กระแสออกหุ้นกู้มีประกันของบริษัทที่อันดับเครดิตไม่สูง

หุ้น ลงทุน บอนด์
คอลัมน์ : สถานีลงทุน
ผู้เขียน : ศิรินารถ อมรธรรม
สมาคมตราสารหนี้ไทย

ช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เกิดโควิดขึ้นเมื่อปลายปี 2019 ภาคเอกชนต่างได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ นักลงทุนระมัดระวังการลงทุนหุ้นกู้มากขึ้น โดยเฉพาะหุ้นกู้ที่ผู้ออกมีอันดับเครดิตไม่สูง หรือไม่จัดอันดับเครดิต ผู้ออกในกลุ่มนี้มีจำนวนลดลง

ผู้ออกที่สามารถออกและเสนอขายได้เปลี่ยนมาออกในรูปของหุ้นกู้มีประกันแทนจากเดิมที่ออกเป็นหุ้นกู้ไม่มีประกันเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุน

นักลงทุนส่วนใหญ่เมื่อได้ยินคำว่า “หุ้นกู้มีประกัน” (secured bond) มักจะรู้สึกว่าหุ้นกู้นั้นปลอดภัยกว่าหุ้นกู้ทั่วไปที่ไม่มีประกันเพราะมีสินทรัพย์เป็นหลักประกันการชำระหนี้ แต่หุ้นกู้มีประกันปลอดภัย จะไม่ผิดนัดชำระและผู้ลงทุนจะได้รับเงินต้นคืนเสมอไปจริงไหม ?

หุ้นกู้มีประกัน (secured bond) คืออะไร

หุ้นกู้มีประกัน คือ หุ้นกู้ที่ผู้ออกนำสินทรัพย์ เช่น ที่ดิน อาคาร หรือหุ้นสามัญของบริษัท มาเป็นหลักประกัน รวมถึงการจัดให้มีบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น เช่น บริษัทแม่ มาค้ำประกันการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ผู้ออก โดยถ้าผู้ออกเกิดผิดนัดชำระ ผู้ลงทุนจะสามารถเรียกร้องการชำระหนี้จากสินทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน หรือจากผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้แทน

ดังนั้นจะเห็นว่าการมีสินทรัพย์หรือผู้ค้ำประกันไม่ได้ช่วยให้อันดับเครดิตของผู้ออกเปลี่ยนแปลงไป แต่อาจช่วยให้หุ้นกู้ได้รับอันดับเครดิต (issue rating) สูงขึ้น หากสินทรัพย์หรือผู้ค้ำประกันนั้นมีความน่าเชื่อถือสูง และมีการจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้

เมื่อ “หุ้นกู้ผิดนัดชำระ” หรือเมื่อบริษัทผู้ออกล้มละลาย หลักประกันจึงจะมีความสำคัญขึ้นมา โดยผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะเป็นตัวแทนนักลงทุนยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ต่อศาล สินทรัพย์ที่ใช้ในการค้ำประกันจะถูกนำมาขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาใช้คืนหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่มีสิทธิเหนือสินทรัพย์นั้น

ส่วนหุ้นกู้มีประกันที่มีบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นค้ำประกันการออกหุ้นกู้ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะเรียกร้องการชำระหนี้จากผู้ค้ำประกัน และสามารถดำเนินการฟ้องร้อง ผู้ค้ำประกัน ตลอดจนบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของผู้ค้ำประกันได้ หากยังไม่ดำเนินการชำระหนี้ตามที่มีการแจ้งไป

ช่วงปลายปี 2016 ที่หุ้นกู้บางรุ่นมีปัญหาการจ่ายดอกเบี้ย การออกหุ้นกู้ระยะยาวที่มีประกันของผู้ออกในกลุ่มอันดับเครดิต under investment grade และกลุ่ม nonrated ได้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับมูลค่าการออกหุ้นกู้ระยะยาวของกลุ่มนี้ จาก 6% ในปี 2016 เป็น 32% ในปี 2019 และภายหลังการเกิดโควิดได้เพิ่มขึ้นเป็น 56% และ 68% ในปี 2020 และ 2021 ตามลำดับ ในขณะที่กลุ่ม investment grade มีสัดส่วนการออกหุ้นกู้มีประกันลดลงจาก 7% เหลือ 4% ในช่วง 2016-2021

สำหรับสินทรัพย์ที่ผู้ออกกลุ่ม under investment grade และกลุ่ม nonrated นำมาใช้เป็นหลักประกัน พบว่าส่วนใหญ่กว่า 63% เป็นที่ดิน อาคาร 7% เป็นหุ้นของบริษัทตัวเอง หรือของบริษัทอื่น และ 30% เป็นการค้ำประกันโดยบริษัทแม่ โดยมีมูลค่าของสินทรัพย์ที่นำมาเป็นหลักประกันสูงกว่ามูลค่าการออกหุ้นกู้ เฉลี่ย 1.4 เท่า สำหรับหลักประกันที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ และเฉลี่ย 2.6 เท่า ถ้าใช้หุ้นสามัญเป็นหลักประกัน

หุ้นกู้มีประกันปลอดภัย

น่าลงทุนจริงไหม ?

เมื่อหุ้นกู้มีประกันเกิดผิดนัดชำระ ผู้ลงทุนจะสามารถเรียกร้องการชำระหนี้จากสินทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน หรือจากผู้ค้ำประกันให้ชำระหนี้แทน ซึ่งการมีสินทรัพย์หรือผู้ค้ำประกันจะไม่ได้ช่วยให้อันดับเครดิตของผู้ออกเปลี่ยนแปลงไป แต่ถ้าหลักประกันมีมูลค่าเพียงพอที่จะชำระหนี้ได้ก็จะสามารถช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนได้ และอาจช่วยให้หุ้นกู้ได้รับอันดับเครดิตสูงขึ้น หากสินทรัพย์หรือผู้ค้ำประกันนั้นมีความน่าเชื่อถือสูง และมีการจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้

ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาหลักประกันว่ามีมูลค่าเพียงพอที่จะชำระหนี้ได้จริงไหม โดยสินทรัพย์แต่ละประเภทมีข้อสังเกตที่แตกต่างกัน เช่น ในกรณีที่ใช้หุ้นของบริษัท หรือบริษัทที่เกี่ยวข้อง เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน หากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ มูลค่าหุ้นของบริษัทก็มักจะผันผวนจนอาจไม่ครอบคลุมมูลค่าหุ้นกู้ ส่วนการจัดให้มีนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ค้ำประกันก็ควรตรวจสอบถึงภาระการค้ำประกันหนี้อื่น ๆ และสถานะทางการเงินว่ามีความสามารถที่จะชำระหนี้แทนได้จริง

สำหรับหลักประกันประเภทที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งดูว่าเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้จริง แต่บางครั้งมูลค่าประเมินอาจสูงเกินกว่ามูลค่าตลาดที่ถ้าต้องถูกบังคับขายอาจทำให้ขายได้ที่ราคาไม่ดี แถมกระบวนการฟ้องร้อง
เพื่อบังคับหลักประกันขายทอดตลาดเป็นกระบวนการที่มีค่าใช้จ่ายและต้องใช้เวลา ทำให้มีโอกาสที่จะได้เงินต้นคืนไม่ครบจำนวน

ที่กล่าวมานี้เป็นประเด็นหลักของหุ้นกู้มีประกันที่ผู้ลงทุนควรมีความเข้าใจเพื่อสามารถพิจารณาเลือกลงทุนหุ้นกู้ได้ตามที่ต้องการ