เงินกีบอ่อนค่าป่วนค้าชายแดน คู่ค้าไทยขอจ่ายสด-รับเงินบาท

ลาว

เงินกีบผันผวนหนัก อัตราแลกเปลี่ยนขึ้นลงวันเดียวหลายรอบ ส่งผลกระทบค้าชายแดนไทย-ลาว ร้านค้าที่หนองคาย-อุบล-มุกดาหาร ยอดขายสินค้าตกฮวบฮาบ หลังฝั่งไทยรับเฉพาะ “บาท” และขอเป็นเงินสด สินค้าไทยนำเข้าไปขายได้น้อยลงเพราะแพงขึ้น เหตุเงินเฟ้อฝั่งลาวสูงมาก น้ำมันสำเร็จรูปก็ขาดหนัก

สปป.ลาวกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจด้านการเงินอย่างหนัก ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาสูงถึง 12.8% หรือสูงสุดในรอบ 15 ปี และกลายเป็นประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงเป็นอันดับที่ 6 ของโลก และปัญหาขาดแคลนเงินตราต่างประเทศทุนสำรองของประเทศลดต่ำลง ส่งผลให้ค่าเงินกีบของ สปป.ลาวอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินกีบอยู่ที่ประมาณ 15,000 กีบต่อดอลลาร์ จากช่วงปลายปีที่แล้วอยู่ที่ ประมาณ 10,000 กีบต่อดอลลาร์

ทั้งหมดนี้ได้ส่งผลกระทบไปถึงการค้าชายแดนไทย-สปป.ลาว รวมไปถึงการซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิงที่ สปป.ลาว จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศไทยอยู่ในปัจจุบัน

ล่าสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ หลังจากเผชิญกับความโกลาหลวุ่นวายมา 2 เดือนเต็ม รัฐบาล สปป.ลาวได้ตัดสินใจที่จะเปลี่ยนตัว ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว คนใหม่ จาก ท่านสอนไซ สิดพะไซ มาเป็น ท่านบุนเหลือ สินไซวอละวง ท่ามกลางการจับตามองของผู้เกี่ยวข้องที่ว่า สปป.ลาวจะหาทางออกจากวิกฤตการณ์ด้านการเงินอย่างไร

หนองคายยอดขายวูบ 50%

นางสาวดวงใจ สุขเกษมสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค เอส อีเกิ้ลสโตร์ จำกัด ผู้ประกอบการจำหน่ายยางรถยนต์ อุปกรณ์ประดับยนต์ ทุกประเภท จ.หนองคาย ในฐานะรองประธานและเลขาธิการหอการค้าจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า จากการที่ สปป.ลาว มีเงินเฟ้อสูงมาก ทำให้ค่าเงินกีบปัจจุบันมีความผันผวนเฉลี่ยเคลื่อนไหวประมาณ 52,000-57,000 กีบ แลกเงินไทยได้ 100 บาท ส่งผลให้คนลาวข้ามมาซื้อสินค้าฝั่งไทยน้อยลง ยกเว้นคนลาวที่มีฐานะข้ามมาใช้บริการโรงพยาบาล คลินิกเสริมความงามต่าง ๆ มากพอสมควร แต่ถ้าซื้อของใช้ทั่วไปจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนลาวข้ามมาซื้อสินค้าไทยลดลง ปัจจุบันในนครหลวงเวียงจันทร์มีคนจีนเข้าไปตั้งห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งมีสินค้าขายหลากหลาย รวมถึงมีสินค้าไทยที่นำเข้าไปขายเช่นเดียวกัน การซื้อสินค้าใน สปป.ลาว อาจมีราคาถูกกว่าการข้ามมาซื้อฝั่งไทย เนื่องจาก สปป.ลาวกำหนดเงื่อนไขสำหรับคนที่ข้ามมาซื้อสินค้าฝั่งไทยว่า หากใครซื้อสินค้าเกิน 1,500 บาท จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 10% ก่อนนำสินค้าเข้าประเทศ หากใครจ่าย VAT 7% ที่ฝั่งไทยแล้ว ให้แสดงเอกสารจะเสีย VAT ที่ลาว 3% และ

หากเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 การเปิดด่านค้าขายชายแดนไทย-ลาว มียอดขายประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละ 1,000 ล้านบาท แต่ตอนนี้ สปป.ลาวเพิ่งเริ่มเปิดด่านและเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น คงต้องรอดูตัวเลขกันอีกระยะหนึ่ง

“ยกตัวอย่าง บริษัท เค เอส อีเกิ้ลสโตร์ ก่อนโควิด-19 มียอดรายได้จากคนไทยและคนลาวอย่างละครึ่ง ๆ ในช่วงโควิด-19 มีการปิดด่านก็จะมีการส่งสินค้าเข้าไปใน สปป.ลาว ตามออร์เดอร์ของลูกค้า และคาดหวังว่าเมื่อเปิดประเทศ มีการเปิดด่าน ยอดรายได้จะดีขึ้น แต่ สปป.ลาวกลับต้องมาเผชิญปัญหาค่าเงิน เงินเฟ้อมาก น้ำมันมีราคาแพง ทำให้ปัจจุบันรายได้จากลูกค้าฝั่งลาวน้อยมาก เหลือประมาณ 10% เช่น การเปลี่ยนยางรถยนต์ หลายคนอาจจะคิดว่ารอไปอีกสักระยะ ให้ค่าเงินดีขึ้นค่อยเปลี่ยนก็ได้ ไม่ต้องรีบเปลี่ยนตอนนี้” น.ส.ดวงใจกล่าว

ในทางตรงกันข้าม สปป.ลาว เปิดประเทศก็อยากให้คนเข้าไปท่องเที่ยวเพื่อได้มีรายได้ และตั้งแต่เปิดด่านมีคนไทยข้ามไปท่องเที่ยวในลาวมากขึ้น หลายคนข้ามไปนั่งรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ซึ่งทางรัฐบาลลาวหวังจะได้ “เงินบาท” ของไทยเข้าไปหมุนเวียนในตลาดเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของ สปป.ลาว

อุบลรับเงินบาทจ่ายค่าสินค้า

ด้าน นายประกิจ ไชยสงคราม ประธานกรรมการ บริษัท ยงสงวนกรุ๊ป จำกัด จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า เงินเฟ้อของ สปป.ลาว ยังคงส่งผลกระทบต่อการค้าอย่างต่อเนื่อง ปกติลูกค้ารายใหญ่ของ “ยงสงวน” จาก สปป.ลาว ประมาณ 4-5 ราย จะเข้าสั่งซื้อสินค้าทุกเดือน และสั่ง 2 รอบ/เดือน แต่ล่าสุดในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา “ลูกค้าฝั่งลาว” หายไปเลย คาดว่าจะมาจากสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ 1) สินค้าไทยที่ส่งนำเข้าไปก่อนหน้านี้ขายไม่ออก และยังคงเหลือค้างสต๊อกอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะคนซื้อน้อยลง เนื่องจากสินค้าราคาแพงขึ้น

2) ตอนนี้มีความเสี่ยงสูงมาก หากสั่งซื้อสินค้าไทยไปแล้วขายไม่ออกอาจจะทำให้เกิดการค้างสต๊อกได้ในอนาคต ดังนั้นผู้นำเข้า สปป.ลาวจึงชะลอการสั่งซื้อไปก่อน

ส่วนการชำระค่าสินค้าปัจจุบันบริษัทจะให้ลูกค้าโอนมาเป็น “เงินบาท” เข้าบัญชีธนาคารเท่านั้น จะไม่รับ “เงินกีบ” อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยงสงวนเริ่มมีลูกค้ารายย่อย-รายเล็กจากฝั่งลาวข้ามเข้ามาซื้อสินค้าด้วยตนเอง จากที่ก่อนหน้านี้จะรวมออร์เดอร์กันแล้วสั่งในนามคนใดคนหนึ่งเป็นลอตใหญ่ครั้งเดียว แล้วให้ชิปปิ้งขนสินค้าไปแบ่งกันทีหลัง

