อาคมรับข้อเสนอสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ส่งสัญญาณเลื่อนเก็บภาษีขายหุ้น

หุ้น ทอง

รมว.คลังรับฟังข้อเสนอสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ส่งสัญญาณเลื่อนเก็บภาษีขายหุ้น ชี้ต้องดูช่วงเวลาเหมาะสม เศรษฐกิจมีความมั่นคง

วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การจัดเก็บภาษีการขายหุ้น จำเป็นต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจที่เหมาะสม โดยจะต้องมีการเติบโตอย่างมั่นคง

ซึ่งในช่วงนี้ทุกประเทศยังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และยังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากสงครามรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นตาม กระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัว

ส่วนกรณีที่สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ส่งหนังสือแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อแนวทางการจัดเก็บภาษีขายหุ้นผ่าน 5 ประเด็นนั้น กระทรวงการคลังก็รับฟัง ส่วนจะเห็นการจัดเก็บภาษีช่วงใดนั้น จะพิจารณาตามสถานการณ์ที่เหมาะสม

“ตอนนี้เศรษฐกิจของเราค่อย ๆ ฟื้นตัว โดยภาคการส่งออกที่เป็นเครื่องจักรที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยยังทำได้ดี ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวหายไปกว่า 90% แต่ตอนนี้เริ่มมีการคลายล็อกดาวน์ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศน่าจะเข้าประเทศมากขึ้น ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวฯตั้งเป้าหมายปีนี้จะมีราว 7 ล้านคน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า FETCO มีการส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯผ่าน 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

1. FETCO ไม่เห็นด้วยที่จะมีการเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ เนื่องจากจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพคล่องของตลาด เป็นภาระและส่งผลกระทบต่อการซื้อขาย รวมถึงด้อยค่าหลักทรัพย์ที่ผู้ถือหุ้นถือครองอยู่

โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยกว่า 2 ล้านคนที่ลงทุนทางตรงในตลาดหลักทรัพย์ฯ และอีก 17 ล้านคนที่ลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนรวมและกองทุนสวัสดิการต่าง ๆ รวมถึงนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างประเทศ โดยจากการศึกษาในต่างประเทศพบว่าการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะส่งผลให้ประชาชนต้องออมเพิ่มขึ้นอีก 2-3 ปี เพื่อให้มีเงินเพียงพอในยามเกษียณ

2. ภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นจะเป็นต้นทุนเพิ่มขึ้นสำหรับ Market Markers (MM) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลาดทุนใหม่ ๆ โดยเฉพาะ Derivative Warrant และ Single Stock Futures ซึ่งอ้างอิงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ อันจะส่งผลต่อการพัฒนานวัตกรรมและขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยในเวทีโลก

3. ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว หากจัดเก็บภาษีจะนิยมให้การยกเว้นแก่กลุ่ม MM เช่น ฮ่องกง อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และกลุ่มกองทุนรวม, กองทุนบำนาญ, กองทุนสวัสดิการ เช่น อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม ไอซ์แลนด์ เพื่อลดผลกระทบต่อการออมการลงทุนของประชาชนในวงกว้างและต่อการพัฒนาเชิงนวัตกรรมของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศ ทั้งนั้น ในกรณีของไทยนักลงทุนทั้ง 2 กลุ่มทำธุรกรรมขายรวมกัน 12-17% ของมูลค่าขายทั้งหมดในตลาด (สถาบันในประเทศ 70 และ MM 5-10%)

ดังนั้น การให้ยกเว้นภาษีต่อไปถือว่าคุ้มค่า หากเปรียบเทียบเม็ดเงินภาษีดังกล่าวกับผลประโยชน์ในวงกว้างต่อประชาชนและการพัฒนาศักยภาพของตลาดหลักทรัพย์ไทยในระยะยาว

4. อัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ 0.1% ถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่ปี’34 เมื่ออัตรา commission อยู่ที่ระดับ 0.5% อย่างไรก็ดี จากสภาวะการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศที่มีมากขึ้น อัตรา commission จึงลดลงเหลือเพียง 0.08% ในปัจจุบัน ดังนั้น มูลค่าภาษีที่จัดเก็บตามอัตราภาษีที่ 0.1% และเมื่อรวมภาษีท้องถิ่นอีก 0.01% เป็น 0.11% จะสูงถึง 0.7 เท่าของมูลค่าค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่จัดเก็บในปัจจุบัน จึงจะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อขายอย่างมีนัยสำคัญ

โดยเฉพาะในภาวะที่ตลาดทุนทั่วโลกมีความผันผวนสูงจากสถานการณ์โควิด และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ ส่งผลให้ดัชนีหุ้นทั่วโลก อัตราแลกเปลี่ยน และเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศมีความผันผวนมาก การจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะเป็นการตอกย้ำความผันผวนดังกล่าว


5. ต้นทุนการระดมทุน (cost of capital) ที่สูงขึ้นเมื่อสภาพคล่องในตลาดลดลง จะทำให้บริษัทจดทะเบียนชะลอหรือลดการลงทุนขยายธุรกิจมีกำไรลดลง ท้ายที่สุด productivity และ GDP ของประเทศ รวมตลอดถึงภาษีนิติบุคคลที่บริษัทจ่ายได้จะลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ผลเสียจะกระทบแรงกับกลุ่มบริษัทขนาดกลางและเล็กที่มีทางเลือกของแหล่งเงินทุนที่จำกัดมากอยู่แล้วในปัจจุบัน