ประธานเฟดยืนยัน พร้อมสกัดเงินเฟ้อ

ภาพ : pixabay

ประธานเฟดยืนยัน พร้อมสกัดเงินเฟ้อ แม้จะต้องใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินเพื่อชะลอการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ปัจจัยในประเทศคาดเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวดีขึ้น จากแรงกระตุ้นของการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน-1 กรกฎาคม 2565 สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (27/6) ที่ระดับ 35.46/48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (24/6) ที่ระดับ 35.49/50 บาท

ทั้งนี้ในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนพฤษภาคม 2565 ว่า เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนพฤษภาคม 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้้นในทุกภูมิภาค อีกทั้งการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นในภาคตะวันออกและภาคตะวันตก ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลง เนื่องจากความกังวลต่อค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น

นอกจากนี้ ธนาคารโลกประจำประเทศไทย คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี’65 จะขยายตัวที่ 2.9% ลดลงจากประมาณการเดิม (ธ.ค. 64) ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.9% โดยมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 65 จะฟื้นตัวได้ดีขึ้น จากแรงกระตุ้นของการบริโภคภาคเอกชน และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เท่ากับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ได้ในช่วงไตรมาส 4/65 พร้อมประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 66 จะขยายตัวที่ระดับ 4.3% จะขยายตัวที่ระดับ 4.3% และปี 67 ขยายตัวที่ระดับ 39%

โดยค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่าในวันพฤหัสบดี (30/6) หลังนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวยืนยันว่า เฟดมีความมุ่งมั่นในการสกัดเงินเฟ้อ แม้การใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินจะชะลอการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ก็จะไม่สร้างความเสี่ยงที่รุนแรง

“เรามีความมุ่งมั่นที่จะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่เรามีเพื่อทำให้เงินเฟ้อปรับตัวลง ซึ่งการทำดังกล่าวก็คือการลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งแม้จะมีความเสี่ยง แต่ผมก็มองว่านี่ไม่ใช่ความเสี่ยงใหญ่ที่สุดต่อเศรษฐกิจ โดยความผิดพลาดมากกว่าที่อาจเกิดขึ้นก็คือความล้มเหลวในการรักษาเสถียรภาพด้านราคา” นายพาวเวลล์กล่าวในการประชุมประจำปีของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่จัดขึ้นที่โปรตุเกส ขณะที่มีการเคลื่อนไหวระหว่างสัปดาห์ในกรอบระหว่าง 34.95-35.62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (1/7) ที่ระดับ 35.60/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจสหรัฐ ได้แก่ ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) ในเดือนพฤษภาคม เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากปรับตัวลงติดต่อกัน 6 เดือน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าดัชนีจะลดลง 3.7% นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนพฤษภาคม หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนเมษายน

แต่อย่างไรก็ตามธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัสเปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีชี้วัดกิจกรรมในภาคธุรกิจโดยรวมในรัฐเท็กซัสปรับตัวลงสู่ระดับ -17.7 ในเดือนมิถุนายน จากระดับ -7.3 ในเดือนพฤษภาคม โดยการปรับตัวลงของดัชนีได้รับผลกระทบจากการดิ่งลงของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน นอกจากนี้ ดัชนียังคงมีค่าเป็นลบ ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะหดตัวของภาคการผลิตในเท็กซัส, ผลสำรวจของเอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคส ชิลเลอร์ บ่งชี้ว่า ราคาบ้านในสหรัฐได้เริ่มชะลอตัวในเดือน เม.ย.

ทั้งนี้ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐเพิ่มขึ้น 20.4% ในเดือน เม.ย. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าระดับ 20.6% ในเดือน มี.ค. ส่วนดัชนีราคาบ้านใน 20 เมืองของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 21.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 21.1% ในเดือน มี.ค. ทั้งนี้ในวันพฤหัสบดี (30/6) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคสหรัฐ ซึ่งครองสัดส่วนสูงกว่า 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสหรัฐ ขยับขึ้นเพียง 0.2% ในเดือน พ.ค. ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ +0.4% โดยนักลงทุนรอดูดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐที่สถาบันจัดการอุปทาน (ISM) จะรายงานออกมาในคืนนี้ (1/7)

