ธปท.เล็งออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง

ธปท.

ธปท.หารือหน่วยงานเกี่ยวข้อง เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง “รายได้น้อย-พ่อค้าแม่ค้า” เน้นแก้หนี้ครัวเรือนแบบบูรณาการ-เพิ่มรายได้ เผย 5 แนวทางแก้หนี้ครัวเรือน ประเมินหนี้เสียไม่ทะยาน หลังเศรษฐกิจฟื้นตัว-เปิดประเทศ

วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ปัญหาหนี้สินครัวเรือนเป็นปัญหาที่ ธปท.ให้ความสำคัญมาตลอด โดยอยากแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนครบวงจร ซึ่งหากถามว่ามาตรการทางการเงิน วันนี้ถือว่ามีเพียงพอหรือไม่ คงไม่เพียงพอ โดยเฉพาะมาตรการที่เข้าไปดูแลกลุ่มเปราะบาง ปัจจุบันที่เห็นหนี้สินครัวเรือนที่สูงขึ้น เพราะส่วนใหญ่คนที่มีผลกระทบมากคงเป็นกลุ่มรายได้น้อย รายได้ปานกลาง ดังนั้น จะต้องมีอะไรที่เสริมเข้ามา

โดยตอนนี้ ธปท.อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการหามาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเพิ่มเติมเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า เช่น การเสริมรายได้ให้กับลูกหนี้ การดูแลปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการแก้หนี้อย่างบูรณาการ รวมถึงการส่งเสริมให้สถาบันการเงินมีวัฒนธรรมในการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดรับชอบ (Responsible Lending) และนำไปเป็นวัฒนธรรมองค์กร เพื่อทำให้ภาพรวมของลูกหนี้ดีขึ้น และต้องการให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

อย่างไรก็ดี มาตรการคงต้องไปเจาะกลุ่มเป้าหมาย เพราะเรารู้ว่ากลุ่มไหนที่มีความเปราะบาง สิ่งที่ ธปท.มองว่าเร่งด่วน คือ การเจาะให้ถึงลูกหนี้ การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเหล่านั้น คือแม่ค้าพ่อค้ารายได้น้อย คนที่มีรายได้ต่ำ รายได้ปานกลาง ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันการเงินก็ไม่นิ่งนอนใจ และพยายามจะดูว่ามีปัญหาอุปสรรคหรือไม่ โดยธปท.ก็เข้าไปดูแลและติดตามตลอด ซึ่งมาตรการที่ทำอยู่ หัวใจสำคัญ คือ ทำอย่างไรให้ลูกหนี้ที่มีปัญหาชำระหนี้ได้ผ่านพ้นวิกฤตตรงนี้ไปบ้าง ซึ่งลูกหนี้เหล่านี้สถาบันการเงินก็ต้องไปติดตามดูแล

“วันนี้มาตรการก็มีการหารือกันอยู่ก็คงมีมาตรการเพิ่มเติม ที่เข้ามา แต่อย่างว่าโจทย์คงไม่ได้อยู่ที่แบงก์ชาติหน่วยงานเดียวที่ดูแลเรื่องนี้ เพราะหนี้สินครัวเรือน หนี้สินลูกหนี้เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขบูรณาการทั้งหมด ทั้งวิธีการในการเสริมรายได้ให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ เรื่องการดูแลปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งการหารือการทำมาตรการดังกล่าว ต้องหารือทั้งภายในและภายนอกที่เกี่ยวข้อง”

“ส่วนมาตรการจะเห็นได้เมื่อไหร่ คงต้องหารือกัน วันนี้มาตรการที่เรามีอยู่วันนี้เอาให้แข็งแกร่งก่อน ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว หรือมาตรการรวมหนี้ก็เชื่อว่าจะสามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนได้บ้าง”

นายรณดล กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น จะมีอยู่ด้วยกัน 5 ข้อ คือ 1.การให้ความรู้ประชาชนก่อนการกู้ยืมเงิน โดยคำนึงถึงความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น กลุ่มนักศึกษา เป็นต้น

2.สถาบันการเงินจะต้องมีความรับผิดรับชอบในการปล่อยสินเชื่อ โดยนอกจากพิจารณาถึงความสามารถในการชำระหนี้แล้ว จะต้องคำนึงถึงว่าลูกหนี้มีเงินเพียงพอใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหลังจากการกู้เงินหรือไม่ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งการพิจารณาสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) แม้ว่า ธปท.ไม่ได้กำหนดว่าจะอยู่ที่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่จะให้แต่ละธนาคารมีการกำหนดนิยาม ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละธนาคาร

3.หน่วยงานการกำกับในฐานะดูแลสถาบันการเงินก็ต้องมีหน้าที่ในการให้ความแน่ใจเกี่ยวกับนโยบาย โดยเฉพาะความรู้ความเข้าใจทางการเงิน และการรับผิดชอบในการให้บริการทางการเงินจะต้องสนับสนุนด้านองค์ความรู้และการช่วยเหลือลูกหนี้

4.เมื่อเกิดปัญหาแนวทางการแก้ไขปัญหาจะเป็นอย่างไร โดย ธปท.และสถาบันการเงินจะต้องร่วมมือกัน ซึ่งที่ผ่านมามาตรการได้ปรับจากมาตรการพักหนี้ชั่วคราว มาเป็น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน หรือหากกรณีเกิดการฟ้องร้องก็มีมาตรการไกล่เกลี่ยหนี้ เพื่อไม่ให้ไปถึงจุดกระบวนการถึงศาล เป็นต้น

และ 5.การมีข้อมูลลูกหนี้ที่ชัดเจนมากขึ้น เพื่อจะช่วยเหลือลูกหนี้ได้ตรงจุด แม้ว่าปัจจุบันจะมีข้อมูลจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) แต่ข้อมูลยังคงกระจัดกระจาย ซึ่งภาพรวมว่าลูกหนี้มีหนี้เท่าไหร่ก็ยังไม่สมบูรณ์แบบ เพราะมีส่วนหนึ่งที่ยังไม่เข้าเครดิตบูโร เช่น สหกรณ์ หนี้นอกระบบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ธปท.อยากเห็นโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้ภาพรวมเหล่านี้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะเห็นว่าตอนนี้เริ่มเห็นเศรษฐกิจเริ่มดี เห็นการขยายตัวของสินเชื่อรายย่อยเพิ่มขึ้นบ้าง คิดว่าหนี้เสียจะไม่เป็นในลักษณะเพิ่มขึ้นทะยาน หากขึ้นก็ปรับขึ้นเล็กน้อย เพราะธนาคารพยายามดูแลและบริหารจัดการลูกหนี้อยู่

ขณะที่การขอจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (JVAMC) ร่วมกันระหว่างธนาคาร กับบริษัท บริหารสินทรัพย์ (AMC) นั้น จะเริ่มทยอยเข้ามา โดยคาดว่าปีนี้น่าจะสามารถเปิดได้ อย่างไรก็ดี ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติหลักฐานว่ามีความพร้อมหรือไม่ โดยมองว่า JVAMC ไม่ได้เข้ามาช่วยลดหนี้เสีย แต่เข้ามาดูแลลูกหนี้โดยรวม หากไม่สามารถหาทางออกได้กับลูกหนี้ ก็อาจช่วยลูกหนี้ในภาพรวม