ธปท.ลั่นไม่แทรกแซง “ค่าบาท” ปล่อยตามกลไกตลาด-แนะธุรกิจป้องกันเสี่ยง

ค่าเงินบาท

ธปท.แจงนโยบายดูแลอัตราแลกเปลี่ยน-ไม่แทรกแซงค่าบาท ยันไม่มี “เรต” ในใจ ชี้ปล่อย “อ่อนค่า” ตามกลไกตลาด ระบุเงินทุนต่างชาติยังไหลเข้าเป็นบวก แนะผู้ประกอบการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน คาดครึ่งปีหลังเงินบาทพลิกแข็งค่า

นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในปัจจุบันเกิดจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความผันผวนทั่วโลก ซึ่งตั้งแต่ต้นปีพบว่าเงินดอลลาร์แข็งค่าไปแล้ว 11.3%

ขณะที่เงินสกุลต่าง ๆ อ่อนค่าทุบสถิติ เช่น เงินยูโร ที่อ่อนค่าในรอบ 20 ปี ส่วนเงินบาทของไทยอ่อนค่าอยู่ในระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นในภูมิภาค โดยจากข้อมูลล่าสุดตั้งแต่ต้นปีพบว่า เงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ 7.6%

สำหรับการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนของ ธปท.นั้น ขณะนี้ยังคงปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งสะท้อนหลาย ๆ อย่าง ธปท.จึงไม่สามารถระบุได้ว่า อัตราแลกเปลี่ยนควรจะอยู่ที่ระดับใดระดับหนึ่ง เพราะการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับใดระดับหนึ่ง อาจเป็นการสะสมความเสี่ยงที่ไม่ยั่งยืนในระยะยาว

“เราไม่ได้มีระดับอัตราแลกเปลี่ยนในใจ จะต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด แต่หากมีความผันผวนในตลาดที่มากผิดปกติ ธปท.จะเข้าไปดูแล ซึ่งก็เป็นกรอบในการดูแลค่าเงินอยู่แล้ว ไม่ว่าจะช่วงจังหวะเวลาใด”

โดยยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นการไหลออกของเงินทุนต่างชาติในตลาดการเงินไทย ซึ่งตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 5 ก.ค. เงินทุนยังเป็นบวกสุทธิที่ 9.7 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ตลาดหุ้นไหลเข้า 1.04 แสนล้านบาท ขณะที่ตลาดพันธบัตรไหลออกราว 7,000 ล้านบาท ส่วนในระยะข้างหน้าหากไม่มีปัจจัยใหม่เพิ่มเติมเข้ามา ทุกอย่างก็น่าจะเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์

“ธปท.ยืนยันว่า ยังไม่มีมาตรการในการควบคุมเงินทุนไหลออก เพราะเชื่อว่าการปล่อยให้ตลาดเคลื่อนไหวเสรีเป็นกลไกที่ดี แต่มาตรการในการดูแลยังต้องมี ซึ่งถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ หรือไม่มีวิกฤตจริง ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องนำมาใช้”

สำหรับข้อเสนอของภาคเอกชนที่ต้องการให้ ธปท.ดูแลค่าเงินบาทนั้นมองว่า ค่าเงินอ่อนหรือแข็ง มีทั้งคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ซึ่ง ธปท.พูดมาตลอดว่า เงินบาทขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยมาก ๆ แต่ถามว่าสิ่งที่ ธปท.พยายามพูดมาตลอด คือให้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน

“ธปท.ทำนโยบายภาพรวม ภาพใหญ่ ก็เข้าใจแต่ละกลุ่มมีผลกระทบที่ต่างกัน สิ่งที่ ธปท.พยายามทำ คือให้แต่ละกลุ่มมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่ดี มีการพยายามลดกฎเกณฑ์ให้ทุกคนบริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้น พยายามทำให้ต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงถูกลง แต่เรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนก็จะยังอยู่กับเราอีกนาน”

ขณะที่ นางสาวณชา อนันต์โชติกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า เงินบาทที่อ่อนค่าในขณะนี้ยังไม่ส่งผ่านมายังราคาสินค้าและบริการ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าในทันที แต่จากการศึกษาพบว่า หากเงินบาทอ่อนค่ายาวกว่าที่ประเมิน อาจส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการมากกว่าในอดีต

ส่วนอัตราเงินเฟ้อล่าสุดที่ระดับ 7.66% ยังไม่ถึงระดับสูงสุด โดยคาดว่าในอีก 2 เดือนข้างหน้าอาจจะได้เห็นตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสูงกว่านี้ มีโอกาสที่จะถึงระดับ 8% แต่เงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าระดับราคาสินค้าจะต้องเพิ่มขึ้นทุกเดือน เพราะว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้เป็นการเทียบกับปีก่อน ซึ่งฐานที่อยู่ในระดับต่ำ

“ธปท.คาดว่าครึ่งปีหลังจะมีแรงบวกกลับเข้ามา ทำให้บาทไม่อ่อนมากกว่านี้ หรือกลับมาแข็งขึ้นด้วยซ้ำ หากท่องเที่ยวกลับมา ราคาน้ำมันไม่เพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าขนส่ง ค่าระวางการส่งสินค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบ


ซึ่งคาดว่าปีนี้จะติดลบประมาณ 8% แต่เราเริ่มเห็นความคลี่คลายว่าตัวซัพพลายคลี่คลาย ทำให้ค่าขนส่ง ค่าระวางการส่งสินค้าระหว่างประเทศเริ่มปรับลดลง”