กองทุนประกันวินาศภัย กุมขมับ หนี้ท่วม 5 หมื่นล้าน

กองทุนประกันวินาศภัย
สัมภาษณ์

ผู้จัดการกองทุนประกันคนใหม่แบกงานหนัก เปิดตัวเลขภาระหนี้ 8 บริษัทประกันถูกเพิกถอนใบอนุญาตสูงถึง 5.2 หมื่นล้านบาท เฉพาะหนี้ 4 บริษัทปิดกิจการเซ่นพิษโควิดกว่า 4 หมื่นล้าน แจงข้อจำกัดจ่ายคืนหนี้สินไหมล่าช้า เตรียมปรับแผน-เพิ่มทีมเร่งสปีดอนุมัติจ่ายหนี้ ห่วง “สินมั่นคง-พุทธธรรม” เข้าโซนวิกฤต

แบกหนี้อ่วม 5.2 หมื่นล้าน

นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) ในฐานะผู้ชำระบัญชีให้กับบริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กองทุนอยู่ระหว่างชำระบัญชีทั้งหมด 8 บริษัท แยกเป็นบริษัทเดิม 4 แห่ง คือ 1.สัมพันธ์ประกันภัย 2.เอ.พี.เอฟ.อินเตอร์เนชั่นแนล 3.สัจจะประกันภัย และ 4.เจ้าพระยาประกันภัย ซึ่ง 2 บริษัทแรกส่งล้มละลายไปแล้ว แต่ยังมีภาระผูกพันต้องจ่ายหนี้อยู่ ส่วนอีก 2 บริษัทตอนนี้อยู่ในระหว่างการชำระบัญชี

และอีก 4 บริษัทที่เข้ามาใหม่หลังถูกปิดจากขาดทุนจ่ายเคลมประกันภัยโควิด ประกอบด้วย 1.เอเชียประกันภัย 2.เดอะวัน ประกันภัย 3.อาคเนย์ประกันภัย และ 4.ไทยประกันภัย ซึ่งเอเชียประกันภัยและเดอะวัน ประกันภัยครบกำหนดให้ยื่นขอรับชำระหนี้แล้ว ส่วนอาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัยจะครบกำหนดวันที่ 15 ก.ค. 65 ที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน เม.ย. 65 กองทุนมียอดหนี้ 8 บริษัทรวมกว่า 52,000 ล้านบาท ประมาณ 40,000 ล้านบาท มาจาก 4 บริษัทที่ถูกปิดจากขาดทุนจ่ายเคลมประกันภัยโควิด ทั้งนี้เนื่องจากยอดหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ทั้งหมดที่เจ้าหนี้ยื่นกับกองทุนในฐานะผู้ชำระบัญชี แต่กองทุนจะจ่ายหนี้ได้เฉพาะที่เกิดจากการเอาประกันภัยเท่านั้น ซึ่งอาจจ่ายจริงไม่ถึงตัวเลขข้างต้น

ชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย
ชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย

แจงข้อจำกัดจ่ายหนี้ล่าช้า

“ตอนนี้กองทุนต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐานให้มีความถูกต้องและรอบคอบ เนื่องด้วยกองทุนเป็นการจ่ายเงินของรัฐ จึงอยากให้ประชาชนเข้าใจด้วยว่า แม้บริษัทประกันได้ตรวจสอบแล้ว แต่กองทุนต้องตรวจสอบอีกครั้ง จึงอาจเกิดความล่าช้า อีกทั้งขอร้องไม่อยากให้ด่าทอพนักงานกองทุน เราต้องการช่วยให้ทุกคนได้เงินจริง ๆ เพราะแม้ลูกหนี้คุณจะหนีไปแล้ว แต่รัฐยังทำหน้าที่จ่ายแทนให้ จึงอยากให้ทุกคนให้กำลังใจกัน เพราะด้วยสถานะของกองทุนเป็นองค์กรขนาดเล็ก มีเจ้าหน้าที่ 10-20 คนเท่านั้น แต่ก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด” นายชนะพลกล่าว

