ค่าครองชีพพุ่งดัน ‘พีโลน’ โต ‘แบงก์-น็อนแบงก์’ แห่จัดโปรฯ ชิงตลาด

ค่าครองชีพ

เปิดประเทศ-ค่าครองชีพพุ่ง หนุนความต้องการสินเชื่อส่วนบุคคลฮอต ! “แบงก์-น็อนแบงก์” โหมปล่อยกู้-อัดแคมเปญดอกต่ำผ่อนนาน “กสิกรไทย” ตั้งเป้าสูงขอโต 20% “กรุงศรี คอนซูมเมอร์” ปักธงโตเพิ่ม 2 เท่า “เคทีซี” ผ่อนเกณฑ์อนุมัติง่ายขึ้น ชูดอกเบี้ยต่ำพิเศษ 0.92% ต่อเดือนดึงลูกค้าใหม่

นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงไตรมาส 2 นี้ ความต้องการสินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ประจำและมีเงินออมจํากัด เพื่อนำไปใช้จ่ายและบริหารสภาพคล่อง รวมถึงการเปิดประเทศเต็มรูปแบบในเดือน พ.ค.นี้ ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และครัวเรือนมีความต้องการสินเชื่ออุปโภคบริโภคสูงขึ้น

โดยธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อบุคคลปีนี้เติบโตมากกว่า 20% ภายใต้ผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ทุกความต้องการ ทั้งสินเชื่อเงินด่วน (Xpress Loan) บัตรเงินด่วน (Xpress Cash) ที่ผ่อนสินค้าได้นานสูงสุด 36 เดือน โดยเฉพาะช่วงนี้มีข้อเสนอดอกเบี้ยต่ำ 0% นาน 36 เดือน ในหมวดสินค้าจำเป็นด้วย เช่น โทรศัพท์มือถือ สินค้าไอที อุปกรณ์เรียนออนไลน์ และยางรถยนต์ ซึ่งลูกค้าสามารถสมัครสินเชื่อด้วยตัวเองบน K PLUS ได้

“ตลาดพีโลนขยายตัวสูง เติบโต 2 หลักเกือบทุกปี เพราะผู้มีรายได้ไม่สูง ยังต้องการสภาพคล่อง ขณะที่เทคโนโลยีการเงิน ทำให้ต้นทุนการเข้าถึงลูกค้ารายย่อยต่ำกว่าในอดีต จึงเปิดโอกาสให้ผู้เล่นรายใหม่เข้ามา โดยกสิกรไทยเน้นใช้ข้อมูลวิเคราะห์ปล่อยสินเชื่อ (data analytics) ใช้ระบบสกอริ่งและปัจจัยทางการเงิน เพื่อให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ รวมถึงสร้างโปรดักต์และพันธมิตรใหม่ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้ทันท่วงที”

นางสาวพัทธ์หทัย กุลจันทร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส กล่าวว่า การเปิดประเทศ และภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อมีมากขึ้น คาดว่าสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบปีนี้จะขยายตัวกว่า 20% โดยกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ตั้งเป้าการเติบโตลูกค้าใหม่ 2.03 แสนรายเติบโต 2 เท่าจากปีก่อน คิดเป็นยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ 8.5 หมื่นล้านบาท

“ช่วง 4 เดือนแรก ยอดสินเชื่อเงินสดเติบโตขึ้นเกือบ 30% ลูกค้าส่วนใหญ่หันมาโอนเงินสดเข้าบัญชีธนาคาร พร้อมเพย์ หรือแอปพลิเคชั่น UCHOOSE ผ่าน UCASH แทนการกดเงินสดผ่านเครื่องเอทีเอ็มกันมากขึ้น คิดเป็นสัดส่วนถึง 70% จากช่องทางการกดเงินสดทั้งหมด”

นางสาวพัทธ์หทัยกล่าวว่า สำหรับหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของพีโลนและสินเชื่อผ่อนชำระของบริษัท ในไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 2.6% ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ 2.8% ถือเป็นระดับต่ำกว่าอุตสาหกรรม ซึ่งเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อเป็นไปตามปกติ ไม่ได้เข้มงวดขึ้นแต่อย่างใด โดยอัตราการอนุมัติสินเชื่อ (approval rate) เฉลี่ยอยู่ที่ 40%

