แบงก์ปล่อยกู้ ไตรมาสแรกปี 65 โตกระฉูด ธปท.ห่วงลูกหนี้เปราะบาง

ทิศทางดอกเบี้ยไทย

ธปท.เปิดตัวเลขสินเชื่อแบงก์โตพุ่งไตรมาสแรก ล้อตามเศรษฐกิจขยายตัวได้ 2.2% ชี้เติบโตดีกว่าช่วงโควิด-ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่หนี้เสียยังค่อนข้างทรงตัว หลังแบงก์เร่งปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว จับตาลูกหนี้รายย่อย “เปราะบาง” มากขึ้นจาก “ภาระหนี้สูง-ค่าครองชีพพุ่ง”

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 1/2565 ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีอัตราการขยายตัวของสินเชื่อที่ 6.9% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/2564 ที่ขยายตัว 6.5% สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น จากไตรมาสแรกที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ 2.2%

“การเติบโตสินเชื่อ 6.9% ถือว่ากลับมาขยายตัวสูงกว่าบางปีก่อนจะมีการระบาดของโควิด-19 และสูงกว่าประเทศในภูมิภาคที่มีการเติบโตเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทย เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยมีเพียงแค่เวียดนามที่ขยายตัวมากกว่าไทย”

โดยในรายละเอียด พบว่า สินเชื่อธุรกิจขยายตัวได้ 8.8% จากไตรมาสก่อนอยู่ที่ 7.9% ซึ่งสินเชื่อขนาดใหญ่เติบโต 14.8% และสินเชื่อเอสเอ็มอีโต 1.3% ขณะที่สินเชื่อรายย่อยชะลอตัวลงอยู่ที่ 3.3% จาก 4.0% ในไตรมาสก่อน

โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยชะลอตัวลงมาที่ 3.4% ตามยอดมูลค่าการโอนที่ลดลง และสินเชื่อส่วนบุคคลชะลอตัวจาก 7.8% ในไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 6.6% สะท้อนความต้องการสภาพคล่องของครัวเรือน แต่ธนาคารยังคงให้ความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มเปราะบางตามภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น

ส่วนสถานการณ์หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในไตรมาสแรก ค่อนข้างทรงตัว โดยปรับลดลงเล็กน้อยจาก 2.98% ในไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 2.93% โดยหนี้กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ปรับลดลงจาก 6.39% มาอยู่ที่ 6.09% จากผลของมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวของธนาคารพาณิชย์

โดยเอ็นพีแอลธุรกิจอยู่ที่ 2.99% เป็นเอ็นพีแอลของธุรกิจขนาดใหญ่ 2.16% ลดลงจาก 2.23% เอ็นพีแอลของเอสเอ็มอี 7.04% ลดลงจาก 7.06% และเอ็นพีแอลรายย่อยอยู่ที่ 2.78% เพิ่มขึ้นจาก 2.73% โดยเอ็นพีแอลบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลขยับเพิ่มขึ้น 2.78% และ 2.49% ตามลำดับ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังคงมีความเปราะบางและยังต้องติดตามคุณภาพหนี้ใกล้ชิด

“ภาพรวมสินเชื่อเรากลับมาดีกว่าช่วงโควิด และดีกว่าภูมิภาคแล้ว ส่วนแนวโน้มหนี้เสียทรงตัว สอดคล้องกับที่เราพยายามผลักดันมาตรการแก้หนี้ยั่งยืน ซึ่งจะมีผลไปถึงสิ้นปี 2566 บวกกับภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงมีความแข็งแกร่ง ทำให้หน้าผาเอ็นพีแอลคงไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยตอนนี้เรากำลังมีการทำผลทดสอบภาวะวิกฤต (street test) อยู่ คาดว่าไตรมาส 3 น่าจะออกมาให้เห็น”

นางสาวสุวรรณีกล่าวว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีความแข็งแกร่ง ทั้ง 4 ด้าน คือ มีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูงที่ 3.01 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 19.8% มีเงินสำรองอยู่ที่ 9.09 แสนล้านบาท และอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Coverage Ratio) อยู่ที่ 165.6%

ส่วนกำไรของระบบธนาคารพาณิชย์ ในไตรมาสที่ 1/2565 ปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 4.9 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 11.8% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับขึ้น

ขณะที่การตั้งสำรองหนี้เสียอยู่ที่ 4.1 หมื่นล้านบาท ยังคงอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับสัดส่วนหนี้เสีย แม้ว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือ โดยจะเห็นว่าการตั้งสำรองหนี้สูงต่อเนื่อง โดยในปี 2562-2563 อยู่ที่ 2 แสนล้านบาท และในปี 2563-2564 อยู่ที่เกือบ 2 แสนล้านบาท


“ภาพรวมระบบแบงก์ยังคงมีความเข้มแข็ง แต่เรายังคงต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อรายย่อย ที่สะท้อนถึงความเปราะบางมากขึ้น จากปัญหาภาระหนี้และค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งอาจจะมากระทบความสามารถในการชำระหนี้ได้ อย่างไรก็ดี มาตรการแก้หนี้ครัวเรือน เป็นสิ่งที่ ธปท.ให้ความสำคัญมาโดยตลอดแต่อาจจะต้องอยู่ในช่วงเวลาและจังหวะที่เหมาะสม โดยยึดเรื่องการเพิ่มรายได้ และการลดภาระหนี้ เพราะถ้าจำกัดการก่อหนี้ อาจทำให้คนหันไปสู่นอกระบบ จึงต้องคิดให้รอบคอบ”