แบงก์ลุยตั้งบริษัทร่วมทุนสางหนี้เสีย 5 แสนล้าน เปิดตัวเลข NPL 10 แบงก์

หนี้

ธุรกิจบริหารหนี้คึกคัก ยอดเอ็นพีแอลคงค้างขยับ 5.32 แสนล้าน วงในประเมินปีนี้แบงก์ตัดขายหนี้เสีย 2 แสนล้าน “CHAYO-BAM-JMT” เร่งปิดดีลตั้งบริษัทร่วมทุน “กสิกรไทย-ทีทีบี” ขยายบทบาทบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ SAM เผยสัดส่วนหนี้เสีย “ที่อยู่อาศัย” เพิ่มขึ้น ธปท.เปิดตัวเลข 4 แบงก์ใหญ่แบก NPL กว่า 4 แสนล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยตัวเลขสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1 ปี 2565 ยอดคงค้างเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5.31 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.93% ของสินเชื่อรวม

โดยปีนี้สถาบันการเงินมีความเคลื่อนไหวในการบริหารจัดการหนี้เสียมากขึ้น หลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของ ธปท.ทยอยสิ้นสุดลง และธปท.ได้เปิดทางให้ธนาคารเข้าร่วมจัดตั้งบริษัทร่วมทุนบริหารสินทรัพย์ (JVAMC) เพื่อช่วยบริหารสินทรัพย์ด้วยคุณภาพ และเป็นกลไกสำคัญช่วยลดหนี้เสีย

แบงก์ตัดขายหนี้เสีย 2 แสนล้าน

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชโย กรุ๊ป หรือ CHAYO เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเมินว่าปี 2565 สถาบันการเงินทั้งระบบจะมีการตัดขายหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ราว 2 แสนล้านบาท ปัจจุบันทั้งระบบแบงก์มีเอ็นพีแอลคงค้างกว่า 5 แสนล้านบาท คาดว่าจะเห็นธนาคารพาณิชย์การตัดขายหนี้คึกคักครึ่งปีหลัง เพื่อลดภาระการตั้งสำรองของแบงก์

รวมถึงจะเห็นการบริหารหนี้เสียผ่านการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนบริหารสินทรัพย์ (JVAMC) ระหว่างบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) กับธนาคารมากขึ้น โดยในส่วนของชโยกำลังทำโมเดลธุรกิจร่วมทุนกับธนาคารกสิกรไทย รวมทั้งพูดคุยกับสถาบันการเงินอีก 2 แห่ง โดยดีลของธนาคารกสิกรไทยคืบหน้ามากที่สุดคาดว่าจะเป็นรูปร่างปลายไตรมาส 3 ต้นไตรมาส 4 ปีนี้

“เราตกลงกับธนาคารกสิกรไทยว่าจะทดลองดำเนินงานร่วมกันเป็นเวลา 6 เดือน โดยกสิกรไทยจะโอนหนี้มาให้บริษัทร่วมทุนบริหาร ซึ่งบริษัทจะเสนอราคาไปยังธนาคารเพื่อดูว่าการซื้อและขายจะเป็นไปในลักษณะใดจากนั้นจะตกลงในรายละเอียดการร่วมทุน เช่น สัดส่วนการถือหุ้น คณะกรรมการบริษัท แหล่งเงินทุน สัดส่วนหนี้มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน อายุหนี้อยู่ที่เท่าไร เป็นต้น”

เดินหน้าร่วมทุน 3 แบงก์

หลังจากที่ได้ข้อสรุปร่วมกัน จะดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท และยื่นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อขอใบอนุญาตและนำไปยืนยันกับกระทรวงพาณิชย์อีกครั้ง คาดว่าหลัง ธปท.อนุมัติแล้วไม่เกิน 1 เดือน ในไตรมาส 4 ปีนี้น่าจะได้รับอนุมัติไลเซนส์จากนั้นก็ทำธุรกรรมการซื้อขายได้ทัน

ส่วนกับอีก 2 แบงก์ เป็นการเตรียมการทำธุรกรรมและเรื่องเงินทุน

“ชโยตั้งงบฯซื้อหนี้เสียไว้ 3,000 ล้านบาท ไม่รวมในส่วนบริษัทร่วมทุน ดังนั้นเราอาจดึงเงินออกมา 1,500 ล้านบาท เพื่อไปใส่ใน JV แห่งละ 500 ล้านบาท โดยแบงก์จะเติมเข้ามาอีกแห่งละ 500 ล้านบาท รวมมีเงินทุนบริษัทละ 1,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถกู้แบงก์ได้ 2 เท่าทำให้มีเงินทุน 6,000 ล้านบาทรับซื้อหนี้เสียได้จำนวนมาก”

และที่ผ่านมาเน้นบริหารหนี้เสียประเภทไม่มีหลักประกัน คือหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล

BAM ผนึกเคแบงก์-ทีทีบี

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน กล่าวว่า บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กำลังให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบสัญญาในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับธนาคารกสิกรไทย และธนาคารทีเอ็มบีธนชาต (ttb) คาดว่าจะชัดเจนเร็ว ๆ นี้

