Supertrends กับการเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อเอเชีย-แปซิฟิก

การลงทุน ก.ล.ต.
แฟ้มภาพ

การระบาดของโควิด-19 และการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ทำให้ตลาดการเงินมีความผันผวนอย่างยิ่ง ส่งผลให้แนวคิดการลงทุนในหุ้นระยะยาวที่อิงกับ Supertrends มีความท้าทาย อย่างไรก็ตาม Supertrends ก็ยังสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า MSCI World Index ปี 2564 โดยสามารถอยู่เหนือวัฏจักรธุรกิจและความผันผวนต่าง ๆ

วันที่ 9 พฤษภาคม 2565  Michael Strobaek, Global Chief Investment Officer ของเครดิต สวิส กล่าวว่า “เราออกแบบ Supertrends ให้อยู่เหนือวัฏจักรธุรกิจ เพื่อเสนอโอกาสให้นักลงทุนสามารถลงทุนในหุ้นระยะยาวได้ และแม้ว่าแรงกระตุ้นในระยะสั้นมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนการลงทุนใน Supertrends ในบางธุรกิจมากกว่าอีกธุรกิจ แต่เราก็ต้องการให้นักลงทุนมองข้ามความเชื่อมั่นและความผันผวนของตลาดการเงินในระยะสั้น Supertrends เสนอโอกาสให้นักลงทุนบรรลุเป้าหมายทางการเงิน สังคม และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีนักลงทุนจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ มาในทิศทางนี้ เราจึงเชื่อว่า Supertrends นั้นจะคงอยู่ต่อไป”

ขณะที่ Nannette Hechler-Fayd’herbe, Head of Global Economics and Research ของเครดิต สวิส กล่าวว่า หัวข้อทั้งหมดของ Supertrends สอดคล้องกับ 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น และเพื่อที่จะให้ความเชื่อมโยงดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เราได้ติดตามความคืบหน้าของ SDGs ของยูเอ็นควบคู่ไปกับการติดตามการลงทุนใน Supertrends อย่างใกล้ชิด “เป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็นว่า Supertrends ของเรามีส่วนช่วยในเชิงบวกเพื่อให้เป้าหมายการพัฒนากว้างขึ้น ในขณะที่สามารถให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุน”

John Woods, Chief Investment Officer ของเครดิต สวิส กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียยังคงเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ จำนวนประชากรสูงอายุหรือชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย Supertrends มีความเกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ Supertrends ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยธนาคารโลกประมาณการว่าระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น 1 เมตร อาจทำให้ประชากรจำนวน 37 ล้านคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย โดย 23 ล้านคนนั้นอยู่ในประเทศจีนเพียงประเทศเดียว ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น 3 เมตร จะส่งผลกระทบต่อประชากรจำนวนถึง 90 ล้านคน โดย 52 ล้านคนอยู่ในประเทศจีน

“เรามีเวลาเหลืออยู่ไม่มากในการควบคุมปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่จะตามมา ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ตัวแปรสำคัญคือประเทศจีนและความจริงจังที่จีนมีต่อเป้าหมายที่ท้าทายความเป็นกลางทางคาร์บอน”

โดยเทรนด์การลงทุนในหุ้นระยะยาวมีรายละเอียด ดังนี้

1.ภาวะสังคมที่มีความวิตกกังวล (Anxious societies) 

แม้ว่าโควิด-19 ยังเป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับผู้คนจำนวนมาก แต่ปัจจุบันความกังวลต่อเรื่องดังกล่าวมีความสำคัญน้อยกว่าความยากจน ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม และการว่างงาน โดยภาคธุรกิจรวมถึงนักลงทุนมีบทบาทสำคัญในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วได้นำไปสู่ความท้าทายยิ่งขึ้นในกำลังซื้อของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อยู่อาศัยและอาหาร ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้กับบริษัทต่าง ๆ ที่สามารถจัดการกับความท้าทายนี้ได้

2.โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)

