ธปท. ผ่อนเกณฑ์ธุรกรรม “เงินโอนต่างประเทศ-Hedging” 13 พ.ค. นี้

โหลดแอปพลิเคชั่น

ธปท.ลุยผ่อนคลายเกณฑ์ธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยน ยกเลิกเพดานวงเงินโอนเงินออกไปต่างประเทศได้อย่างเสรี ยกเว้นธุรกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล- THB offshore พร้อมขยายขอบเขตผู้ประกอบการทำ Hedging และลูกค้าที่ทำ KYB ไม่ต้องยื่นเอกสารทำธุรกรรมเกิน 2 แสนดอลลาร์ มีผล 13 พ.ค.นี้

วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 นางอลิศรา มหาสันทนะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน เปิดเผยว่า ธปท.ยังคงเดินหน้าผลักดันโครงการระบบนิเวศของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (Fx Ecosystem) ต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2563 เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอัตราแลกเปลี่ยนไทยอย่างยั่งยืน

โดยมาตรการล่าสุดที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 พ.ค.65 นี้ จะเป็นการผ่อนคลายหลักเกณฑ์เกี่ยวกับธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (FX regulatory framework) โดยจะประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 1.การซื้อเงินตราต่างประเทศ (FX) โดยสามารถโอนเงินไปยังต่างประเทศได้เสรีขึ้น 2.ขยายขอบเขตการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) ให้กว้างขึ้น และ 3.การเรียกเอกสารหลักฐาน

โดย 1.การซื้อเงินตราต่างประเทศ (FX) โดยสามารถโอนเงินไปยังต่างประเทศได้เสรีขึ้น และชำระ FX ในประเทศได้ตามความจำเป็น ซึ่งจากเดิมธปท.จะดูตามวัตถุประสงค์มีอยู่ 3 กลุ่ม คือ 1.1 กลุ่มที่ไม่ให้ทำเลย เพราะเป็นกลุ่มที่กระทบต่อเสถียรภาพ จากเดิมมีอยู่ 10 วัตถุประสงค์ ปัจจุบันจะเหลือเพียง 4 วัตถุประสงค์ 3 เรื่อง ได้แก่

ส่งเงินเพื่อการชำระค่าสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะเป็นเรื่องใหม่และมีการพัฒนาค่อนข้างรวดเร็ว จึงต้องการอยากตืดตามกระแสเงินทุนเหล่านี้ก่อน หรือการส่ง FX ออกไปทำธุรกรรมเกี่ยวกับเงินบาทกับสถาบันการเงินในต่างประเทศ (THB offshore) เพราะถ้ามีขนาดใหญ่ขึ้นจะกระทบกับค่าเงินบาท และการโอนเงินค่าทองคำไม่นำเข้า ซึ่งจะเป็นโฟลว์เพื่อซื้อทองคำในต่างประเทศ อาจจะกระทบต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายได้

1.2 วัตถุประสงค์ที่ทำได้แต่กำหนดเพดานต่อปี เช่น การโอนเงินซื้ออสังหาริมทรัพย์ และให้กู้เงินกิจการในเครือ จากเดิมจะมีการจำกัดวงเงิน ปัจจุบันยกเลิกการมีวงเงินโอน FX ออก โดยให้เหลือเฉพาะวงเงินของการส่งเงินให้เปล่าแก่บุคคลในต่างประเทศได้ไม่เกิน 5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี

และ 1.3สามารถทำได้เลย โดยนิติบุคคลสามารถซื้อ FX เพื่อชำระในประเทศได้ตามความจำเป็น โดยไม่ต้องขออนุญาต เช่น การชำระค่าสินค้าบริการในประเทศเป็น FX เพราะต้องอ้างอิงราคาตลาดโลก เช่น น้ำมัน ซึ่งจากเดิมจะต้องมีการเปิดบัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ (FCD) แต่ปัจจุบันธปท.อนุญาตให้สามารถซื้อ FX และสามารถชำระเงินกันเองได้ โดยไม่ต้องเปิดบัญชี FCD เช่น ธุรกรรมที่มีการซื้อขายและโค้ดเป็นสกุลเงินดอลลาร์ เป็นต้น

ขณะที่ 2.ขยายขอบเขตการทำ Hedging นั้น ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องมีความเสี่ยงจากการมีรายรับรายจ่ายสกุล FX กับต่างประเทศโดยตรงเท่านั้น แต่สามารถรวมความเสี่ยง FX อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ทางตรงได้ด้วย เช่น ความเสี่ยงจากการชำระค่าสินค้าที่อ้างอิงราคาตลาดโลกกับคู่ค้า ในประเทศ ความเสี่ยงจากการกู้ยืมเงินสกุลอื่นที่ไม่ตรงกับรายได้ของบริษัท (currency mismatch)

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะสามารถใช้ประมาณการรายรับรายจ่ายสกุล FX ในอนาคต และความเสี่ยง FX ของกิจการในเครือมาป้องกันความเสี่ยงได้ จากเดิมที่ทั้งหมดนี้ ต้องขออนุญาตก่อน

และ 3.การเรียกเอกสารหลักฐาน จากเดิมผู้ประกอบการที่มียอดธุรกรรมเกินกว่า 2 แสนดอลลาร์จะต้องมีการแสดงหลักฐานถึงเหตุผลความจำเป็นรายธุรกรรม แต่หลังจากมีการหารือกับธนาคารพบว่ามีกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารรู้จักอยู่แล้วผ่านการทำกระบวนการ Know Your Business (KYB) ดังนั้น ธปท.จึงยกเลิกการแสดงหลักฐานหากลูกค้าหรือผู้ประกอบการรายนั้นมีการทำ KYB กับธนาคารแล้ว แม้ว่าจะมียอดธุรกรรมเกินกว่า 2 แสนดอลลาร์ก็ตาม

“ภาพรวมจากการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ จะทำให้คนไทยได้ประโยชน์จากการทำธุรกรรรมโอนเงิน จ่ายเงิน ชำระเงินทำได้สะดวกยิ่งขึ้น และยังช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศและป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้สะดวกยิ่งขึ้น ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง จะช่วยให้เกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินของประเทศมีความสมดุลมากขึ้นระหว่างด้านขาเข้าและขาออ

ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันป้องกันผลกระทบจากค่าเงินได้ดียิ่งขึ้น ภายใต้ภาวะตลาดการเงินที่มีความผันผวนสูงและคาดเดาได้ยาก”

นางสาวชนานันท์ สุภาดุล ผู้อำนวยการ สำนักนโยบายโครงสร้างตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ธปท.กล่าวว่า สำหรับในระยะถัดไป ธปท.มีแผนที่จะปรับ FX service provider landscape ผ่านการปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการธุรกรรม FX ที่ไม่ใช่ธนาคาร (non-bank) เช่น money changer (MC) และ money transfer (MT) เพื่อให้ลูกค้ารายย่อยและ SMEs เข้าถึงบริการ FX ได้สะดวกขึ้น และช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรม โดยมีแนวทางเบื้องต้น ได้แก่

1.ขยายขอบเขตการให้บริการ FX ของ non-bank ในปัจจุบัน เช่น ให้ทำธุรกรรมได้หลากหลายวัตถุประสงค์ขึ้น 2.ขยายขอบเขตของใบอนุญาตให้รองรับบริการรูปแบบใหม่ เช่น ซื้อขาย FX ผ่าน platform และ 3.ปรับแนวทางการอนุญาต non-bank ในการให้บริการธุรกรรม FX ให้ยืดหยุ่นขึ้น ซึ่งจะเอื้อให้ non-bank สามารถให้บริการได้หลากหลายและปรับเปลี่ยนธุรกิจได้คล่องตัวยิ่งขึ้น

“สิ่งที่น่าจะเห็นได้ก่อนน่าจะเป็นเรื่องไลเซ่นส์ที่มีความเข้มงวด จากเดิมกำหนด 1 ต่อ 1 สาขา น่าจะทยอยเห็นเกณฑ์ในปลายปี ส่วนเรื่องขยายธุรกิจแบบใหม่บนแพลตฟอร์ม หรือขยายขอบเขตการทำธุรกรรม อาจจะต้องดูรายละเอียดก่อนดำเนินงาน เพราะบางเรื่องอาจจะต้องแก้กฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ซึ่งบางเรื่องเป็นระเบียบภายในธปท. แต่บางเรื่องเป็นระเบียบจากหน่วยงานอื่น เช่น กฎกระทรวงการคลัง จึงน่าจะเป็นการทยอยออกหลักเกณฑ์มาต่อเนื่องปีนี้และปี 66-67”

สำหรับผลการดำเนินงานที่ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ 1.การผ่อนคลายเกณฑ์การลงทุนในต่างประเทศ และ 2.การติดตามข้อมูลต่างๆ โดยให้นักลงทุนมาลงทะเบียน และ 3.การให้บริษัทต่างชาติมาจดทะเบียนเพื่อให้สามารถทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินในไทยได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ ภายหลังจากการผ่อนคลายการลงทุนต่างประเทศ พบว่า คนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศในปี 64 สูงขึ้นในรอบ 10 ปี อยู่ที่ 16.1 พันล้านดอลลาร์ ส่วนหนึ่งมาจากภาวะตลาดที่ค่อนข้างเติบโต อย่างไรก็ดี มาในปีนี้จากตลาดที่มีความผันผวนพบว่าคนไทยได้มีการถอนการลงทุนในต่างประเทศลดลงบางส่วน และหากดูจำนวนนักลงทุนรายย่อยที่ลงทุนผ่านโบรกเกอร์ในประเทศ และต่างประเทศมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 3 เท่า

ขณะที่การลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ไทย (BIR) เพื่อให้ธปท.มีการติดตามข้อมูลได้ดีขึ้น โดยปัจจุบันมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทะเบียนแล้วจำนวน 8,000 บัญชี โดยประมาณ 70-80% เป็นธุรกิจจัดการกองทุน ส่วนนักลงทุนไทยแม้ไม่ได้มีการลงทะเบียน แต่จะมีการประสานข้อมูลกับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (TSD)

และ 3.การให้บริษัทต่างชาติมาลงทะเบียนภายใต้โครงการ NRQC พบว่า มีบริษัทเข้ามาลงทะเบียนทั้งสิ้น 47 ราย และมีปริมาณธุรกรรมกับสถาบันการเงินไทยแล้วราว 10.9 พันล้านดอลลาร์ โดยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศอียูและเอเซีย รวมถึงการเปิดบัญชี FCD มีปริมาณเพิ่มขึ้นทั้งในแง่จำนวนผู้ใช้บริการ มูลค่า และปริมาณธุรกรรม

“การปรับโครงสร้าง FX Ecosystem จะมีผลในระยะยาว โดยเป้าหมายของเราต้องการให้โฟลว์กระจายไปในธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคเศรษฐกิจ ส่วนการป้องกันความเสี่ยงอาจจะขึ้นกับหลายปัจจัย โดยที่ผ่านมาจะเห็นว่าเงินบาทเราจะถูกขับเคลื่อนจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก จึงเป็นเรื่องที่จะต้องเปลี่ยน Mindset ด้วย”