สมาคมประกันวินาศภัย “ไทย-ไต้หวัน” MOU แลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกิจ

อานนท์ วังวสุ
อานนท์ วังวสุ

สมาคมประกันวินาศภัย “ไทย-ไต้หวัน” MOU แลกเปลี่ยนข้อมูล-บุคลากร ศึกษาดูงาน ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเรียนรู้ระเบียบปฏิบัติใหม่ เผยคนไต้หวันทำประกันสูงกว่าคนไทยสูงถึง 3 เท่า เหตุค่าครองชีพแพง-เห็นความสำคัญในการบริหารความเสี่ยงมากกว่า

วันที่ 8 กรกฎาคม 2565 นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า วันนี้สมาคมประกันวินาศภัยไทยได้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ผ่านออนไลน์ระหว่างสมาคมประกันวินาศภัยไทย (TGIA) และสถาบันประกันภัยไต้หวัน (TII)

โดยมี Mr.Hsien-Nung Kuei ประธานสถาบันประกันภัยไต้หวัน เป็นผู้ร่วมลงนามในความร่วมมือของธุรกิจประกันภัยไทยและไต้หวัน บันทึกการลงนามในครั้งนี้จะเป็นการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมประกันภัยไทยให้มีความก้าวหน้าและพัฒนาทัดเทียมในระดับสากล ซึ่งอุตสาหกรรมประกันภัยไต้หวันนับได้ว่ามีความก้าวหน้าอย่างสูงสุดในภูมิภาคนี้

ปี 2565 ประเทศไต้หวันมีจำนวนบริษัทที่ประกอบธุรกิจประกันภัย จำนวน 44 บริษัท ประกอบด้วย บริษัทประกันชีวิต 22 บริษัท บริษัทประกันวินาศภัย 19 บริษัท และบริษัทรับประกันภัยต่อ 3 บริษัท โดยในปี 2564 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยไต้หวันมีเบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์ไต้หวัน หรือประมาณ 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขของขนาดอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยที่มีความใกล้เคียงกับประเทศไทยในปี 2564 ที่มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงประมาณ 2.6 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม จำนวนประชากรของประเทศไต้หวันในปัจจุบันนั้นมีประมาณ 24 ล้านคน ในขณะที่ประเทศไทยมีจำนวนประชากรประมาณ 66 ล้านคน แสดงให้เห็นถึงการใช้จ่ายในเรื่องของการประกันวินาศภัยของคนไต้หวันโดยรวมนั้นมากกว่าคนไทยถึงเกือบ 3 เท่า ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเรื่องของค่าครองชีพที่สูงกว่า และอีกส่วนหนึ่งอาจเป็นเรื่องของการมองเห็นความสำคัญในการบริหารความเสี่ยงด้วยการประกันวินาศภัยของคนไต้หวันที่มีมากกว่าด้วย

สำหรับสถาบันประกันภัยไต้หวัน (Taiwan Insurance Institute : TII) เป็นองค์กรการค้าที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2528 โดยมีพันธกิจที่สำคัญ คือ

1.เพื่อทำหน้าที่เป็นคลังสมอง (Think Tank) ของหน่วยงานกำกับดูแลและอุตสาหกรรมประกันภัย

2.เพื่อช่วยหน่วยงานกำกับดูแลในการศึกษาและกำหนดนโยบายด้านกฎระเบียบเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีให้กับอุตสาหกรรมประกันภัย

3.เพื่อเป็นเวทีสื่อสารและทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล อุตสาหกรรมประกันภัย และผู้บริโภค

4.เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัยในต่างประเทศ

5.เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง ตลอดจนส่งเสริมแนวคิดด้านการประกันภัยที่ถูกต้องและคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภค

สถาบันประกันภัยไต้หวัน ทำหน้าที่ให้บริการวิจัยด้านการประกันภัยและการพัฒนาวิชาชีพประกันภัยทั้งการประกันชีวิตและประกันวินาศภัย การจัดโปรแกรมอบรมและสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย การรวบรวมและให้บริการด้านสถิติประกันภัยและคณิตศาสตร์ประกันภัย การดำเนินการในด้านการนำผลิตภัณฑ์ประกันภัยและฐานข้อมูลทางการเงินไปใช้ การอำนวยความสะดวกในด้านการพัฒนาประกันภัยอิเล็กทรอนิกส์ (e-Insurance)

การทบทวนการกำหนดราคาและการออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัย การบริหารการตรวจสอบคุณสมบัติของตัวแทนขายประกันภัยที่เชื่อมโยงกับการลงทุน การวิเคราะห์ตลาดประกันภัย รวมทั้งทางสถาบันยังมุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์ฝึกอบรมการประกันภัยในระดับภูมิภาคด้วย โดยคณะกรรมการบริหารของสถาบัน

ประกอบด้วย ตัวแทนจากหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของไต้หวัน สมาคมประกันวินาศภัยไต้หวัน สมาคมประกันชีวิตไต้หวัน และผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนในด้านการประกันภัย

ในปี 2564 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมประกันภัยไต้หวันมีเบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ไต้หวัน หรือประมาณ 3.8 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรับในส่วนของอุตสาหกรรมประกันชีวิตประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ไต้หวัน หรือประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท และเบี้ยประกันภัยรับในส่วนของอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์ไต้หวัน หรือประมาณ 2.5 แสนล้านบาท

ด้านสมาคมประกันวินาศภัยไทย (Thai General Insurance Association : TGIA) เป็นองค์กรการค้าที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งเปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการในปี 2510 มีวิสัยทัศน์ในการดำเนินงานส่งเสริมและสนับสนุนให้ธุรกิจประกันวินาศภัยเป็นเสาหลักของระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน โดยมีพันธกิจที่สำคัญรวม 5 ด้าน ได้แก่

1. ด้านประชาชน สังคมและสิ่งแวดล้อม
2. ด้านหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
3. ด้านหน่วยงานกำกับดูแล (สำนักงาน คปภ.)
4. ด้านบริษัทสมาชิกและบุคลากรด้านการประกันภัย
5. ด้านระบบนิเวศธุรกิจ (Business Ecosystem) ในยุคดิจิทัล

สมาคมประกันวินาศภัยไทย ยังมีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันวินาศภัยทั้งทางด้านวิชาการ และด้านกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจประกันภัย และสังคม ตลอดจนให้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ โดยคณะกรรมการบริหารของสมาคม ประกอบด้วยตัวแทนจากบริษัทประกันวินาศภัยไทยที่เป็นสมาชิกของสมาคม

ในปี 2564 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมประกันภัยไทยมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมประมาณ 8.7 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงในส่วนของอุตสาหกรรมประกันชีวิตประมาณ 6.1 แสนล้านบาท และเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงในส่วนของอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยประมาณ 2.6 แสนล้านบาท

ดังนั้นความร่วมมือระหว่างทั้งสององค์กรในครั้งนี้จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งไทยและไต้หวันที่จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลและองค์ความรู้ในแง่มุมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยของกันและกัน รวมถึงยังเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้เรียนรู้เทคโนโลยีและกฎระเบียบระหว่างประเทศใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมประกันวินาศภัยไทย ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีส่วนช่วยพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยไทยให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้ต่อไป” นายอานนท์กล่าว