EIC ประเมินเงินเฟ้อไทยสูงทั้งปี รัฐทยอยลดอุดหนุนราคาน้ำมันเพิ่มแรงกดดัน

เงินเฟ้อ

EIC ไทยพาณิชย์ คาดการณ์เงินเฟ้อไทยปีนี้อยู่ระดับสูงต่อเนื่อง เหตุราคาพลังงานสูงดันเงินเฟ้อโลกลามไทยมากขึ้น-แถมรัฐทยอยลดอุดหนุนราคาน้ำมัน มองผู้ประกอบการยังส่งผ่านต้นทุนได้จำกัด

วันที่ 21 พฤษภาคม 2565 ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) โพสต์เฟซบุ๊ก “Somprawin Manprasert” ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกเร่งตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ นำโดยสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรปที่อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี และ 30 ปีตามลำดับ

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อในกลุ่มเศรษฐกิจกำลังพัฒนา (Emerging Markets: EMs) โดยเฉพาะในลาตินอเมริกาก็ปรับสูงขึ้นเร็วเช่นกัน การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อทั่วโลกที่ร้อนแรง เป็นผลมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมาทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าและพลังงานเพิ่มขึ้น

2. ปัญหาอุปทานคอขวด (supply-chain disruption) รวมถึงนโยบายควบคุมโควิดของจีน ส่งผลให้อุปทานขาดแคลนและขยายตัวได้ไม่ทันต่ออุปสงค์ และ 3. สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ตอกย้ำให้สถานการณ์ความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานรุนแรงขึ้น กดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มเติม

EIC มองว่า เงินเฟ้อมีแนวโน้มยังอยู่ในระดับที่สูงต่อเนื่องในปีนี้ แต่อาจชะลอลงเล็กน้อยในช่วงครึ่งหลังของปี และปรับลดลงเข้าใกล้ระดับเป้าหมายของธนาคารกลางส่วนใหญ่ได้ในปี 2023 จากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนและปัญหาอุปทานคอขวดที่คาดว่าจะทยอยคลี่คลายลง การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างที่จะชะลอลงจากอุปทานแรงงานที่จะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ปัจจัยฐานต่ำที่จะทยอยหมดไป และผลของการดำเนินนโยบายของภาครัฐและธนาคารกลางที่จะตึงตัวขึ้นทำให้อุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจชะลอลง

เงินเฟ้อโลกที่เร่งตัวขึ้นจะส่งผลต่อเงินเฟ้อไทยค่อนข้างจำกัด เนื่องจากสินค้านำเข้าของไทยจำนวนมากถูกนำไปใช้ผลิตเพื่อการส่งออก ไม่ได้ใช้ในการบริโภคขั้นปลายหรือผลิตเพื่อการอุปโภคบริโภคภายในประเทศมากนัก จึงทำให้เงินเฟ้อไทยมีความอ่อนไหวต่อราคาสินค้านำเข้าต่ำ

นอกจากนี้ ถึงแม้ประเทศไทยเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันสุทธิ แต่เงินเฟ้อไทยอาจไม่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานในตลาดโลกที่สูงขึ้นอย่างเต็มที่ เนื่องจากมีมาตรการช่วยเหลือหลายอย่างจากภาครัฐ โดยเฉพาะการตรึงราคาพลังงาน

“สำหรับในระยะถัดไป อัตราเงินเฟ้อโลกจะส่งผ่านเข้ามาในประเทศไทยได้มากขึ้นจากราคาพลังงานที่จะยังคงยืนอยู่ในระดับสูงและการทยอยลดการอุดหนุนราคาจากรัฐ แต่การส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการมายังผู้บริโภคจะมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ อีกทั้ง ปัญหาอุปทานคอขวดที่จะคลี่คลายลงชัดเจนในปีหน้าจะทำให้อุปทานสินค้ามีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อจะทยอยลดลงได้” ดร.สมประวิณระบุ