ดอลลาร์กลับมาแข็งค่า ตลาดจับตาประชุมเฟดสัปดาห์หน้า

ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่า ตลาดจับตาประชุมเฟดสัปดาห์หน้า 14-15 มิ.ย. คาดเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ขณะที่ปัจจัยในประเทศ เงินเฟ้อ 5 เดือนของไทยปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.19% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับหลายประเทศที่เงินเฟ้อสูงขึ้น

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 6-10 มิถุนายน 2565 ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับ 6 สกุลเงินหลักในตลาดยังคงทรงตัวอยู่ในระดับแข็ง โดยได้รับแรงหนุนจากการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันศุกร์ (3/6) ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้น 390,000 ตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 325,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.6%

โดยข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานสหรัฐยังอยู่ในภาวะที่ตึงตัว และน่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้ทางเฟดสามารถดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในเดือนมิถุนายน และกรกฎาคมได้ นอกจากนั้นแล้ว ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงหนุนจากความเห็นของนางลอเร็ตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์ ซึ่งกล่าวในการประชุมสภาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจฟิลาเดลเฟียว่า เธอไม่สนับสนุนให้เฟดยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายน และเตือนว่าอัตราการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเร็วขึ้นหรือช้าลงนับตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไปนั้น ขึ้นอยู่กับทิศทางของอัตราเงินเฟ้อ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 3.032% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.182% อย่างไรก็ดี ค่าเงินดอลลาร์ได้ลดการแข็งค่าลงเล็กน้อยในวันพฤหัสบดี (9/6) จากการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินยูโร ก่อนที่จะปรับแข็งค่าขึ้นอีกครั้งในเวลาถัดมา

ทั้งนี้คาดว่า นักลงทุนจะจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐประจำเดือนพฤษภาคมที่จะมีการเปิดเผยในคืนวันนี้ (10/6) โดยที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้น 8.2% ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนเมษายน ที่ขยายตัว 8.3%

ตลาดจับตาประชุมเฟด 14-15 มิ.ย.

นอกจากนั้นแล้วคาดว่า ตลาดจะจับตาการประชุมเฟดในวันที่ 14-15 มิถุนายน โดยคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมดังกล่าว รวมทั้งในการประชุมเดือนกรกฎาคมเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (6/6) ที่ระดับ 34.38/40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในประเทศไทยเมื่อวันพฤหัสบดี (2/6) ที่ระดับ 34.34/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และทยอยอ่อนค่าลงเรื่อย ๆ ระหว่างสัปดาห์จากการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

โดยในช่วงต้นสัปดาห์ กระทรวงพาณิชย์ได้เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนพฤษภาคมที่ระดับ 106.62 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.10% และเพิ่มขึ้น 1.40% จากเดือนเมษายน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อ 5 เดือนแรกของปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.19% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม 2565 ของไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับหลายประเทศที่เงินเฟ้อสูงขึ้น

นอกจากนี้ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.ปรับขึ้นคาดการณ์การส่งออกไทยทั้งปีเป็นโต 5-8% จากเดิมอยู่ที่ 5% โดยช่วงเวลาที่เหลืออีก 8 เดือน (พ.ค.-ธ.ค. 65) หากจะให้การส่งออกปีนี้ขยายตัวได้ 5% ต้องมีการส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 23,446 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้การส่งออกมีมูลค่ารวมทั้งปี 284,797 ล้านดอลลาร์ แต่หากต้องการให้ขยายตัวได้ 8% ต้องผลักดันให้มีการส่งออกให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 24,802 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้มีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งปีเพิ่มเป็น 292,934 ล้านดอลลาร์

คาดกนง.ขึ้นดอกเบี้ยครั้งหน้า 0.25%

ในวันพุธ (8/6) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอีกไม่ช้า สวนทางกับการประชุมในครั้งก่อนที่คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันทให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่เดิม โดยผลการประชุมในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากในปัจจุบันจะมีความจำเป็นลดลงในระยะข้างหน้า

ในขณะที่นักวิเคราะห์ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งละ 0.25% ในทุกการประชุมที่เหลือของปี 2565 ซึ่งได้แก่ เดือนสิงหาคม กันยายน และพฤศจิกายน และจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับเข้าสู่ระดับก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสที่ 1.25% ณ สิ้นปีนี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.50%

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.29-34.74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (10/6) ที่ระดับ 34.70/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดในวันจันทร์ (6/6) ที่ระดับ 1.0720/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในประเทศไทยเมื่อวันพฤหัสบดี (2/6) ที่ระดับ 1.0687/89 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในเชิงแข็งค่าตามการคาดการณ์ของนักลงทุนในตลาดว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจจะส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมที่มีขึ้นในวันพฤหัสบดี (9/6)

ECB ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย ก.ค.นี้

โดยค่าเงินยูโรได้ปรับขึ้นไปแข็งค่าที่ระดับ 1.0716 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนที่การประชุม ECB จะเสร็จสิ้นลง และอ่อนค่าลงอย่างมากภายหลังจากที่การประชุมจบลงตามแรงขายทำกำไรของนักลงทุน โดย ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ที่ระดับ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.50% ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25%

แต่ได้ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคม ซึ่งจะเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ตามที่ตลาดคาดไว้เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ

ECB ระบุว่า “ECB มีความประสงค์ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมเดือนกรกฎาคม และปรับขึ้นอีกครั้งในเดือนกันยายน ซึ่งหากเงินเฟ้อในระยะกลางยังคงมีแนวโน้มพุ่งขึ้นต่อไป ก็จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ในเดือนกันยายน ซึ่งหากเงินเฟ้อในระยะกลางยังคงมีแนวโน้มพุ่งขึ้นต่อไป ก็จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ในเดือนกันยายน ส่วนหลังจากเดือนกันยายน ECB จะดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป”

ขณะเดียวกัน ECB ระบุว่า จะยุติการซื้อพันธบัตรภายใต้โครงการ Asset Purchase Programme (APP) ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน ซึ่งเร็วกว่าที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้ โดยจะปูทางสำหรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคมเพื่อสกัดเงินเฟ้อในยูโรโซนที่พุ่งแตะระดับ 8.1% ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2540

ชี้หากกดเงินเฟ้อไม่ลง ก.ย.ขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบ

ด้านนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่าหากตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของ ECB ในเดือนกันยายนส่งสัญญาณว่าเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นไม่ต่ำกว่า 2.1% ในปี 2567 ทาง ECB ก็จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ในเดือนกันยายน ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.0609-1.0716 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (10/6) ที่ระดับ 1.0623/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (6/6) ที่ระดับ 130.75/77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในประเทศไทยเมื่อวันพฤหัสบดี (2/6) ที่ระดับ 129.76/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากการที่นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ออกมาให้ความเห็นว่าการใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมสำหรับ BOJ ในเวลานี้ เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงอยู่ในช่วงการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19


โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องโดยร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 20 ปี บริเวณกรอบบนของ 134 เยนต่อดอลลาร์ จากการลดการถือครองเงินเยนของนักลงทุนภายหลังจากที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของญี่ปุ่นและสหรัฐปรับตัวกว้างขึ้น ขณะที่ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินเยนมีความเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 130.41-134.55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (27/5) ที่ระดับ 133.58/61 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