โดยเบื้องต้นกองทุนกำลังแยกหนี้ระหว่าง Non-COVID กับ COVID ออกให้เห็นชัดเจน โดยหนี้ COVID ต้องตรวจสอบหลักฐานจากผล RT-PCR ซึ่งตอนนี้กำลังขอความอนุเคราะห์จากกระทรวงสาธารณสุขที่จะลิงก์ข้อมูล เพื่อให้เจ้าหน้าที่กองทุนเช็กข้อมูลในระบบได้ หากได้รับความเห็นชอบก็จะทำให้การอนุมัติได้เร็ว

เคลียร์ได้แค่ 30 ล้านบาท/เดือน

ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัยกล่าวว่า ขณะนี้กองทุนจ่ายหนี้ได้ประมาณ 1,000-1,500 รายต่อเดือน คิดเป็นมูลค่าราว 30-40 ล้านบาท หรือประมาณ 300-400 ล้านบาทต่อปี ซึ่งกองทุนกำลังหารือกับทีมเพื่อเพิ่มการอนุมัติจ่ายหนี้อีก 200-300% หรือประมาณ 3,000-4,000 รายต่อเดือน คาดหวังจ่ายหนี้ให้ได้ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี แต่ทั้งนี้ต้องรอให้เจ้าหนี้อาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัยยื่นขอชำระหนี้ครบเพื่อประมวลผลและจัดทีม ซึ่งขณะนี้ก็ได้ความร่วมมือ คปภ. ส่งคนเข้ามาช่วย

ลุ้นให้ “สินมั่นคงฯ” ฟื้นฟูสำเร็จ

นายชนะพลกล่าวอีกว่า ขณะนี้เป็นห่วงบริษัทสินมั่นคงประกันภัย เพราะเท่าที่ทราบมียอดสินไหมประกันภัยโควิด 400,000 ราย มูลค่าเกือบ 4 หมื่นล้านบาท บริษัทเดียวแต่เทียบเท่า 4 บริษัทที่ถูกปิดไป ฉะนั้นอยากให้สินมั่นคงฯเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการสำเร็จ สำหรับบริษัทพุทธธรรมประกันภัย ที่ คปภ.ได้สั่งหยุดรับประกันภัยชั่วคราวเป็นรายล่าสุดเมื่อ 27 พ.ค. 2565 ต้องลุ้นเหมือนกันว่าจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตอีกหรือไม่ ถึงแม้จะเป็นบริษัทขนาดเล็ก แต่ก็จะเพิ่มภาระให้กองทุนมากขึ้นไปอีก

ขณะที่ปัจจุบันกองทุนมีทรัพย์สินอยู่กว่า 6,000 ล้านบาท มีรายได้เข้ากองทุนปีละ 600 ล้านบาท มีการชำระหนี้ 300-400 ล้านบาทต่อปี จึงอาจยังไม่จำเป็นต้องกู้เงินเสริมสภาพคล่อง เพียงแต่ไม่ทันใจประชาชน เพราะประชาชนต้องการให้จ่ายแบบสึนามิ หรือเดือนละ 3,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งทางกองทุนประกันฯก็อยากให้เป็นแบบนั้น แต่ความเป็นจริงทำไม่ได้ เพราะต้องระดมคนเป็นหมื่นคนมาช่วย และต้องไปประสานสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อทำแผนหาเงินกู้เพื่อมาจ่ายหนี้

ทั้งนี้ในเบื้องต้นได้มีการหารือกับ สบน.แล้ว โดยทาง สบน.ให้กองทุนไปพิจารณาทรัพย์สินและประสิทธิภาพในการชำระหนี้ของกองทุน ซึ่งประเมินว่าในช่วง 1-2 ปีนี้คาดว่ายังมีเงินเพียงพอจ่ายหนี้ แต่หากกองทุนมีสภาพคล่องไม่เพียงพอแล้ว เช่น เหลือเงินอยู่ 1,000 ล้านบาท สบน.ก็จะหาแหล่งเงินกู้ให้ได้ไม่ต้องกังวล ซึ่งเขาจะประเมินให้ว่าสมควรจะปล่อยเงินให้ช่วงไหน