ส่องทิศทางกองทุนญี่ปุ่น เมื่อเงินเยนอ่อนค่าสุดรอบ 20 ปี

ค่าเงินเยนอ่อนค่าสุดในรอบ 7 ปี

หลังเงินเยนทำสถิติอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 20 ปี จากการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ที่สวนทางกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้สร้างความกังวลต่อทิศทางการลงทุนในญี่ปุ่นไม่น้อย

โดย “ชญานี จึงมานนท์” นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) กล่าวว่า การอ่อนค่าลงของเงินเยนเทียบกับดอลลาร์สหรัฐมีเหตุผลสำคัญจากนโยบายการเงินที่ต่างกัน

โดยทางญี่ปุ่นยังคงนโยบายผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับในช่วงระยะเวลาหลายปีมานี้ ในขณะที่สหรัฐเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อสูง แนวโน้มดอกเบี้ยจึงเป็นขาขึ้น ส่งผลต่อเม็ดเงินที่ไหลกลับไปสหรัฐ

ทั้งนี้ ปัจจุบันกองทุนกลุ่มหุ้นญี่ปุ่น (Japan equity) เป็นกลุ่มที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก มีจำนวน 45 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมอยู่ที่ 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) มีเงินไหลออกสุทธิกว่า 100 ล้านบาท และผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีเฉลี่ยที่ -9.7%

และ 1 ปีเฉลี่ยที่เกือบ -7% (ณ 30 เม.ย. 2565) แต่ติดลบน้อยกว่าตลาดกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ กลุ่มอุตสาหกรรมที่กองทุนมักลงทุนเป็นอันดับต้น ๆ ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค, อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี เป็นต้น โดยกองทุนที่มีผลตอบแทนติดลบน้อยที่สุดย้อนหลัง 1 ปี

ได้แก่ กองทุน K-JPX ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย ผลตอบแทนอยู่ที่ 1.16% ตามด้วยกองทุน K-JP และกองทุน KJPRMF จาก บลจ.กสิกรไทยเช่นกัน ผลตอบแทนอยู่ที่ -0.74% และ -0.83% ตามลำดับ (ดูตาราง)

“การอ่อนค่าของเงินเยนอาจส่งผลดีต่อธุรกิจส่งออกได้ในระยะนี้ แต่ไม่เป็นผลดีต่อญี่ปุ่นโดยรวม หากยังอ่อนค่าต่อเนื่อง ในระยะยาวเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่น เห็นได้จากที่รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังไม่เป็นผลเท่าใดนัก”

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาอื่น ๆ แล้ว หุ้นญี่ปุ่นราคาไม่แพง ด้วยระดับ Long-term P/E 20 เท่า ขณะที่สหรัฐอยู่ที่ 30 เท่า และ เฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 25 เท่า

ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินเยนจะหนุนรายได้ของบริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่ให้เติบโต โดยปีนี้รายได้โดยเฉลี่ยของบริษัทในดัชนี TOPIX จะขยายตัว 7-8% ถือว่าดีกว่าประเทศเอเชียทั่วไป

“จุดอ่อนจากการอ่อนค่าของเงินเยนคือการบริโภคในประเทศที่มักกระทบกับบริษัทขนาดเล็ก เพราะเงินเยนที่อ่อนเกิดขึ้น พร้อมกับเงินเฟ้อสูงทั่วโลก ภาวะแบบนี้จะกดดันกำลังซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการผลิตและบริการที่ต้องนำเข้า ระยะสั้นถ้าราคาน้ำมันไม่ปรับตัวลง และปัญหาโควิด-19 ในเอเชียยังไม่คลี่คลาย ก็จะไม่มีแรงจูงใจให้นักลงทุนกลับเข้าซื้อหุ้นเล็กในญี่ปุ่น”

ด้วยเงินเยนที่อ่อนค่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะมีแรงหนุน 2 เรื่อง ได้แก่ 1.การขยายตัวของเศรษฐกิจจากการส่งออกที่ดีขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าญี่ปุ่นจะถูกลงในเชิงเปรียบเทียบ 2.รายรับของผู้ส่งออกญี่ปุ่นจะสูงขึ้น

จากการมีรายรับเป็นสกุลเงินต่างชาติ แต่ในทางกลับกัน ก็มีแรงต้าน เช่น 1.บริษัทที่ทำธุรกิจภายในประเทศจะมีรายรับลดลง เนื่องจากมีต้นทุนการนำเข้าที่แพงขึ้น และ 2.ชาวญี่ปุ่นมีกำลังซื้อลดลง อาจทำให้เกิดกระแสประหยัดและลดการบริโภคโดยรวมลง

“ปีนี้มองเป็น 2 กรณี แบบแรก เงินเยนทรงตัว 115-125 เยนต่อดอลลาร์ เศรษฐกิจน่าจะขยายตัวได้ 2.1% เงินเฟ้อไม่เกิน 2.0% แต่ถ้าเงินเยนอ่อนไปกว่านี้ เช่น 125 เยนขึ้นไป จะเห็น GDP ย่อตัวลงและเงินเฟ้อทะลุ 2.0% ขึ้นไป”

“ชยานนท์ รักกาญจนันท์” ประธานเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา กล่าวว่า เงินเยนที่อ่อนค่ามากนั้นเชื่อว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่ได้ละเลยจุดนี้ โดยน่าจะมีความกังวลและเป็นห่วงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่เมื่อเงินเยนอ่อนค่าลงมาถึงระดับหนึ่ง ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจจะไม่ยอมให้อ่อนค่าลงไปอีก คงมีการออกมาตรการเพื่อพยุงค่าเงิน เพราะถึงแม้ว่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงจะส่งผลดีต่อการส่งออก แต่ถ้าเกิดอ่อนค่าเร็วเกินไปอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดีได้

“จุดที่เงินเยนจะอ่อนค่าลงไป มองว่าอยู่แถว ๆ 130 เยนต่อดอลลาร์ขึ้นไป ขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่บริเวณแถว ๆ 126-128 เยน ซึ่งเมื่ออ่อนค่าลงถึงจุดนั้น จะเป็นจุดที่หากนักลงทุนต้องการเข้าลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นก็สามารถทยอยลงทุนได้บนมุมมองที่่ว่าเงินเยนจะเริ่มมีเสถียรภาพและไม่อ่อนค่าไปมากกว่านี้”

อย่างไรก็ดี ภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีนี้เริ่มเห็นการทำมาตรการต่าง ๆ ออกมามากขึ้น อย่างมาตรการการเปิดประเทศที่เริ่มไปเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่เปิดให้นักธุรกิจสามารถเดินทางเข้าประเทศได้ นอกจากนี้คาดว่าราวเดือน ก.ค. ญี่ปุ่นน่าจะเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวจากภายนอกเข้าไปได้

ฉะนั้นในเรื่องของการเปิดประเทศของญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มที่จะเร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาคท่องเที่ยวถ้าฟื้นตัวจะส่งผลให้ GDP ฟื้นตามไปด้วย

“ถ้ามองในมุมเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นยังน่าสนใจค่อนข้างมาก รวมถึงราคาหุ้นญี่ปุ่นยังถือว่าอยู่ในระดับที่ถูกกว่า หากเปรียบเทียบกับหุ้นสหรัฐ หรือแม้แต่หุ้นไทย”

นักลงทุนที่สนใจกองหุ้นญี่ปุ่นก็คงติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด จะได้มีข้อมูลอย่างรอบด้าน