ในปี 2565 เป็นจุดเริ่มต้นการเติบโตอย่างรวดเร็วของโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาว อันเนื่องมาจากรัฐบาลของสหรัฐอเมริกาและยุโรป เริ่มมีการใช้จ่ายเพื่อโครงการโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ การใช้จ่ายส่วนใหญ่เน้นไปที่การคมนาคมขนส่ง การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร อัตราเงินเฟ้อส่งผลในเชิงบวกต่อโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากว่าบริษัทในธุรกิจขนส่งและสาธารณูปโภคที่มีการกำกับดูแลโดยภาครัฐสามารถปรับเพิ่มราคาได้ (โดยเชื่อมโยงกับดัชนีราคาผู้บริโภค หรือดัชนีเฉพาะธุรกิจนั้นต่ออัตราเงินเฟ้อ) ซึ่งการปรับราคามีการผนวกรวมอยู่ในสัญญา

3.เทคโนโลยี (Technology)

โดยตั้งแต่พฤศจิกายน 2564 หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีมีการปรับราคาเพื่อสะท้อนถึงอัตราดอกเบี้ยของโลกที่เพิ่มสูงขึ้น และข้อเท็จจริงที่ว่าหุ้นที่มีการเติบโตสูงมากในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 จะไม่ใช่หุ้นเติบโตอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติในธุรกิจดิจิทัลยังก้าวไปได้อีกไกลจากแรงกระตุ้นใหม่ ๆ โดยมีโลกเมตาเวิร์สเป็นแรงผลักดันที่สำคัญ การลงทุนในตลาดดิจิทัล การผลิต การขาย และการจัดจำหน่ายในโลกเมตาเวิร์สน่าจะมีการขยายตัวเมื่อประชากรในโลกเสมือนจริงนี้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น

4.ภาวะเศรษฐกิจสูงวัย (Silver Economy)

สิ่งสำคัญของเศรษฐกิจสูงวัยใน Supertrends คือการคาดว่าการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยมีผู้สูงอายุมากกว่าสองพันล้านคนภายในปี 2593 การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนอกจากจะเป็นการเพิ่มอุปทานแล้ว ยังเป็นความท้าทายในการหาโซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ทั้งในธุรกิจการดูแลสุขภาพ การประกันภัย ตลอดจนสินค้าอุปโภคบริโภคและอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ ธุรกิจการดูแลสุขภาพส่วนใหญ่จะเกี่ยวเนื่องกับโรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็งวิทยา และประสาทวิทยา นอกจากนี้เศรษฐกิจสูงวัยยังมีความเกี่ยวโยงกับบริษัทการเงินด้วย ผู้สูงอายุต้องการได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกันธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคบางอย่างก็มีความสำคัญต่อผู้สูงอายุด้วย

5.อิทธิพลของกลุ่มมิลเลนเนียล (Millennials’ values)

ห่วงโซ่อุปทานและเทรนด์การบริโภคยังไม่กลับสู่สภาวะปกติหลังวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเป็นผลให้ภาวะการบริโภคผันผวนในระยะสั้น แต่ความผันผวนนี้จะลดลงในระยะยาว อย่างเช่น คนใน Gen M หรือ Gen Y นี้พร้อมที่จะรับดิจิทัลเสมือนจริงเข้ามาในชีวิตประจำวันของตน ความยั่งยืนได้มีบทบาทสำคัญในพฤติกรรมการบริโภคประจำวันของคน Gen M ซึ่งมีความกังวลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมากและมีแรงจูงใจที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงโดยนำวิถีชีวิตที่ยั่งยืนมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดเกิดใหม่ที่มีประชากร Gen M ส่วนใหญ่อาศัยอยู่*

6.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change)

ได้มีพัฒนาการเกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ ที่ผ่านมา ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้เป็นแรงผลักดันการลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าและการคมนาคม ระบบอาหารโลกซึ่งมีผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ทั่วโลกมากกว่า 20% อยู่ในขั้นตอนของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการสร้างโอกาสให้อุตสาหกรรมขยายตัวในระยะยาวด้วย มีการติดตามการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวเนื่องในแผนพัฒนาประเทศระยะยาวของจีนอย่างใกล้ชิด ความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานดังกล่าวได้สนับสนุนโอกาสทางธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับ EV ในระยะยาว