“ตลาดสินเชื่อผ่อนชำระการแข่งขันเข้มข้น เพราะผู้บริโภคต้องการบริหารสภาพคล่องจากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ให้ลูกค้าผ่อนยาวได้ 36 เดือนในบางร้านค้าอยู่แล้ว แต่ก็จะมีลูกค้าที่ไม่ชอบผ่อนยาว

แต่ชอบเครดิตเงินคืน เราก็มีแคมเปญหลากหลายตอบโจทย์และเรากำลังพัฒนาตลาดซื้อก่อน จ่ายทีหลัง หรือ buy now pay later เพื่อกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ยืดหยุ่นในการผ่อนชำระได้หลังการซื้อ”

นางสาวพิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจสินเชื่อบุคคล บมจ.บัตรกรุงไทย (เคทีซี) กล่าวว่า ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. หรือตั้งแต่เทศกาลสงกรานต์ต่อเนื่องถึงเปิดเทอม เริ่มเห็นสัญญาณความต้องการใช้สินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น รวมถึงการเปิดประเทศทำให้กิจกรรมต่าง ๆ เริ่มกลับมา

จึงมีความต้องการเงินไปใช้จ่ายมากขึ้น ทั้งนี้ เคทีซีตั้งเป้าพีโลนโตที่ 7% โดยยอดสินเชื่อคงค้างจะอยู่ที่ 29,125 ล้านบาท และฐานลูกค้าใหม่ 106,000 ราย จาก ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2565 มีฐานลูกค้าอยู่ที่ 753,621 ราย

“ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเคทีซีพยายามคุมคุณภาพพอร์ต โดยเข้มงวดการปล่อย
สินเชื่อในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เช่น ภาคบริการ แต่หลังจากท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัว ก็มีการผ่อนคลายมากขึ้น เน้นกลุ่มที่ชำระคืนได้ ส่งผลให้อัตราการอนุมัติสินเชื่อ ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมต่ำกว่า 20% เป็น 30% และเอ็นพีแอลอยู่ในระดับต่ำ โดยไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 2.6%”

นางสาวพิชามนกล่าวว่า สำหรับการแข่งขันสินเชื่อบุคคลยังคงรุนแรง โดยจะแข่งกันในเรื่องอัตราดอกเบี้ย และระยะเวลาการอนุมัติ เคทีซีจึงมีแคมเปญดอกเบี้ยพิเศษ 0.92% ต่อเดือน หรือประมาณ 19.9% ต่อปี สำหรับผู้ที่ขอวงเงินตั้งแต่ 5 หมื่นบาทขึ้นไป ผ่อนนานสูงสุด 60 เดือน ตั้งแต่วันนี้-31 ส.ค. 2565

ส่วนแคมเปญผ่อนชำระจะเน้นทำโปรโมชั่นเป็นช่วง ๆ เช่น หน้าร้อน เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือเปิดเทอมจะมีสินค้าไอซีที ดอกเบี้ย 0.59% นาน 20 เดือน เพื่อรองรับความต้องการสินเชื่อในช่วงเปิดเทอมและขยายฐานลูกค้าใหม่

“ทุกปีช่วงเปิดเทอมปริมาณการใช้สินเชื่อจะเพิ่มขึ้น โดยยอดกดเงินสด เม.ย.เติบโตสูงกว่า 3 เดือนแรก และน่าจะดีขึ้นหลังเปิดประเทศ คนกลับมา spending ปีนี้เราตั้งเป้าจะโตขึ้น 7% และผ่อนคลายการให้สินเชื่อมากขึ้นตามการฟื้นของแต่ละอุตสาหกรรม ส่วนลูกค้าเดิมก็มีโปรแกรมเคลียร์หนี้ให้”

ล่าสุด นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกปีนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวต่อเนื่อง ตามความต้องการสภาพคล่องของภาคครัวเรือน โดยขยายตัวที่ 6.6% ต่อปี