กสิกรไทย ชี้ กนง.ขึ้นดอกเบี้ย กระทบลูกค้า “บ้าน-รถ” ภาระผ่อนหนี้เพิ่ม

สินเชื่อบ้าน-แบงก์ปล่อยกู้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผ่านดอกเบี้ยแบงก์แค่บางโปรดักต์ ชี้ภาระผู้กู้ “รถยนต์-บ้าน” เพิ่มขึ้น แต่ลูกค้ายังทนท้านได้ เชื่อโจทย์ธนาคารเดินหน้าช่วยลูกค้าต่อเนื่อง พร้อมปรับประมาณการจีดีพีเพิ่มเป็น 2.9% จาก 2.5% อานิสงส์ภาคท่องเที่ยวฟื้น โกยรายได้ 1.1 ล้านล้านบาท ระบุเห็นเงินเฟ้อแตะสูงสุดไตรมาส 3 อยู่ที่ 7.4% คาดทั้งปีอยู่ที่ 6%

วันที่ 28 มิถุนายน 2565 นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า สำหรับแรงกดดันจากการปรับดอกเบี้ยต่อภาระหนี้ครัวเรือนนั้น มองว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปีนี้อาจจะปรับลดลงมาอยู่ในกรอบ 86.50-88.50% ต่อจีดีพี จากปีก่อนอยู่ที่ 90.1% ส่วนหนึ่งมาจากฐานจีดีพีที่ใหญ่ขึ้น แต่จะเห็นว่าภาระหนี้จะขยายตัวเฉลี่ย 3-4% ต่อปี

ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล
ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล

อย่างไรก็ดี ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น เชื่อว่าจะกระทบบางผลิตภัณฑ์ เช่น สินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่ผ่อนระยะยาว ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตและบุคคลไม่ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น ทั้งนี้ เชื่อว่าผู้กู้บ้านและรถน่าจะเป็นกลุ่มที่มีความทดท้านต่อภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นได้ ประกอบกับดอกเบี้ยไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากนัก และยังมีกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในโครงการความช่วยเหลืออยู่ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ธนาคารยังคงดำเนินการต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือประมาณ 12.3% ของสินเชื่อรวมทั้งหมด

“ระบบการเงินยังมีสภาพคล่องอยู่สูง และยังมีโจทย์ที่จะต้องช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่อง แม้ว่าจะปรับดีขึ้นจากโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ซึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านธนาคารยังคงต้องช่วยลูกค้า อาจจะมีการปรับดอกเบี้ยเงินฝากและกู้บางโปรดักต์ ไม่ได้ปรับทั้งกระดาน แต่ปรับเป็นกลุ่ม ๆ มากกว่า”

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยฯปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีสำหรับทั้งปี 2565 จาก 2.5% มาอยู่ 2.9% แม้ไทยจะมีแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ลดลงหลังสิ้นสุดหลายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับมีการขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นตามการนำเข้าพลังงาน แต่เมื่อรวมผลจากจีดีพีไตรมาส 1/2565 ที่ออกมาดีกว่าที่คาด มุมมองการบริโภคภาคเอกชนที่ดีกว่าที่เคยประเมินเล็กน้อย

ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล
ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล

ทั้งนี้ แรงหนุนสำคัญที่ทำให้จีดีพีปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2.9% มาจากรายได้นักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ได้ปรับจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 4 ล้านคน มาเป็น 7.2 ล้านคน ซึ่งทำให้มีรายได้ท่องเที่ยวจากทั้งต่างชาติเที่ยวไทยและไทยเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นมาที่ 1.1 ล้านล้านบาท แม้ว่าจะยังห่างจากช่วงก่อนโควิดที่ทำได้ถึงราว 3 ล้านล้านบาทก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยติดตามสำคัญยังเป็นเรื่องเงินเฟ้อที่คงจะเข้าหาระดับสูงสุดในไตรมาส 3/2565 อยู่ที่ 7.4% ก่อนทยอยลดลงในปลายปี โดยทั้งปีศูนย์วิจัยฯคาดว่าจะอยู่ที่ 6% จากประมาณการเดิมอยู่ที่ 4.5% ซึ่งจากแนวโน้มเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าหาระดับ 1.0% ภายในสิ้นปีนี้ เทียบกับ 0.5% ในปัจจุบัน ท่ามกลางภาวะที่เฟดคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง

แต่คาดว่าแบงก์ไทยจะยังไม่ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานของฝั่งเงินฝากและเงินกู้ตามในทันที โดยคงเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยสำหรับเฉพาะบางผลิตภัณฑ์ เนื่องจากสภาพคล่องส่วนเกินยังอยู่ในระดับสูงและยังมีโจทย์ในการช่วยเหลือลูกค้าให้ก้าวข้ามช่วงของการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ

ส่วนเงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าเข้าหาระดับ 36.0 บาทต่อดอลลาร์ ภายในระยะเวลา 1-2 เดือนข้างหน้านี้ ตามปัจจัยเศรษฐกิจและดอกเบี้ยสหรัฐที่ยังหนุนเงินดอลลาร์ และมีการปรับตัวผ่านเงินทุนไหลออกจากตลาดทุนไทยบางส่วน อย่างไรก็ดี ไทยยังไม่ต้องห่วงผลกระทบต่อความมั่นคงของระดับทุนสำรองระหว่างประเทศ เนื่องจากยังอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับภาระหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และการนำเข้า 3 เดือน และหนุนหลังการพิมพ์ธนบัตรออกใช้ได้กว่า 1.2 เท่า

นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า สำหรับประเด็นวิกฤตความมั่นคงทางอาหารนั้น นางสาวเกวลิน มองว่าในขณะนี้ไทยมีความเสี่ยงต่อภาวะความตึงตัวของผลผลิตอาหาร ซึ่งยังไม่ใช่วิกฤตด้านอาหารดังที่ปรากฏขึ้นในหลายประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากเกษตรกรและผู้ผลิตอาหารไทยเผชิญแรงกดดันจากต้นทุนปัจจัยการผลิตที่แพงขึ้นซึ่งอาจกระทบผลผลิต ประกอบกับความต้องการและราคาอาหารโลกเพิ่มขึ้น 25% หนุนการส่งออกในบางรายการ

เกวลิน หวังพิชญสุข
เกวลิน หวังพิชญสุข

ดังนั้น ราคาอาหารไทยอาจปรับขึ้นในครึ่งหลังปีนี้และมีแนวโน้มยืนสูงต่อไปอีกอย่างน้อยจนถึงช่วงกลางปีหน้า โดยเฉพาะน้ำมันปาล์ม ข้าว และเนื้อหมู ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบยังมีโจทย์ในด้านการบริหารจัดการต้นทุน เช่นเดียวกับผู้บริโภคที่ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลฐานะรายรับรายจ่ายและใช้สอยอย่างรอบคอบต่อเนื่อง