ลีสซิ่ง-แบงก์ โอดเงินกีบอ่อน เพิ่มเสี่ยงปล่อยกู้-กำลังซื้อวูบฉุดกำไร

ลีสซิ่ง-แบงก์

“ลีสซิ่ง-แบงก์” โอดธุรกิจใน สปป.ลาว เผชิญผลกระทบ “เงินกีบ” อ่อนค่าหนัก “ฐิติกร” คาดกำไรสินเชื่อรถจักรยานยนต์ปีนี้วูบ เหตุกำลังซื้อไม่มี-ลูกค้าต้องวางดาวน์สูง

ฟาก “กสิกรไทย” รับมีผลกระทบด้านการตั้งสำรองตามมาตรฐานบัญชี IFRS9 แจงเพิ่มความระมัดระวังปล่อยกู้รักษาพอร์ตเฉียด 5,000 ล้านบาท

นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์เงินกีบของ สปป.ลาวที่อ่อนค่าลง ยอมรับว่ามีผลกระทบต่อภาพรวมกำไรที่จะปรับลดลงตาม

โดยในไตรมาส 1/2565 ธุรกิจใน สปป.ลาวของบริษัทมีกำไรสุทธิเฉลี่ยอยู่ที่ 2 ล้านบาท ปรับลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2564 ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 8 ล้านบาท และคาดว่าจากสถานการณ์น่าจะทำให้ภาพรวมกำไรทั้งปีนี้ น่าจะหดตัวลง จากปีก่อนมีกำไรสุทธิราว 20 ล้านบาท

ประพล พรประภา

“เงินกีบที่อ่อนค่า กระทบต่อกำลังซื้อใน สปป.ลาว โดยลูกค้าจะชะลอการตัดสินใจซื้อรถจักรยานยนต์ เนื่องจากจะต้องมีเงินวางดาวน์เฉลี่ย 15-20% แตกต่างจากไทยที่มีเงินดาวน์เพียง 5-10% ทำให้ค่าเงินที่อ่อนค่ามีผลต่อการซื้อรถจักรยานยนต์ เพราะต้องใช้เงินที่มากขึ้นในการวางดาวน์ รวมถึง สปป.ลาวเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งโดยปกติยอดขายจะปรับลดลงอยู่แล้ว ส่งผลให้ยอดขายทั้งปีน่าจะปรับลดลง”

“ลูกค้าเดิม ความสามารถในการชำระหนี้ ยังคงเป็นปกติ และทิศทางยังคงดีต่อเนื่อง โดยหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธุรกิจใน สปป.ลาว ณ ไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 1.7% ถือว่าค่อนข้างน้อย ซึ่งหากเทียบปีก่อนที่มีการล็อกดาวน์ประเทศ เอ็นพีแอลอยู่ที่ 3% ปีนี้เอ็นพีแอล
ไม่น่าจะถึง 3% ส่วนหนึ่งมาจากประชากรลาวมีหนี้ครัวเรือนค่อนข้างน้อย” นายประพลกล่าว

ทั้งนี้ พอร์ตสินเชื่อคงค้างในต่างประเทศของบริษัท ณ ไตรมาส 1/2565 ภาพรวมอยู่ที่ 4,144 ล้านบาท โดยสินเชื่อคงค้างใน สปป.ลาว อยู่ที่ 160 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.8% ของพอร์ตสินเชื่อรวม

“สินเชื่อใน สปป.ลาว ก่อนหน้านี้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จะเห็นว่าปี 2562 พอร์ตอยู่ที่ 265 ล้านบาท และหลังโควิด-19 ระบาด ปี 2563 พอร์ตปรับลดลงเหลือ 200 ล้านบาท และในปี 2564 เหลือ 142 ล้านบาท ต่อมาสถานการณ์ดีขึ้น จะเห็นว่าไตรมาส 1/2565 ยอดสินเชื่อเพิ่มเป็น 159 ล้านบาท แต่พอมีปัญหาเงินกีบอ่อนค่าเข้ามา กำลังซื้อถดถอย แนวโน้มไตรมาส 2 อาจเห็นการหดตัวได้ แต่แน่นอนเงินกีบอ่อนค่า กำไรเราหายไปจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่การจะให้เราทำป้องกันความเสี่ยง (hedging) ก็ไม่คุ้ม” นายประพลกล่าว

นายภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์ค่าเงินกีบของ สปป.ลาวที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องนั้น ผลกระทบในเชิงธุรกิจจะมีค่อนข้างน้อย โดยจะมีผลในเรื่องความเสี่ยงของการตั้งสำรอง หรือการลงบัญชีตามหลักเกณฑ์ IFRS9 แต่โดยภาพรวมไม่ได้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารกสิกรไทยใน สปป.ลาวแต่อย่างใด

ภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ

อย่างไรก็ดี ธนาคารยังคงระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ โดยลูกค้าจะต้องมีรายได้และสินเชื่อเป็นเงินสกุลเดียวกัน เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งปัจจุบันการปล่อยสินเชื่อใน สปป.ลาว จะมี 3 สกุลเงิน ได้แก่ กีบ บาท และดอลลาร์ ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ เช่น ธุรกิจโรงไฟฟ้า 
จะเป็นสกุลเงินดอลลาร์ ธุรกิจท้องถิ่น จะเป็นเงินกีบ แต่หากเป็นธุรกิจซื้อมาขายไป หรือค้าชายแดนจะอยู่ในรูปเงินบาท ซึ่งสกุลเงินกีบยังเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงในการปล่อยสินเชื่อ

ทั้งนี้ ธนาคารพยายามรักษาพอร์ตสินเชื่อคงค้างให้อยู่ในระดับเดิมราว 5,000 ล้านบาท โดยดูแลลูกค้าเก่า และตั้งเป้าเพิ่มในส่วนของรายได้
ค่าธรรมเนียมที่มีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง โดยปีนี้ตั้งเป้าเติบโตกว่า 200% ซึ่งจะมาจากการทำธุรกรรมของลูกค้าผ่าน mobile banking ที่เป็น QR wallet ของธนาคาร จะมีธุรกรรมการโอนเงิน หรือโอนเงินระหว่างประเทศ หรือธุรกรรมป้องกันอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น ปัจจุบันมีฐานลูกค้าที่ใช้บริการประมาณ 2 แสนราย เนื่องจากธนาคารทำธุรกิจในเวียงจันทน์ที่มีประชากรเพียง 2 ล้านคน 
จากประชากรทั้งประเทศที่มีอยู่ 7-8 ล้านคน

“ปัจจุบันคุณภาพลูกค้ายังค่อนข้างดี และสัญญาณการชำระหนี้ยังคงเป็นปกติ โดยตอนนี้เอ็นพีแอลใน สปป.ลาว ยังเป็น 0% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ในท้องถิ่น และมีผู้ประกอบการของไทยที่ขยายไปลงทุนใน สปป.ลาว รวมกันแล้วกว่า 100 ราย ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีเรื่องเงินกีบอ่อนค่า แต่อิมแพ็กต์กับเรามีน้อย เพราะเราแมตช์เงินกู้และรายได้เป็นสกุลเดียวกัน เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยง” นายภัทรพงศ์กล่าว