พิษเงินเฟ้อลาวพุ่ง-กีบอ่อนค่า ทุบค้าชายแดน 7 หมื่นล้านหงอย

ลาวเปิดประเทศ
ภาพ Xinhua

เศรษฐกิจลาวฝืดหนัก ปม “เงินเฟ้อพุ่ง-กีบอ่อนค่า” ต่อเนื่อง ทำการค้า 7 หมื่นล้าน สะเทือน “ทูตพาณิชย์ สปป.ลาว” หวั่น สินค้าไทย รถยนต์-อุปโภคบริโภค โดนหางเลข ประธานหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชี้ปัญหาลามกระทบค้าขายชายแดนเงียบเหงา “ตั้งงี่สุ่น” ค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่อุดร ลูกค้าลดวูบ

เศรษฐกิจของประเทศลาวที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 และถูกซ้ำเติมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา และล่าสุดผลพวงจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น ขณะที่ค่าเงินกีบกลับอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ยิ่งทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของลาวมีอาการที่หนักขึ้น อีกด้านหนึ่งก็ส่งผลให้ธุรกิจการค้าชายแดนลาว-ไทย ได้รับผลกระทบตามไปด้วย

เงินเฟ้อพุ่ง-กีบอ่อน ทุบ ศก.ลาว

นายกวิน วิริยพานิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว (ทูตพาณิชย์) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการรายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อใน สปป.ลาว เดือน เม.ย. 2565 สูงขึ้น 9.9% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เฉลี่ยที่ 4-5% และสูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่ปี 2559 และสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผลมาจากต้นทุนราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น จากการนำเข้าน้ำมัน 100% ประกอบกับค่าเงินกีบอ่อนค่ามาก ปัจจุบัน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 12,693 กีบ ขณะที่ 1 บาท เท่ากับ 404.03 กีบ เทียบกับเมื่อปี 2560 อัตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 8,216 กีบ และ 1 บาท เท่ากับ 242.93 กีบ

นายกวินระบุว่า ปัญหาเงินกีบที่อ่อนค่า เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อกำลังซื้อและทำให้ผู้บริโภคระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ล่าสุดพบว่า ส่งผลต่อการส่งออกสินค้าของไทย โดยเฉพาะรถยนต์ ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคแม้จะยังมีความต้องการ แต่ผู้บริโภคระวังการจับจ่าย ทำให้ผู้นำเข้าระวังมากขึ้นและสต๊อกสินค้าตามความต้องการ

สำหรับมูลค่าการค้าระหว่างชายแดนไทย-สปป.ลาว ไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่า 71,359 ล้านบาท ไทยส่งออก 40,450 ล้านบาท ขยายตัว 21.51% นำเข้า 30,909 ล้านบาท ขยายตัว 24.42% ไทยได้ดุลการค้า 9,540 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เชื้อเพลิง ทองคำ เคมีภัณฑ์ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รองเท้า ปูนซีเมนต์ ผลไม้ และของปรุงแต่งจากผลไม้ เป็นต้น

นายจาตุรงค์ บุนนาค ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อของลาวที่ปรับสูงขึ้นส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวลาว ประกอบกับอัตราเงินกีบอ่อนค่า ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าไทยมีราคาสูงขึ้น และ สปป.ลาวประเมินว่า ในเดือน มิ.ย.ค่าเงินกีบอาจมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่ามากขึ้น จากมาตรการของรัฐที่หาเงินมาเสริมทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ

ค้าขายชายแดนเงียบเหงา

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ภาวะเงินเฟ้อรวมถึงปัญหาเงินกีบที่อ่อนค่าลงมาก ส่งผลให้บรรยากาศการค้าขายข้ามแดนไม่คึกคัก และต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและรอดูว่า เศรษฐกิจลาวในช่วงไตรมาส 4 จะเป็นอย่างไร และเศรษฐกิจลาวยังพึ่งพาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน

ขณะที่ นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ตั้งงี่สุนซูเปอร์สโตร์ จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง รายใหญ่ จ.อุดรธานี กล่าวว่า ปกติลูกค้าจาก สปป.ลาว ของตั้งงี่สุนจะมีสัดส่วน 15% แต่ลดลงเหลือประมาณ 5% แม้จะกลับมาเปิดประเทศแล้วแต่บรรยากาศก็ยังไม่คึกคักเท่าที่ควร คนจากฝั่งลาวเข้ามาจับจ่ายใช้สอยไม่มากนัก