“ยงสงวนมีคู่ค้าจากฝั่ง สปป.ลาว ในสัดส่วนไม่เกิน 20% จากลูกค้าทั้งหมด ตอนนี้เราซื้อขายกันด้วยเงินสด ไม่มีเครดิตทั้งรายเล็กรายใหญ่ มูลค่าเฉลี่ยประมาณ 10-20 ล้านบาท/เดือน แต่ตอนนี้ดูท่าจะแย่ลงเพราะสถานการณ์เงินเฟ้อของฝั่งลาวตอนนี้หนักกว่าเดิมมาก คู่ค้าเราบอกว่า สาเหตุหลักมาจากน้ำมันเชื้อเพลิงหมด จะผลิตอะไรก็ไม่ได้ การขนส่งก็ต้องใช้น้ำมันที่แพงมากขึ้น เมื่อนำสินค้าเข้าไปก็ยิ่งแพงขึ้นไปอีก การท่องเที่ยวก็ยังไม่ดี ตอนนี้ได้ยินว่า สปป.ลาวพยายามลดค่าเงินกีบลง เพราะอยากได้เงินบาทไทยเข้าไปหมุน” นายประกิจกล่าว

ลาวข้ามฝั่งซื้อสินค้าไทยลดฮวบ

ส่วนสถานการณ์การค้าด้านมุกดาหารกับสะหวันนะเขตนั้น นายสมศักดิ์ สีบุญเรือง เลขาธิการประธานหอการค้าจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า สถานการณ์เงินเฟ้อของ สปป.ลาว ยังคงส่งผลกระทบต่อการค้าไทย-ลาวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก่อนหน้านี้ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2565 หลังจากมีการเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) จะมีประชาชนจากฝั่ง สปป.ลาว ข้ามมาซื้อของเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ซื้อเครื่องอุปโภค-บริโภค ซึ่งการเดินทางค่อนข้างสะดวกเพราะไม่ห่างไกลกันมาก แต่ตอนนี้ “ค่าเงินกีบ” มีความผันผวนมาก ประมาณ 40,000-50,000 กีบแลกเงินไทยได้ 100 บาท ส่งผลให้มีคนลาวเดินทางข้ามฝั่งไทยลดลงเหลือเพียง 20-30% เท่านั้น

“ทางรัฐบาล สปป.ลาว กำลังแก้ไขสถานการณ์ความผันผวนของค่าเงินกีบและปัญหาเงินเฟ้ออยู่ แต่ก็คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ขณะเดียวกันประชาชนจาก สปป.ลาว ที่ข้ามมาฝั่งไทยจะมีการนำรถเข้ามาเติมน้ำมันจากฝั่งไทยพอสมควร เนื่องจากใน สปป.ลาวกำลังประสบปัญหาน้ำมันขาดแคลนอย่างหนัก ไม่เพียงพอต่อการใช้งานในประเทศ”

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตัวเลขการค้าชายแดนไทยส่งออกไป สปป.ลาว ล่าสุดเมษายน 2565 มูลค่าส่งออก 10,569 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.77% สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันสำเร็จรูปอื่น ๆ และ น้ำตาลทราย

ขณะที่รายงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า หลังจากเปิดใช้รถไฟจีน-ลาวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 จนถึง 25 พฤษภาคม 2565 พบว่า มีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีน โดยผ่านเส้นทางรถไฟดังกล่าว มีปริมาณการส่งออกถึง 2,611.88 ตัน คิดเป็นมูลค่า 424.81 ล้านบาท ได้แก่ ทุเรียน มังคุด และมะพร้าว ตามลำดับ คิดเป็นร้อยละ 63.92