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดในวันจันทร์ (27/6) ที่ระดับ 1.0557/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อศุกร์ (24/6) ที่ระดับ 1.0550/52 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยูโรโซนปรับตัวขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ ขณะที่ตลาดรอดูการแถลงของนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และเจ้าหน้าที่อีซีบี ซึ่งทางนักลงทุนจะมองหาสัญญาณบ่งชี้เกี่ยวกับแนวทางการคุมเข้มนโยบายทางการเงินจะเป็นในทิศทางใด

นอกจากนี้ ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ยังคงมีแนวโน้มที่จะดูดซับเม็ดเงินออกจากระบบธนาคารเพื่อชดเชยผลกระทบที่เกิดจากมาตรการเข้าซื้อพันธบัตรเพื่อควบคุมเพดานต้นทุนการกู้ยืมสำหรับประเทศที่มีหนี้สินสูงในยูโรโซน หรือมาตรการสกัดกั้นการแบ่งแยกของตลาดในยูโรโซน (fragmentation) ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของอิตาลีและของประเทศที่มีหนี้สินสูงประเทศอื่น ๆ ในยูโรโซนได้พุ่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมา นับตั้งแต่อีซีบีประกาศแผนการยุติมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์และแผนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยอีซีบีมีแนวโน้มที่จะเริ่มต้นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 21 กรกฎาคม ซึ่งจะถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี โดยมีจุดประสงค์เพื่อสกัดกั้นภาวะเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ดีในช่วงปลายสัปดาห์ค่าเงินยูโรได้รับแรงกดดันหลังจากนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้มีถ้อยแถลงแต่ไม่ได้ให้ข้อมูลใหม่ที่สำคัญเกี่ยวกับแนวโน้มนโยบายของอีซีบี โดยนางลาการ์ดกล่าวว่า อีซีบีจะปรับนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีทางเลือกที่จะปรับนโยบายอย่างแข็งกร้าว ถ้าหากแนวโน้มภาวะเงินเฟ้อในระยะกลางทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะถ้าหากมีสัญญาณบ่งชี้ว่าการคาดการณ์เงินเฟ้ออยู่นอกเหนือการควบคุม

ทั้งนี้ นักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 21 ก.ค. ซึ่งจะถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 10 ปี อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์ โดยนักลงทุนจะรอดูตัวเลขอัตราเงินฟ้อของยูโรโซนที่จะได้รับการรายงานออกมาในวันนี้ เพื่อใช้ในการประเมินความแข็งกร้าวในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของอีซีบีอีกที ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.0381-1.0614 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (1/7) ที่ระดับ 1.0470/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (27/6) ที่ระดับ 134.77/79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (24/6) ที่ระดับ 135.00/02 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารสด พุ่งขึ้น 2.1% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากราคาพลังงานและอาหารปรับตัวสูงขึ้น ดัชนี CPI พื้นฐานของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อซึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นนั้น ยังไม่มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินเยนยังคงส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาพลังงานในเดือน พ.ค. พุ่งขึ้น 17.1% เมื่อเทียบรายปี

ทั้งนี้ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง โดยนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวในงานเสวนาซึ่งจัดขึ้นโดยธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) เปิดเผยในวันพุธ (29/6) ว่า จะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ (Ultra-Loose Monetary Policy) ต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่ได้รับกระทบรุนแรงจากวิกฤตเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยในวันพฤหัสบดี (30/6) โดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (METI) เปิดเผยวันนี้ (30 มิ.ย.) ว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเดือน พ.ค.ทรุดตัวลงมากที่สุดในรอบ 2 ปี เมื่อเทียบรายเดือน โดยได้รับแรงกดดันจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดโควิด-19 และภาวะขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนชนิดอื่น ๆ กระทบผู้ผลิต ซึ่งเพิ่มความวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญความยากลำบากในการฟื้นตัว


การทรุดตัวลงของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ค.ดังกล่าวเน้นย้ำถึงความท้าทายที่ญี่ปุ่นกำลังเผชิญในการสยบภาวะชะงักด้านอุปทาน และราคาวัตถุดิบและพลังงานที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินเยนมีการเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 134.52-136.99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (1/7) ที่ระดับ 135.66/67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