“ลูกค้าจากลาวจะมี 2 กลุ่ม คือ 1.ลูกค้ารายใหญ่ หรือร้านค้าที่ซื้อไปขายต่อลดลงเหลือเพียง 50% และลดจำนวนรอบการซื้อ 2.ลูกค้าที่ข้ามมาซื้อของด้วยตัวเอง กลุ่มนี้หายไป 80-90% และระมัดระวังการจับจ่ายมากขึ้น ปกติร้านค้าที่ซื้อสินค้าไปขายก็มักจะบวกราคาไปอีก 7-10% เมื่อเกิดเงินเฟ้อ สินค้าก็ขายยากขึ้นไปอีก ก็ต้องกระตุ้นการจับจ่ายด้วยโปรโมชั่นที่แรงขึ้น”

ขณะที่นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภครายใหญ่ กล่าวว่า ขณะนี้เอฟเฟ็กต์เงินเฟ้อในลาวค่อนข้างกระทบ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่ส่งไปจำหน่าย ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น และออร์เดอร์การสั่งซื้อสินค้าลดลงและยังไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าปัญหานี้จะลากยาวไปนานแค่ไหน

สภาพัฒน์ชี้กระทบไทยน้อย

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า กรณีปัญหาเงินเฟ้อใน สปป.ลาว ไม่น่าจะกระทบไทยมากนัก เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ที่มีความเกี่ยวข้องจะเป็นพวกสินค้าอุปโภคและบริโภคที่ส่งไปจำหน่ายใน สปป.ลาว

ส่วนเรื่องความเสี่ยงที่ สปป.ลาว อาจจะมีการผิดนัดชำระหนี้ นายดนุชากล่าวว่า เป็นเรื่องที่สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) จะต้องไปพิจารณาโดยถึงจุดหนึ่งก็ต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ตามกระบวนการขององค์กรระหว่างประเทศที่ใช้กัน

ทริสฯคงเรตติ้ง BBB- สปป.ลาว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด ทริสเรทติ้ง ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ สปป.ลาวที่ BBB- และเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “stable” จาก “negative” เพื่อสะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

รวมถึงโอกาสที่สถานะด้านการคลังและภาคการต่างประเทศของ สปป.ลาว จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะเครดิตประเทศของ สปป.ลาว ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กและมีศักยภาพในการขยายตัวที่สูง รวมทั้งมีระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าการลงทุนในสินทรัพย์โครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพในการสร้างผลผลิตจะเป็นแหล่งที่มาของรายได้ที่มีเสถียรภาพของรัฐบาล สปป.ลาว ได้ในระยะยาว

ไทยวิวัฒน์ยันไม่กระทบการลงทุน

นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) หรือ TVI กล่าวว่า บริษัท ลาววิวัฒน์ประกันภัย ที่บริษัทถือหุ้น 70% จะได้รับผลกระทบในแง่ค่าเงินกีบที่อ่อนค่าหนัก ส่งผลให้การตีมูลค่าการลงทุนในปัจจุบัน เมื่อเทียบเป็นสกุลเงินบาทมีมูลค่าน้อยลง แต่ก็ไม่ได้มีนัยสำคัญต่อรายได้หลักของบริษัท เนื่องจากธุรกิจในลาวยังมีขนาดไม่ใหญ่มาก ปัจจุบันเน้นขยายงานประกันภัยรถยนต์และประกันภัยการเดินทาง

“การเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว หลัก ๆ เพื่อต้องการบริการลูกค้าประกันภัยไทยวิวัฒน์ กรณีขับรถข้ามแดนเพื่อท่องเที่ยว เพราะกฎหมายลาวกำหนดว่าการให้บริการด้านประกันภัยต่าง ๆ จะต้องเป็นบริษัทลาวเท่านั้น ฉะนั้นเมื่อรถลูกค้าเกิดเหตุในลาว เราก็สามารถเข้าไปบริการได้ทันที” นายจีรพันธ์กล่าว