และ BAM ยังศึกษาการร่วมทุนกับธนาคารอื่นอีก 2 แห่ง โดย 1 ใน 2 แห่งขนาดธนาคารค่อนข้างเล็กและพอร์ตหนี้เสียก็น้อยไม่เหมาะกับตั้งบริษัทร่วมทุน จึงจะใช้โมเดลอื่นแทน

ทั้งนี้ BAM จะเน้นการรับซื้อเอ็นพีแอลที่มีหลักประกันเป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดินเปล่า โรงแรม อาคารพาณิชย์

แบงก์รุมจีบ JMT

นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์คเซอร์วิสเซ็ส (JMT) กล่าวว่าในไตรมาส 2 จะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับธนาคารกสิกรไทยและอยู่ระหว่างดำเนินการขอใบอนุญาตจาก ธปท. ไตรมาส 3 น่าจะเริ่มทำธุรกรรมได้

นอกจากนี้บริษัทได้รับความสนใจจากธนาคารอีก 2-3 แห่ง โดยอยู่ธนาคารดังกล่าวได้กลับไปหารือในคณะกรรมการธนาคาร ถึงแนวทางการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ซึ่งต้องรอความชัดเจนว่าฝั่งของธนาคารจะอนุมัติหรือไม่ จึงจะมีการดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้

“การขายหนี้ในครึ่งหลังของปีน่าจะคึกคักขึ้น โดยปีนี้ในส่วนของ JMT ตั้งเป้ารับซื้อ 1 หมื่นล้านบาท ในส่วนบริษัทร่วมทุนยังไม่ได้กำหนด แต่ก็มีวงเงินพร้อมรองรับ” นายสุทธิรักษ์กล่าว

สำหรับการรับซื้อและบริหารหนี้เสียของ JMT มุ่งเน้นที่สินเชื่ออุปโภคบริโภครายย่อยประเภทบัตรเครดิต, สินเชื่อส่วนบุคคล, สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์, สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย, สินเชื่อเงินสด

หนี้เสียบ้านเพิ่มขึ้น

นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท หรือ SAM กล่าวว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทรับซื้อหนี้มาบริหารจัดการได้แล้วประมาณ 2,500 ล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปี 1.2 หมื่นล้านบาท โดยหนี้ที่รับซื้อมา 40-50% จะพบว่าเป็น “ที่อยู่อาศัย” ซึ่งสะท้อนภาพภาระหนี้ครัวเรือนที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ประกอบกับสถาบันการเงินนำทรัพย์ออกมาเทขายมากขึ้นด้วย

ภาพรวมการตัดขายหนี้ทั้งระบบมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับมาตรการการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กำลังทยอยหมดลง โดยสะท้อนจากตัวเลขจากที่ SAM ได้รับการเชิญเข้าร่วมประมูลหนี้ พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 80,000-100,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งตัวเลขทั้งระบบมีมากกว่านี้ โดยธนาคารบางแห่งเริ่มตัดขายหนี้ออกมาให้เห็น เช่น ธนาคารกรุงไทย อาจเป็นการเทสต์ตลาดก่อน ซึ่งที่เหลือจะเป็นธนาคารเจ้าเดิม 5-6 แห่งที่มีการตัดขายประจำอยู่แล้ว

“ส่วนการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ร่วมทุนกับธนาคารทีเอ็มบีธนชาต ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือเรื่องโมเดลธุรกิจและรายละเอียดโครงสร้างธุรกิจ ซึ่งยอมรับว่าเป็นไปได้ค่อนข้างช้า และอาจจะไม่ทันในปีนี้”

BBL เดินตามแผนเดิม

ขณะที่นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารได้พิจารณาออปชั่นการบริหารหนี้เสียวิธีต่าง ๆ ตลอดเวลา ไม่ได้ปิดกั้น หรือเป็นวิธีเฉพาะเจาะจงแต่อย่างใด แต่ยอมรับว่าวิธีที่ธนาคารใช้ในการบริหารขณะนี้ยังสามารถจัดการได้ดีอยู่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจาก ธปท. เปิดเผยตัวเลขเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งในไตรมาส 1/2565 รวมอยู่ที่ 5.38 แสนล้านบาท ธนาคารกรุงเทพอยู่ที่ 102,342 ล้านบาท กรุงไทย 106,549 ล้านบาท ไทยพาณิชย์ 106,305 ล้านบาท กสิกรไทย 106,481 ล้านบาท กรุงศรีอยุธยา 46,796 ล้านบาท ทีเอ็มบีธนชาต 42,144 ล้านบาท เกียรตินาคินภัทร 9,483 ล้านบาท ทิสโก้ 4,386 ล้านบาท ซีไอเอ็มบี ไทย 8,374 ล้านบาท และแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ 5,142 ล้านบาท


ทั้งนี้จากข้อมูล ธปท. และรวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) ของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 5.32 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นหนี้เสียสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ 1.25 แสนล้านบาท, หนี้เสียสินเชื่อเอสเอ็มอี 2.61 แสนล้านบาท, หนี้เสียสินเชื่อที่อยู่อาศัย 92,073 ล้านบาท,หนี้เสียสินเชื่อรถยนต์ 17,284 ล้านบาท, หนี้เสียสินเชื่อบัตรเครดิต 7,026 ล้านบาทและหนี้เสียสินเชื่อส่วนบุคคลและอื่น ๆ 30,118 ล้านบาท