังไม่จบ ยังเป็นปัจจัยช่วยหนุนราคาทองคำอยู่

“แต่หากเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงกว่านั้น ทองคำจะลงมาทดสอบที่ 1,810 เหรียญทันที ดังนั้นขึ้นอยู่ที่นโยบายการเงินของเฟดที่ออกมาว่าจะไปทิศทางไหน แต่หากมองจากปัจจัยทางเทคนิค ราคาทองคำยังมีทิศทางเป็นขาลงมากกว่าขาขึ้น

ส่วนราคาทองคำในประเทศมีปัจจัยเงินบาทที่อ่อนค่า ซึ่งปัจจุบันอยู่แถว ๆ34 บาท หากเงินบาทอ่อนค่าลงไปมากกว่านี้ อาจจะทำให้ราคาทองคำไม่แกว่งตัวมาก แต่หากเงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้น

พร้อมกับนโยบายการเงินของเฟดที่ทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง ก็มีโอกาสที่จะได้เห็นราคาทองคำอยู่ที่บาทละ 29,000-30,000 บาทได้ แต่ถ้าเงินบาทยังคงอ่อนค่าลง ราคาทองคำก็จะยังคงอยู่แถว ๆ 30,000-31,000 บาท”

บล.กสิกรไทยประเมินปีนี้ ดอกเบี้ยสหรัฐ แตะ 3.25%

ด้านตลาดหุ้น “สุนทร ทองทิพย์” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์บล.กสิกรไทย กล่าวว่า สิ่งที่ตลาดมอง คือรอบนี้เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 50 bps และคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 50 bps ไปจนถึงรอบการประชุมในเดือน ก.ย. 2565 หลังจากนั้นค่อยทยอยขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 25 bps

โดยคาดการณ์สิ้นปี 2565 เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยไปอยู่ที่ 3-3.25% จากต้นปีอยู่ที่ 0-0.25% หรือปรับขึ้นทั้งสิ้น 300 bps

“ถ้าเฟดใช้ยาแรง นั่นคือการขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 75 bps ซึ่งอาจจะกระแทกตลาดหุ้นพอสมควร โดยคีย์เวิร์ดสำคัญ คือเงินเฟ้อ ตัวเร่งรอบล่าสุด คือราคาน้ำมันและปุ๋ย เป็นปัจจัยที่คาดการณ์ยาก

ส่วนปัจจัยอื่น ๆ เริ่มเห็นการชะลอตัวบ้าง อย่างค่าระวางเรือเป็นต้น ส่วนฝั่งดีมานด์เริ่มชะลอตัวเหมือนกัน เพราะเริ่มเห็นสัญญาณความเชื่อมั่นผู้บริโภคในสหรัฐลดลง และเริ่มเห็นออร์เดอร์สินค้าเบาลง

ในขณะที่ภาคการจ้างงานยังร้อนแรง ดังนั้น อาจเริ่มเห็นผลกระทบต่อการจ้างงานได้ ส่วนการลดขนาดงบดุล 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ตลาดซึมซับไปแล้ว แต่ถ้าเร่งมากกว่านี้ อาจจะเป็นอีกปัจจัยเข้ามากระแทกตลาดหุ้นด้วย”

ทั้งนี้ ประเมินผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยหากเฟดใช้ยาแรง คือ 1.ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะผลักให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล รุ่น 10 ปีสูงขึ้น ซึ่งการปรับขึ้นของบอนด์ยีลด์ทุก ๆ 10 bps จะกด SET Index ประมาณ 30 จุด

และ 2.การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จะกระทบรายได้และกำไรบริษัทจดทะเบียน ซึ่งยังคาดการณ์ได้ยาก ว่ากำไรต่อหุ้น (EPS) ปี 2565 จะลงไปมากแค่ไหน เพราะถ้าเกิดเศรษฐกิจสหรัฐแย่มาก จนกระทั่งถดถอย จะเหนื่อยมาก

“ที่ผ่านมา ตลาดปรับลด EPS ตลาดหุ้นไทยไปแล้ว 2 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยหลังประกาศงบฯ Q1/2565 จบแล้ว จะเห็นภาพชัดเจน ล่าสุด EPS อยู่ที่ 94.5 บาทต่อหุ้น จากเดิมที่ 97 บาท

ส่วนปี 2566 คาดการณ์ EPS อยู่ที่ 106 บาทจากคาดการณ์เดิมที่ 107 บาท ทั้งนี้ เป้าหมาย SET Index ปีนี้ บล.กสิกรไทยให้ไว้ที่ 1,650 จุด ซึ่งเพิ่งปรับ
คาดการณ์ลงมา 30 จุด ส่วนปี 2566 ถ้าใช้ EPS ที่ 106 บาท จะได้เป้าหมาย SET Index อยู่ที่ 1,740 จุด”

ทั้งหมดนี้ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกจะต้องเผชิญ เป็นความท้าทายในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ผู้เกี่ยวข้องต้องหาทางรับมือไว้แต่เนิ่น ๆ