หุ้นกู้ ลุ้นยอดออกใหม่สิ้นปีพุ่งแตะ 1.2 ล้านล้าน

ระดมทุนหุ้นกู้ปี’65 ลุ้นยอดออกใหม่สิ้นปีพุ่งแตะ 1.2 ล้านล้านบาท หลังครึ่งปีแรกออกไปแล้ว 6.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ธุรกิจเร่งระดมทุนล็อกต้นทุนการเงิน ครึ่งปีหลังรอครบดีลอีก 3.2 แสนล้านบาท

วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ(FED) และอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงไตรมาส 2/65 ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 10 ปี (Bond Yield) ปรับสูงขึ้นกว่า 100 bps หรือ 1% ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการออกตราสารหนี้ของทั้งภาครัฐและเอกชน

อย่างไรก็ตาม มูลค่าการออกหุ้นกู้ในช่วงครึ่งปีแรกยังมีมูลค่า 660,121 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงการเร่งระดมทุนของธุรกิจเพื่อล็อกต้นทุนการเงิน จากการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะขยับสูงขึ้นไปอีกในช่วงครึ่งหลังของปี

โดยยอดออกหุ้นกู้ใน 6 เดือนที่ผ่านมา คิดเป็นกว่า 64% ของมูลค่าการออกทั้งปี 2564 โดยมูลค่าการออกหุ้นกู้ในทุกกลุ่มอันดับเครดิตเพิ่มมากขึ้น และมีอายุเฉลี่ยยาวขึ้นจาก 4.7 ปี เป็น 5.1 ปี และพบว่าหุ้นกู้รุ่นอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไปมีการออกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการออกสูงสุด 3 ลำดับแรกในครึ่งปีแรก ได้แก่ กลุ่มพลังงาน (24%) กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (15%) และกลุ่มปิโตร (13%) ทั้งนี้จำนวนผู้ออกหุ้นกู้รายใหม่ (newcomer) เพิ่มขึ้นถึง 14 บริษัทจาก 7 บริษัทในครึ่งแรกปีที่แล้ว

โดยจะมีหุ้นกู้ที่จะออกเพื่อทดแทนรุ่นที่ครบกำหนดไถ่ถอนในครึ่งหลังของปีอีก 3.2 แสนล้านบาท ทำให้คาดว่ามูลค่าการออกหุ้นกู้ระยะยาวในปีนี้จะทะลุ 1 ล้านล้านบาทได้เป็นปีที่ 3 โดยมีโอกาสทำสถิติการออกสูงสุดใหม่แตะ 1.2 ล้านล้านบาทได้หากเศรษฐกิจไทยมีทิศทางการฟื้นตัวที่ดีอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้จากเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government bond yield curve) ที่ปรับตัวสูงขึ้นทุกรุ่นอายุ สอดคล้องกับทิศทางการพุ่งขึ้นของ Bond yield สหรัฐ จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐได้เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ประกอบกับแรงกดดันจากเงินเฟ้อของไทยที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงไตรมาส 2/65 ณ สิ้นเดือน มิ.ย.65  Bond yield ไทยรุ่นอายุ 2 ปี เท่ากับ 1.75% และ รุ่นอายุ 10 ปี เท่ากับ 2.90% เป็นการปรับตัวสูงขึ้น 110 bps และ 100 bps ตามลำดับจากสิ้นปีที่แล้ว

ส่วนชดเชยความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit spread) ในช่วงครึ่งปีแรกของหุ้นกู้อายุ 5 ปี กลุ่มอันดับเครดิต AA และ AAA มีการปรับตัวสูงขึ้น ส่วนอันดับเครดิตต่ำกว่า AA มีการปรับตัวลดลง แต่จากการปรับขึ้นอย่างรวดเร็วของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในช่วงไตรมาส 2/65 ส่งผลให้การออกหุ้นกู้มีต้นทุนที่สูงขึ้นจากสิ้นปีที่ผ่านมา และสูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิด โดยหุ้นกู้อายุ 5 ปี กลุ่มอันดับเครดิต AAA, AA, A, BBB+ และ BBB มีต้นทุนดอกเบี้ยโดยเฉลี่ย ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2565 ที่ 3.09%, 3.37%, 3.61%, 4.89% และ 5.35% ตามลำดับ

ด้านกระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow) ในช่วง 2 เดือนแรกของปี นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อสุทธิตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่อง แต่พลิกกลับเป็นขายสุทธิหลังการเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก่อนที่จะเริ่มทยอยกลับเข้าซื้อในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม อย่างไรก็ตามนักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาเป็นการขายสุทธิอีกครั้งในเดือนมิถุนายนภายหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 0.75% ของธนาคารกลางสหรัฐ

ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 กระแสเงินลงทุนต่างชาติลดลงสุทธิ 5,175 ล้านบาท โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 นักลงทุนต่างชาติมียอดถือครองตราสารหนี้ไทยเท่ากับ 1.03 ล้านล้านบาท คิดเป็น 7% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทย 15.30 ล้านล้านบาท โดยมีอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ที่ถือครอง 8.4 ปี