บาทแข็งค่า หลังเศรษฐกิจภูมิภาค พ.ค. ปรับตัวดีขึ้น รับปัจจัยท่องเที่ยวฟื้นหนุน

เงินบาท ดอลลาร์

เงินบาทแข็งค่า หลังเศรษฐกิจภูมิภาค พ.ค. ปรับตัวดีขึ้นรับปัจจัยท่องเที่ยวฟื้นหนุน คาดปีนี้มีนักท่องเที่ยวเข้าไทย 6 ล้านคน โดยเฉพาะครึ่งปีหลังน่าจะเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และจะเพิ่มเป็น 15 ล้านคนในปี 2566

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 29 มิถุนายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/6) ที่ระดับ 35.18/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (28/6) ที่ระดับ 35.37/39 บาท หลังผลสำรวจของเอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคส ชิลเลอร์ บ่งชี้ว่าราคาบ้านในสหรัฐได้เริ่มชะลอตัวในเดือน เม.ย.

ทั้งนี้ ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐเพิ่มขึ้น 20.4% ในเดือน เม.ย. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าระดับ 20.6% ในเดือน มี.ค. ส่วนดัชนีราคาบ้านใน 20 เมืองของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 21.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 21.1% ในเดือน มี.ค.

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนพฤษภาคม 65 ว่า เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนพฤษภาคม 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาค อีกทั้งการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นในภาคตะวันออกและภาคตะวันตก อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงเนื่องจากความกังวลต่อค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น

นอกจากนี้ นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำประเทศไทย คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี’65 จะขยายตัวที่ 2.9% ลดลงจากประมาณการเดิม (ธ.ค. 64) ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.9% โดยมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี’65 จะฟื้นตัวได้ดีขึ้น จากแรงกระตุ้นของการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เท่ากับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ได้ในช่วงไตรมาส 4/65

โดยคาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยประมาณ 6 ล้านคน โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปีที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าของจำนวนนักท่องเที่ยวในครึ่งปีแรก และจะเพิ่มเป็น 15 ล้านคนในปี’66 ก่อนจะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 24 ล้านคนในปี’67 พร้อมประเมินเศรษฐกิจไทยในปี’66 จะขยายตัวที่ระดับ 4.3% และปี’67 ขยายตัวที่ระดับ 3.9% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.96-35.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.15/17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (29/6) ที่ระดับ 1.0528/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่ออังคาร (28/6) ที่ระดับ 1.0585/87 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคากลางยุโรป (ECB) แสดงความเชื่อมั่นว่า ยูโรโซนจะไม่เผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย และ ECB พร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่แรงขึ้น หากมีความจำเป็นเพื่อควบคุมการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ

“ถึงแม้เราได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีข้างหน้า แต่เราก็คาดหวังว่าเศรษฐกิจยังคงมีการขยายตัวเป็นบวก อันเนื่องจากปัจจัยภายในที่ช่วยชดเชยการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ” นางคริสตินกล่าวในงานสัมมนา Sintra Forum

ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0486-1.0536 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0512/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (29/6) ที่ระดับ 136.04/06 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (28/6) ที่ระดับ 135.95/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวในงานเสาวนาซึ่งจัดขึ้นโดยธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ซึ่งมีการบันทึกวิดีโอและเปิดเผยในวันนี้ (29 มิ.ย.) ว่า BOJ จะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (Ultra-loose Monetary) ต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่ได้รับกระทบรุนแรงจากวิกฤตเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 135.80-136.30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 136.23/25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อชิคาโก (30/6), ดัชนี PMI ภาคการผลิตสหรัฐ (1/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.70/-1.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.3/0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