เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดรอบ 2 สัปดาห์ จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า

รัสเซีย ค่าเงินบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 สัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯยังคงถูกกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อ่อนแอ หุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้ช่วงปลายสัปดาห์ ตามแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนเมษายน ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย 

วันที่ 28 พฤษภาคม 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดรอบกว่า 2 สัปดาห์ที่ 34.09 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทมีแรงหนุนจากสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรและหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับแรงหนุนของเงินดอลลาร์ฯ เริ่มชะลอลง หลังจากตลาดปรับตัวรับการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟดไปมากแล้ว ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ดัชนี PMI เดือนพ.ค. ยอดขายบ้านใหม่เดือนเม.ย. และจีดีพีไตรมาส 1/65 (ครั้งที่ 2) ออกมาอ่อนแอกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นช่วงสั้นๆ กลางสัปดาห์ หลังรายงานการประชุมเฟดสะท้อนโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยรอบละ 50 bps. ในการประชุมมิ.ย. และก.ค.นี้ แต่กรอบขาขึ้นของเงินดอลลาร์ฯ ยังจำกัดเนื่องจากตลาดกลับมาสนใจสัญญาณคุมเข้มของธนาคารกลางชั้นนำอื่นๆ อาทิ ECB ที่มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

ค่าเงินบาท-27 พ.ค.

ในวันศุกร์ (27 พ.ค.) เงินบาทปิดตลาดที่ 34.16 (หลังจากแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 สัปดาห์ที่ 34.09 ในช่วงระหว่างสัปดาห์) เทียบกับระดับ 34.26 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (20 พ.ค.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 23-27 พ.ค. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 6,870.3 ล้านบาท ขณะที่มีสถานะเป็น NET INFLOW เข้าตลาดพันธบัตร 10,643.2 ล้านบาท (โดยแม้จะมีการเข้าซื้อสุทธิพันธบัตร 20,589.2 ล้านบาท แต่ก็มีตราสารหนี้หมดอายุถึง 9,946 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (30 พ.ค.-3 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 33.70-34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนเม.ย.ของธปท. ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน การจ้างงานภาคเอกชนจาก ADP ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค. และดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิตเดือนพ.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน ข้อมูล JOLTS เดือนเม.ย. และรายงาน Beige Book ของเฟด นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนพ.ค. ของจีน ยุโรป และอังกฤษด้วยเช่นกัน

ตลาดหุ้นไทย 27 พ.ค.

ส่วนความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาช่วงปลายสัปดาห์ หนุนให้ SET Index ขยับขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้หุ้นไทยปรับตัวขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ นำโดย หุ้นกลุ่มแบงก์ที่ขานรับรายงานข่าวที่ ธปท. เตรียมยืดระยะเวลาการขายทรัพย์ NPA ออกไป

อย่างไรก็ดี SET Index ย่อตัวลงในช่วงต่อมาตามตลาดหุ้นต่างประเทศท่ามกลางความกังวลต่อเศรษฐกิจโลก ก่อนจะขยับขึ้นในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ หลังรายงานประชุมเฟดสะท้อนแนวทางการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังมีแรงหนุนจากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติในหุ้นหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานและไฟแนนซ์

ในวันศุกร์ (27 พ.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,638.75 จุด เพิ่มขึ้น 0.97% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 63,544.72 ล้านบาท ลดลง 11.74% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 2.28% มาปิดที่ 639.94 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (30 พ.ค. – 3 มิ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,625 และ 1,600 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,650 และ 1,665 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจากภาครัฐ สถานการณ์โควิด-19 ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด


ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน และอัตราการว่างงานเดือนพ.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI เดือนพ.ค. ของจีน รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน