SET ยังมีความเสี่ยง และ Downside

ตลาดหุ้นไทย-SET Index
คอลัมน์ : เติมความคิดพิชิตการลงทุน
ผู้เขียน : เอกภาวิน สุนทราภิชาติ
บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS)

สวัสดีครับท่านนักลงทุน SET Index ยังเคลื่อนไหวผันผวน และในภาพรวมปรับตัวลง โดยมีปัจจัยลบกดดันจากความกังวลเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้าหลังจากที่จีนล็อกดาวน์เมืองใหญ่เพื่อคุมการระบาดของโควิด และความกังวลเรื่องธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งขึ้นดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม จะเห็นการฟื้นตัวกลับสลับเป็นระยะ ๆ หลังรายงานผลการดำเนินงานกลุ่มแบงก์ใน Q1/65 ซึ่งกำไรของกลุ่มธนาคารดีกว่าคาด และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 23% QOQ และ 13% YOY ปัจจัยหนุนหลักมาจากการตั้งสํารองตํ่ากว่าคาด

ขณะที่ผลการดำเนินงานหลักนั้นไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยแต่อย่างใด โดยคุณภาพสินทรัพย์อยู่ในระดับทรงตัว, สินเชื่อเติบโตเล็กน้อย1% QOQ และเติบโตปานกลาง 6.4% YOY, ส่วนต่างดอกเบี้ยลดลง QOQ และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลดลง

ส่วนแนวโน้มกำไรสุทธิ 2Q65 ของกลุ่มธนาคาร คาดว่าจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างทรงตัว QOQ และฟื้นตัวต่อเนื่อง YOY ทั้งนี้ คาดว่ากำไรในปี’65 จะฟื้นตัวต่อเนื่อง 13% จากปีก่อน

และอีกปัจจัยหนุนมาจากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติ โดยทิศทาง fund flow ในเดือน เม.ย. ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยต่อเป็นเดือนที่ 5 ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท แต่ซื้อสุทธิน้อยลง เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ซื้อสุทธิ 3.3 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ แม้ดัชนีจะฟื้นตัวกลับได้เป็นระยะ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมยังมองตลาดขาดปัจจัยหนุน และยังเผชิญปัจจัยลบให้ดัชนีปรับลงได้ต่อ หรือมี downside โดยปัจจัยลบมาจาก 1) นโยบายการเงินที่ตึงตัวของเฟด ทั้งในเรื่องของการเร่งขึ้นดอกเบี้ย และลดขนาดงบดุล เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

2) ภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัว โดยล่าสุด GDP ใน Q1/65 ของสหรัฐ หดตัว 1.4% สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยายตัว 1.1% และเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เศรษฐกิจเผชิญกับภาวะถดถอยอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563

ทั้งนี้ ดอยช์แบงก์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสสูงที่จะเผชิญภาวะถดถอยในช่วงปลายปี 2566 และต้นปี 2567 โดยได้รับผลกระทบจากการที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินเฟ้อ

และ 3) การปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลในประเทศ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนที่สูงขึ้นของบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้ ในเดือน พ.ค. คาดว่าตลาดหุ้นไทยมีโอกาสเกิด Sell in May โดยหากดูจากสถิติย้อนหลังไป 10 ปี ปรากฏว่ามี 6 ปี ที่ SET ในเดือน พ.ค.ปรับตัวลง ด้วยผลตอบแทนที่ -1.25%

และหากดูเฉพาะในปีนี้ในเดือน พ.ค. ที่ SET ปรับตัวลง หาก 4 เดือนก่อนหน้า คือ ม.ค.-เม.ย. ของทุกปี หาก SET มีการปรับตัวขึ้นไปก่อนหน้าแล้ว โอกาสเกิด Sell in May หรือการที่ SET จะปรับตัวลงในเดือน พ.ค. มีความน่าจะเป็นสูงถึง 80%

ดังนั้น หากดูในปีนี้ที่ SET ในเดือน ม.ค.-เม.ย. มีการปรับตัวขึ้น ประกอบกับดัชนียังไม่ผ่านแนวต้านสำคัญทางจิตวิทยาที่ 1,700 จุด ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าในเดือน พ.ค.ของปีนี้ จะเกิด Sell in May โดยมีโอกาสลงไปหาบริเวณ 1,650-1,600 จุด ส่วนกรอบบนยังถูกจำกัดที่แนวต้าน 1,680 จุด และ1,700 จุด ตามลำดับ

ทำให้ด้านกลยุทธ์การลงทุนจึงแนะนำ selective buy ในหุ้นเชิงรับที่มีคุณภาพ และ/หรือมีปัจจัยบวกเฉพาะ เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตลงทุน ดังนี้ 1) กลุ่มหุ้นที่ผลการดำเนินงานมีแนวโน้มเติบโตดี และ/หรือ มีผลกระทบจำกัดจากปัจจัยภายนอกอย่าง KBANK, AMATA, LH, GULF, ADVANC

2) กลุ่มหุ้นเชิงรับ/หลุมหลบภัยที่คาดว่าให้ผลตอบแทนดีในช่วง Sell in May ได้แก่ กลุ่มเครื่องดื่ม CBG, OSP กลุ่มท่องเที่ยว AOT, AWC กลุ่มการแพทย์ BDMS และกลุ่มค้าปลีก BJC, CRC และ 3) กลุ่มหุ้นที่คาดผลประกอบการ 1Q65 เติบโตดี YOY เลือก ZEN, AP, GFPT, TOP, BCP

ทั้งนี้ ช่วงสั้นเพิ่มความระมัดระวังการลงทุน 1) หุ้นกลุ่มขนส่ง, ยานยนต์, วัสดุก่อสร้าง, โรงไฟฟ้า, อสังหาริมทรัพย์, บรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีโอกาสถูก downgrade earnings หลังประกาศงบฯ 1Q65 จากผลกระทบต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น

และ 2) หุ้นที่มักจะเห็นแรงขายเกิดขึ้นในช่วงSell in May อย่างกลุ่มธนาคาร, วัสดุก่อสร้าง, อิเล็กทรอนิกส์ และหุ้นขนาดเล็ก


แล้วพบกันใหม่ในคอลัมน์ฉบับหน้า ด้วยรัก และหวังดี