น้ำมันขาดแคลนหนัก

มีรายงานข่าวจากผู้ค้าน้ำมันไทย-ลาวเข้ามาว่า สปป.ลาวกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำมันอย่างหนัก โดยน้ำมันสำเร็จรูปทั้งเบนซิน-ดีเซลเกือบทั้งหมดต้องนำเข้าจากประเทศไทย มีการนำเข้าผ่านทางชายแดนด้านเวียดนามไม่มากนัก จากปัจจุบันรัฐบาล สปป.ลาว ออกใบอนุญาตนำเข้าน้ำมันประมาณ 7 รายใหญ่ แบ่งเป็น การนำเข้าของหน่วยงานรัฐบาล 3 ราย และนำเข้าผ่านบริษัทเอกชนอีก 4 ราย

“น้ำมันสำเร็จรูปส่วนใหญ่เป็นน้ำมันจาก บริษัทผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ของไทยตอนนี้เข้าใจว่า เครดิต ที่ให้อยู่เต็มวงเงินแล้ว ประกอบกับค่าเงินกีบผันผวนอย่างหนัก การขาดแคลนเงินตราต่างประเทศทำให้ลาวจะได้รับน้ำมันก็ต่อเมื่อมีการชำระเงินเป็นเงินสด (บาท-เหรียญสหรัฐ) ผู้ค้าน้ำมันฝั่งไทยถึงจะออกตั๋วให้ไปรับน้ำมันข้ามแดน

ช่วงเดือนที่ผ่านมานี้มีผู้นำเข้าน้ำมัน สปป.ลาว หลายรายติดต่อเข้ามาขอซื้อน้ำมัน แน่นอนว่าเราต้องขอเป็นเงินสด (เงินบาท) ชำระค่าน้ำมัน ปกติจะซื้อขายผ่านทางธนาคารพาณิชย์ไทยที่เวียงจันทน์ แต่ตอนนี้อยากให้มาเปิดบัญชีที่ธนาคารฝั่งไทยเลย เพื่อให้มั่นใจว่ามีเงินชำระค่าน้ำมันได้” ผู้ค้าน้ำมันรายหนึ่งกล่าว

ยังไม่กระทบกลุ่มพลังงาน

ด้านนางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงผลกระทบจากภาวะค่าเงินกีบลาวอ่อนค่าต่อภาพรวมเศรษฐกิจและนโยบายการลงทุนว่า นโยบายด้านเศรษฐกิจของ สปป.ลาว ยังไม่เปลี่ยนแปลง ยังวางอนาคตเป็น “แบตเตอรี่ออฟเอเชีย” อยู่ รัฐบาลลาวต้องการดึงดูดเรื่องการลงทุน ตอนนี้มีจีนเป็นคนมาลงทุนอยู่ มีเงินไหลเข้ามาจากจีน การขึ้นดอกเบี้ย-เงินกีบไม่มีผลเท่าไหร่ เพราะนักลงทุนเอาเงินดอลลาร์ หยวน บาท เข้าไปแทน ประกอบกับมีเสถียรภาพทางด้านการเมืองมาก ทุกอย่างเป็นเสียงเดียวกันหมด

ส่วนประเด็นเรื่องความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้นั้นมองว่า สถาบันที่ปล่อยกู้ให้ลาวเป็นองค์กรระดับโลก เช่น ADB มีโอกาสที่จะได้รับการพิจารณายืดเวลาชำระหนี้ เพราะด้วยความเป็นประเทศที่มีทรัพยากร มีหลายโครงการที่ลงทุนไปแล้ว ส่วนนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนเเทบจะทั้งหมดเป็นการลงทุนด้านพลังงาน ผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งออกมาประเทศไทย


“ฉะนั้นการลงทุนเซ็กเตอร์พลังงานยังไม่ได้รับผลกระทบ” เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้ซื้อ ซึ่งก็คือรัฐบาลไทยมากกว่าว่าจะมีการนำเข้าเพิ่มหรือไม่ ในส่วนของบ้านปูผลิตไฟฟ้าส่งมาไทยเป็นหลัก และขายให้ลาวบางส่วน ส่งไฟฟ้าเข้าไปหลวงพระบาง แต่ภาพรวมการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นหลังจากที่มีรถไฟจีน-ลาว ขยายเข้าไป ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น