ค่าเงินบาทอ่อนค่าตามภูมิภาค จับตาประชุมเฟด 3-4 พ.ค. นี้

ภาพ : pixabay

ค่าเงินบาทอ่อนค่าตามภูมิภาค จับตาการประชุมเฟดในวันที่ 3-4 พ.ค. นี้ ขณะที่ค่าเงินบาทแนวโน้มยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง จากทิศทางการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 34.48/50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 3 พฤษภาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/5) ที่ระดับ 34.44/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (29/4) ที่ระดับ 34.18/20 บาท ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าเช่นเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาค หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นแตะระดับ 3% ก่อนการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 3-4 พฤษภาคมนี้ ท่ามกลางการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุมครั้งนี้

               

โดยนักลงทุนยังรอดูถ้อยแถลงภายหลังการประชุมของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด เพื่อหาสัญญาณแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผย การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนมี.ค. ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.7% หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือน ก.พ. และ สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองในเดือน เม.ย. โดยลดลงแตะ 55.4 จากระดับ 57.1 เมื่อเดือน มี.ค. ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะ 57.6 ในเดือน เม.ย.

ในส่วนของทิศทางค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง จากทิศทางการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตลาดยังคงปิดรับความเสี่ยง อันเนื่องจากความกังวลในหลายด้าน เช่น การประกาศล็อกดาวน์ของจีนจากการระบาดโควิด ความกังวลต่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ด้วยเหตุนี้ส่งผลให้นักลงทุนยังคงเข้าถือครองเงินดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค. 2565 ชะลอลงเล็กน้อย ตามการใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนที่ปรับลดลงทั้งการบริโภคและการลงทุนสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม จากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวเล็กน้อยจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง

อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกสินค้าปรับเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้า ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังมีการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานและราคาอาหารสำเร็จรูป ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นบ้าง แต่โดยรวมยังเปราะบาง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลตามดุลการค้าที่เกินดุลเพิ่มขึ้น โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.42-34.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.48/50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (3/5) ที่ระดับ 1.0516/18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (29/4) ที่ระดับ 1.0579/81 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรยังคงถูกกดดันจากภาวะความแตกต่างของนโยบายทางการเงินระหว่างอีซีบีและเฟด ประกอบกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนระหว่างยูเครนกับรัสเซียที่ยังส่งสัญญาณยืดเยื้อ และส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในแถบยูโรโซน

โดยล่าสุดสหภาพยุโรป (EU) เตรียมใช้มาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ต่อรัสเซีย ด้วยการระงับการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0494-1.0528 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0512/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/5) ที่ระดับ 130.03/05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (29/4) ที่ระดับ 130.02/04 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (Ultraloose Monetary Policy) ตามคาด ซึ่งรวมถึงการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ประมาณ 0%

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 129.87-130.29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 130.07/09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร การจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือน เม.ย. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน มี.ค.และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามอัตราเงินเฟ้อเดือน เม.ย. ของไทย ผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย ดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการของจีน ยุโรปและอังกฤษ

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.60/-0.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +1.70/+2.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