กอบศักดิ์ลั่นถึงเวลาหาเครื่องยนต์ใหม่ให้เศรษฐกิจไทย เตือนส่งออกกำลังหมดแรง

ผู้ส่งออกทางเรือ

“กอบศักดิ์” ลั่นถึงเวลาหาเครื่องยนต์ใหม่ให้เศรษฐกิจไทย สะท้อนจากรายงานสภาพัฒน์พบว่า “ส่งออก” กำลังหมดแรง ขณะที่ “ลงทุนเอกชน-ก่อสร้าง-การผลิตสินค้า” แผ่วลง ชี้เครื่องยนต์ชุดใหม่มาจาก 3 ส่วน

วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ โพสต์เฟซบุ๊ก “Dr.KOB” (https://www.facebook.com/drkobsak) ระบุว่า ถึงเวลาหาเครื่องยนต์ใหม่ให้เศรษฐกิจไทย หลังจากเมื่อวานนี้สภาพัฒน์ (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ได้แถลงตัวเลข GDP ไตรมาสแรกปี 2565 ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจหลายเรื่อง

โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YOY%) เศรษฐกิจขยายตัว 2.2% ดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ 1.8% เมื่อไตรมาสก่อนหน้า ส่วนเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนเศรษฐกิจขยายตัว 1.1% ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ 1.8% เมื่อไตรมาสก่อนหน้า

“ข้อมูลชุดนี้ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยภายใต้ความท้าทายของโอมิครอน และช่วงแรกของสงครามรัสเซีย-ยูเครน และราคาน้ำมันที่สูงขึ้นยังพอไปได้ แต่แรงส่งทางเศรษฐกิจแผ่วลงเล็กน้อย ดังนั้น สภาพัฒน์จึงได้ปรับลดอัตราการเจริญเติบโตปี 2565 ลงประมาณ 1% จากความผันผวนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไว้ที่ 2.5-3.5% จาก 3.5-4.5% และประมาณตัวเลขเงินเฟ้อทั้งปีไว้ที่ 4.2% จาก 1.2% เมื่อปีก่อนหน้า”

ดร.กอบศักดิ์ระบุอีกว่า อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจจริง ๆ ของรายงานดังกล่าวอยู่ที่ไส้ในของตัวเลข ซึ่งทำให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องหาแรงขับเคลื่อนใหม่ให้กับเศรษฐกิจไทยในปี 2565 เพื่อจะฟันฝ่าปัญหาของเศรษฐกิจโลกที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ และอาจจะลุกลามมากขึ้นในระยะต่อไป

เนื่องจากเครื่องยนต์เศรษฐกิจบางตัวกำลังแผ่วลงจากปีก่อนหน้า โดยการส่งออกขยายตัวลดลงจาก 14.9% ในปี 2564 เหลือ 10.2% ในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2565 ขณะที่การผลิตสินค้าภาคอุตสาหกรรม ลดลงจาก 4.9% เหลือ 1.9% การลงทุนรวมรัฐเอกชน ลดลงจาก 3.4% เหลือ 0.8% และภาคก่อสร้าง ลดลงจาก 2.7% เหลือ -5.5%

โดยภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสหากรรม เป็นผลจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ซึ่งหมายความต่อไปว่า การส่งออกที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของไทยที่เราพึ่งพามา 2 ปี กำลังหมดแรง การลงทุนรัฐ เอกชน และภาคการก่อสร้าง กำลังชะลอตัวลงเช่นกัน

ส่วนที่พอไปได้ดีก็คือ การบริโภค ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 0.3% เป็น 3.9% ภาคการเกษตร ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 1% เป็น 4.1% การส่งออกบริการ (ท่องเที่ยว) จาก -23.1% เป็น 30.7% ที่พักแรมและร้านอาหาร จาก -14.4% เป็น 34.1% การขนส่งและเก็บสินค้า จาก -2.9% เป็น 4.6% สะท้อนการบริโภคที่ดีขึ้นจากปีที่แล้ว จากฐานต่ำเพราะมีการแพร่ระบาดของโควิด 3 รอบ ภาคการเกษตรที่ได้รับอานิสงส์ที่ดีจากราคาสินค้าเกษตรโลก และจากภาคการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศเริ่มกลับมา ส่งผลดีต่อเนื่องไปยังโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร และภาคขนส่ง

“ทั้งหมดมีนัยต่อไปว่า เราคงต้องเริ่มคิดหาแรงขับเคลื่อนใหม่ ๆ ให้กับเศรษฐกิจไทยก่อนที่จะสายเกินไป โดยเปลี่ยนเครื่องยนต์จากปีที่แล้วที่เราพึ่งพาการส่งออก การใช้จ่ายบริโภคในประเทศ และการเที่ยวในประเทศของคนไทยไปยังเครื่องยนต์ใหม่ที่จะมาช่วยภาคส่งออก ซึ่งน่าจะขยายตัวแผ่วลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของปีก่อนหน้า”

ดร.กอบศักดิ์ ระบุว่า เครื่องยนต์ชุดใหม่น่าจะมาจากการท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ขยายตัวอย่างน่าพอใจ ซึ่งจากตัวเลขต่าง ๆ คิดว่าปีนี้น่าจะได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ประมาณ 5-6 ล้านคน และจะทำให้ภาคท่องเที่ยวกลับมาได้ดีขึ้นมากในช่วงปลายปี

การลงทุนของรัฐ เอกชน ที่ต้องเร่งรัดโครงการของโครงสร้างพื้นฐานให้มากขึ้น และเร่งให้โครงการใน EEC เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด สนามบินอู่ตะเภา และรถไฟเชื่อมสามสนามบิน เริ่มต้นลงทุน และ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่กำลังกลับมาอีกรอบ หลังจากการเดินทางที่เปิดขึ้นทำให้การตกลงทางธุรกิจมีความสะดวกยิ่งขึ้น

“หากเราสามารถติดเครื่องยนต์ชุดใหม่ได้ทั้ง 3 ด้าน เศรษฐกิจไทยก็จะมี Momentum เพียงพอที่จะรับกับวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังก่อตัวขึ้นในระบบเศรษฐกิจโลก” ดร.กอบศักดิ์ระบุ