ท่องเที่ยวปลุกจีดีพีปีนี้โต 2.9% กสิกรไทยจับตาเงินเฟ้อฉุดเศรษฐกิจไทย

Photo by PARIS LORD / AFP

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับจีดีพีโต 2.9% เปิดประเทศหนุนท่องเที่ยวฟื้น คาดปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยว 7.2 ล้านคน สร้างรายได้ 1.1 ล้านล้านบาท พร้อมปรับคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้เร่งตัวขึ้นสูง 6% หวั่นกระทบคนรายได้น้อย-กำลังซื้อ คาดบาทอ่อนแตะ 36 บาท/ดอลลาร์ใน 2 เดือนข้างหน้านี้ ชี้ไม่น่าห่วง เหตุไทยมีทุนสำรองสุดแกร่งรับมือได้

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็นโต 2.9% จากเดิมคาดโต 2.5% ซึ่งมาจากภาคการท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้น ตามการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ และการลดเงื่อนไขให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศ คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีจำนวนนักท่องเที่ยวจะเร่งตัวขึ้น

โดยทั้งปีจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 7.2 ล้านคน จากเดิมคาดแค่ 4 ล้านคน ส่งผลให้รายได้จากภาคท่องเที่ยวปีนี้จะอยู่ที่ 1.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 37% เทียบช่วงก่อนโควิด-19

“อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามและมีผลต่อเศรษฐกิจไทย จะเป็นเรื่องของทิศทางราคาพลังงานที่สูงขึ้น จากภาวะสงคราม ซึ่งเป็นปัจจัยควบคุมไม่ได้และมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อให้เร่งตัวขึ้น ศูนย์วิจัยจึงปรับประมาณการเงินเฟ้อปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 6% จากเดิม 4.5%

เป็นผลมาจากราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูงเฉลี่ย 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และมาตรการอุดหนุนภาครัฐที่จบลง เช่น ค่าไฟ น้ำมันดีเซล และก๊าซ LPG เป็นต้น รวมถึงราคาอาหารบางประเภทในตะกร้า CPI ที่ปรับสูงขึ้น”

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยคาดว่าเงินเฟ้อจะสูงสุด (พีก) ในไตรมาส 3 อยู่ที่ 7.4% และทยอยปรับลดลงในไตรมาส 4 แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำและมีสัดส่วนการบริโภคอาหารและน้ำมันจะเจอเงินเฟ้อสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 10% ส่งผลให้ครัวเรือนยังคงมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย และกระทบกำลังซื้อของประชาชนมากขึ้น

ขณะที่นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินเฟ้อนั้น คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ดอกเบี้ยเฟดจะอยู่ที่ 3.5% ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเกิดภาวะถดถอย (recession) แต่ไม่ได้เป็นลักษณะถดถอยลึกกินเวลานาน ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐกว้างมากขึ้น

จึงคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 2 ครั้งในช่วงไตรมาส 3 และ 4 โดยพิจารณาจากข้อมูล data dependent หากเงินเฟ้อเร่งสูงขึ้น กนง.อาจจะปรับดอกเบี้ยสูงกว่าคาดการณ์ได้ ส่วนดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์อาจจะเห็นการปรับขึ้นเป็นบางผลิตภัณฑ์เท่านั้น

นางสาวณัฐพรกล่าวว่า แม้ว่าส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐจะมีอยู่ แต่ไม่ได้น่ากังวล เนื่องจากไทยมีเงินทุนสำรองเพียงพอและแข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคอาเซียน แม้ว่าในช่วงหลังจากนี้ 1-2 เดือน จะยังคงเห็นภาพกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ไหลออกจากตลาดหุ้นและพันธบัตร (บอนด์) ได้ ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าไปแตะระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า

“ภาพรวมจีดีพีโตดีขึ้น หลัก ๆ มาจากภาคการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ แต่เรายังมีประเด็นที่เป็นห่วง คือ เงินเฟ้อที่จะฉุดเศรษฐกิจได้ เช่นเดียวกับเงินบาทที่อ่อนค่า แม้จะช่วยเรื่องการส่งออก แต่ในทางกลับกัน ก็สร้างภาระต้นทุนคนที่กู้เงินระยะสั้นในต่างประเทศ และการนำเข้าที่สูงขึ้น โดยเราปรับการนำเข้าจาก 7.4% เป็น 14.5% สูงขึ้นถึง 7% เป็นผลมาจากราคาเป็นสำคัญ” นางสาวณัฐพรกล่าว